เครื่องมือฝึกเด็กให้มีความยับยั้งชั่งใจ

เครื่องมือ 5 อย่างสำหรับใช้ในการฝึกเด็กให้มีความยับยั้งชั่งใจ ซึ่งเราสามารถสร้างกิจกรรมหรือฉวยเอาวิถีชีวิตประจำวันมาฝึกเด็กได้ เช่น กิจกรรมที่เด็กต้องอดทนรอคอย กิจกรรมที่เด็กต้องปฏิบัติตามกฎกติกา เงื่อนไข กิจกรรมที่เด็กต้องหยุด กิจกรรมที่ต้องมีการผลัดกันเล่นผลัดกันทำ เป็นต้น

ในการฝึกเด็กให้มีความยับยั้งชั่งใจ เราสามารถสร้างกิจกรรมหรือฉวยเอาวิถีชีวิตประจำวันมาฝึกเด็กได้ เช่น กิจกรรมที่เด็กต้องอดทนรอคอย กิจกรรมที่เด็กต้องปฏิบัติตามกฎกติกา เงื่อนไข กิจกรรมที่เด็กต้องหยุด (เช่น เมื่อเพลงดังขึ้น เด็กต้องหยุดทำกิจกรรมและไปเข้าแถว) กิจกรรมที่ต้องมีการผลัดกันเล่นผลัดกันทำ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ในการใช้กิจกรรมต่างๆ มาฝึกเด็ก ครูก้าหรือคุณครูกรองทอง บุญประคอง แห่งโรงเรียนจิตเมตต์ปฐมวัย บอกว่ามีเครื่องมือ 5 อย่างที่จะช่วยให้การฝึกเด็กได้ผลดี

ความเข้าใจในธรรมชาติเด็ก ถ้าเราเข้าใจธรรมชาติเด็กแล้ว ไม่ว่าใช้กิจกรรมใดก็จะมีประสิทธิภาพ เพราะเราจะรู้ว่าเราควรสร้างสถานการณ์อะไรขึ้นมาฝึกเด็ก หรือจะหยิบฉวยโอกาสอะไรในวิถีชีวิตประจำวันมาฝึกความยับยั้งชั่งใจได้ เช่นเด็กชอบเพลง ก็ใช้เพลงมาเป็นสัญญาณให้เด็กเคลื่อนไหวหรือหยุด
การวางเงื่อนไข เราสร้างกิจกรรมที่ดูคล้ายๆ จะเป็นอิสระแต่ก็มีขอบเขต มีเงื่อนไข ข้อตกลงบางอย่างให้เด็กปฏิบัติตาม ซึ่งต้องชัดเจน ถ้าเป็นเด็กเล็กๆ เงื่อนไขต้องไม่ซับซ้อน ต้องสั้นๆ เช่น เพลงมาให้เดิน เพลงหยุดให้หยุด อาจให้เด็กๆ ลองทวนเงื่อนไข หรือให้เด็กๆ ได้ลองสร้างเงื่อนไขเอง แล้วคอนโทรลตัวเองบนเงื่อนไขนั้น
เด็กได้ลงมือทำด้วยตัวเอง ประสบการณ์จะทำให้เด็กสามารถขยายความยับยั้งชั่งใจได้มากขึ้นเรื่อยๆ จนเรารู้สึกได้ว่าเด็กโตขึ้น เป็นผู้ใหญ่ขึ้น รู้จักรอ และระยะเวลาในการรอคอยก็ดีขึ้น นานขึ้น ง่ายขึ้น การยอมรับในกฎกติกามีมากขึ้น
ต้องมีแรงบันดาลใจ แรงจูงใจ กิจกรรมนั้นต้องมีอะไรบางอย่างที่เด็กชอบ ไม่ว่าการเล่นที่เด็กชื่นชอบ ดนตรี ศิลปะ มันเป็นแรงบันดาลใจที่จูงเด็กให้เข้ามารับการฝึกโดยไม่รู้ตัว แล้วเด็กจะเกิดความยับยั้งชั่งใจอยู่ในเนื้อในตัวโดยไม่ต้องมีคนคอยกำกับว่าอย่านะ หยุดนะ
บรรยากาศของความสุข การฝึกนั้นเด็กต้องอยู่ในบรรยากาศที่เป็นสุข เด็กจึงจะเอาตัวลงมาอยู่ตรงนั้นจริงๆ จนกระทั่งคุ้นเคย เกิดเป็นลักษณะนิสัยได้ในอนาคต
คุณครูอย่าลืมใช้เครื่องมือเหล่านี้ในการฝึกเด็กให้มีความยับยั้งชั่งใจนะคะ

“เราสร้างกิจกรรมที่ดูคล้ายๆ จะเป็นอิสระแต่ก็มีขอบเขต มีเงื่อนไข ข้อตกลงบางอย่างให้เด็กปฏิบัติตาม ซึ่งต้องชัดเจน ถ้าเป็นเด็กเล็กๆ เงื่อนไขต้องไม่ซับซ้อน ต้องสั้นๆ”