วิธีสำรวจว่าเด็กยับยั้งชั่งใจได้ดีแค่ไหน

โดย | 12 มีนาคม 2018 | EF สำหรับคุณครู

คำว่ายับยั้งชั่งใจ (Inhibitory Control) คือ การควบคุมความสนใจ อารมณ์ และพฤติกรรมให้ไปสู่เป้าหมายที่ต้องการ
คำว่ายับยั้งชั่งใจ (Inhibitory Control) หรือการควบคุมความสนใจ อารมณ์ และพฤติกรรมให้ไปสู่เป้าหมายที่ต้องการ ที่จริงแล้วมีความหมายกว้างมาก ไม่ได้หมายถึงเพียงการยับยั้งชั่งใจต่อความอยาก ความต้องการเท่านั้น คุณครูอาจจะสังเกตทักษะความสามารถในการยับยั้งชั่งใจของเด็กในชั้นเรียนได้ดีขึ้น เมื่อเข้าใจขอบเขตของความสามารถนี้ทั้งหมด ซึ่งได้แก่

ใจจดจ่อ ไม่วอกแวก เช่น เด็กตั้งใจทำงานที่ได้รับมอบหมาย ไม่ทำไปเล่นไป
มุ่งมั่นไม่ยอมแพ้ง่าย แม้จะล้มเหลว ทำไม่ได้ผล แต่ไม่ท้อ ทำใหม่ เช่น เด็กทำงานประดิษฐ์ที่ออกแบบไว้แล้วไม่สำเร็จ ก็ไม่ทิ้งไปกลางคัน พยายามทำต่อไป
ต้านต่อแรงกระตุ้นหรือยั่วยุ ทั้งจากภายใน-ภายนอก ไม่หวั่นไหวไปกับสิ่งกระตุ้น สิ่งเร้า เช่น คุณครูให้เด็กนั่งรอครูตักอาหารกลางวันให้ครบหมดทุกคนแล้วจึงรับประทานพร้อมกัน เด็กที่ได้อาหารก่อนก็รู้จักอดใจไม่รับประทานของตนเองก่อน
หยุดและคิดก่อนทำหรือพูด รู้จักหยุดคิดใคร่ครวญ เช่น เด็กถูกเพื่อนแย่งของ ก็ไม่โต้ตอบด้วยการเข้าไปตีเพื่อนทันที แต่มองหาวิธีอื่น เช่น มาบอกคุณครู
แม้มีแรงยั่วยวนก็ยังทำสิ่งที่ตั้งใจไว้ (Continue acting when tempted) เช่น เด็กเห็นเพื่อนเล่นเตะบอลที่สนาม ก็อยากเล่นมาก แต่ต้องอดใจทำงานที่คุณครูสั่งให้เสร็จก่อน
ลองสำรวจดูว่านักเรียนแต่ละคนมีทักษะเหล่านี้มากน้อยอย่างไร แล้วส่งเสริมให้พัฒนาให้ดีขึ้นเรื่อยๆ

“จดจ่อ มุ่งมั่น ไม่ยอมแพ้ แม้มีสิ่งยั่วยุ อย่างนี้ เรียกว่ารู้จักยับยั้ง”