เคล็ดลับที่ไม่ลับในการเสริมสร้าง EF ให้เด็ก

โดย | 11 มีนาคม 2018 | EF สำหรับคุณครู

การสร้างเสริมให้เด็กมีทักษะ EF หรือความสามารถในการบริหารจัดการชีวิต ควรเริ่มตั้งแต่วัยเด็กเล็ก ช่วงปฐมวัยนี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะมีงานวิจัยที่ชี้ให้เห็น

การสร้างเสริมให้เด็กมีทักษะ EF หรือความสามารถในการบริหารจัดการชีวิต ควรเริ่มตั้งแต่วัยเด็กเล็ก ช่วงปฐมวัยนี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะมีงานวิจัยที่ชี้ให้เห็นว่า ถ้าพ้นวัยนี้ไปจะพัฒนาทักษะนี้ได้ยาก ส่วนเคล็ดลับในการสร้างเสริมทักษะ EF ให้เด็กก็ไม่ยากอะไร ลองดูข้อแนะนำต่อไปนี้

ให้เด็กเล่นบทบาทสมมติ ( Pretend Play ) ลองให้เด็กๆ ได้แสดงละคร แสดงบทบาทสมมุติ เช่น เป็นสัตว์ต่างๆ โดยให้เด็กคิดการแสดงเอง แล้วสังเกตว่าเด็กคิดอะไร ทำอย่างไรเมื่ออยู่ในบทบาทของตัวละครนั้นๆ การฝึกเล่นแบบนี้ จะทำให้เด็กได้ฝึกความคิดยืดหยุ่น (Flexibility, Shift) เพราะได้ใช้มุมมองที่แตกต่างหลากหลาย

ให้เด็กเล่นกับเพื่อนๆ จัดกลุ่มให้เด็กๆ ได้เล่นเป็นกลุ่มอย่างอิสระ เด็กจะได้เรียนรู้มุมมองความคิดของกันและกัน และรู้จักปรับตัวเข้ากับคนอื่น

ให้เล่นกีฬาหรือเกมที่มีกติกา เป็นการช่วยฝึกทักษะ EF อย่างดี เพราะเขาจะต้องจดจำกฎ กติกาได้ (Working Memory) เล่นไปก็ต้องคอยจดจำกติกาไว้เสมอ กฎทำให้เขาต้องยั้งใจ ผิดกฎไม่ได้ ในขณะเดียวกัน เขาก็ต้องคอยพลิกแพลงเท่าที่จะทำได้(ภายใต้กฎ) เพื่อให้เขาเอาชนะในเกมนั้นๆ ได้

เคล็ดลับสำคัญคือ

– อย่าให้เด็กพึ่งพาเทคโนโลยีหรือไฮเทคมากเกินไป เด็กจะไม่ได้ใช้ความคิดหรือความสามารถสร้างสรรค์ หรือแก้ปัญหา
– สนับสนุนการเล่นที่เด็กต้องคิดค้นสร้างกติกาเอง ต้องสำรวจหาอุปกรณ์ที่มีอยู่มาเล่น ออกแบบวางแผนการเล่นเอง จะทำให้เด็ก ฝึกการใช้ความจำ (Working Memory) ฝึกการใช้ความคิดยืดหยุ่น และฝึกการวางแผน ฯลฯ
– เมื่อเด็กทำผิดพลาดแล้วอย่าซ้ำเติม เพราะจะทำให้เด็กไม่กล้าที่จะคิดเองทำด้วยตัวเอง
– ควรกระตุ้นเด็กให้พูดกับตนเองเพื่อให้เด็กได้วิจารณ์ตนเอง (Self-Monitoring) และคณครูควรทำเป็นตัวอย่างในการ วิจารณ์ตนเองต่อหน้าเด็กๆ

Ref : Stephanie M. Carlson, Ph.D.Institute of Child Development,College of Education and Human Development, University of Minnesota

“อย่าให้เด็กพึ่งพาเทคโนโลยีหรือไฮเทคมากเกินไป เช่นให้เล่นเกม เล่นของเล่นสำเร็จรูปที่เด็กไม่ได้ใช้ความคิดหรือความสามารถสร้างสรรค์ เพราะจะทำให้เด็กติดการพึ่งพาเทคโนโลยี ไม่ใช้ความคิดความสามารถของตัวเองในการสร้างสรรค์ แก้ปัญหา”