เก่ง ปัญญาดีเพราะมีความจำเป็นเลิศ

โดย | 13 มีนาคม 2018 | EF สำหรับคุณครู

Working Memory หรือความจำขณะทำงานเป็นพื้นฐานของความสามารถหลายๆ อย่างที่จะตามมา ได้แก่ การเขียน การอ่าน การคิดเชื่อมโยง การคิดวางแผน จัดลำดับความสำคัญ การตัดสินใจ คิดแก้ปัญหา คิดสร้างสรรค์ ความคิดรวบยอด

เด็กที่ท่องจำเก่งอาจไม่ใช่เด็กเก่งเสมอไป แต่ที่แน่ๆ ถ้าความจำดีตั้งแต่วัยเด็กจะเป็นพื้นฐานให้เรียนรู้ได้ดี มีทักษะความสามารถด้านอื่นๆ ตามมา มาดูกันว่าความจำที่เรียกว่า Working Memory หรือความจำขณะทำงานนั้นมีความเกี่ยวข้องกับการเป็นคนเก่งอย่างไร

รศ.ดร.นวลจันทร์ จุฑาภักดีกุล ศูนย์วิจัยประสาทวิทยาศาสตร์ สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เขียนบทความเกี่ยวกับเรื่องนี้ในนิตยสารรักลูก โดยกล่าวว่า Working Memory เป็นพื้นฐานด้านการพูด อ่าน เขียน ในการใช้ภาษา เด็กจะพูด อ่าน เขียนได้ ล้วนเกิดจากการจดจำ เลียนแบบ และเมื่อต้องสนทนากับผู้อื่นยิ่งต้องใช้ Working Memory อย่างมาก เพราะต้องเชื่อมโยงกับสิ่งที่อยู่ในความทรงจำมาพูดตอบโต้ หรือเอามาเขียนเรียบเรียง ในการอ่านก็ต้องเชื่อมโยงสิ่งที่กำลังอ่านกับข้อมูลที่อยู่ในความทรงจำ

Working Memory เป็นพื้นฐานของการคิดเชื่อมโยง การคิดวางแผน จัดลำดับความสำคัญ การตัดสินใจ คิดแก้ปัญหา คิดสร้างสรรค์ โดย Working Memoryจะประมวลข้อมูลที่เกิดก่อนเปรียบเทียบกับสิ่งที่เกิดในปัจจุบันอยู่ตลอดเวลา เมื่อเราต้อง update ข้อมูลใหม่ๆ เกี่ยวกับสิ่งที่กำลังทำอยู่ การวางแผนจัดลำดับสิ่งที่จะต้องทำ การคิดพิจารณาทางเลือกว่าจะตัดสินใจเลือกทางไหนดี การเชื่อมโยงข้อมูลหาความเกี่ยวข้องกันของสิ่งต่างๆ การคิดเลขในใจ การคิดเป็นเหตุเป็นผล การคิดพวกนี้จะไม่แม่นยำหาก Working Memory ของเราไม่ดีพอ

Working Memory ยังช่วยให้เข้าใจความคิดรวบยอด กระบวนทัศน์ มโนทัศน์ และหลักการ ของสิ่งต่างๆ เกิดเป็นองค์ความรู้ที่ไม่ใช่แค่เพียงรู้ เพราะถ้าข้อมูลความรู้ที่ผ่านเข้ามาไม่ได้ใช้ Working Memory ก็จะเป็นเพียงแค่รู้ ไม่เกิดการนำไปใช้เพื่อแก้ปัญหาต่างๆ หรือใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อไป

ดังนั้น Working Memory จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งที่จะทำให้เราเป็นคนคิดเก่ง นำไปสู่การประสบความสำเร็จ นี่เองที่เรียกว่า … เก่ง ปัญญาดี เพราะ Working Memory เป็นเลิศ

“Working Memory เป็นพื้นฐานด้านการพูด อ่าน เขียน การใช้ภาษา การคิดเชื่อมโยง การคิดวางแผน จัดลำดับความสำคัญ การตัดสินใจ คิดแก้ปัญหา คิดสร้างสรรค์ความคิดรวบยอด กระบวนทัศน์มโนทัศน์ และหลักการ”