ความจำที่ทำให้เป็นคนเก่ง

โดย | 10 มีนาคม 2018 | EF สำหรับคุณครู

เด็กจะมีความจำที่มีความหมาย เอาไปใช้กับชีวิตได้ คุณครูก็จำเป็นจะต้องสร้างโอกาสให้เด็กได้ใช้ประสาทสัมผัสทุกด้าน

การจับเด็กไปนั่งเรียน สั่งให้จำให้เขียนในสิ่งที่ครูปรารถนาดีอยากให้จำ เด็กไม่ได้ใช้ระบบสัมผัสรับรู้ทุกด้าน เมื่อไม่ได้ใช้เส้นใยสมองก็จะไม่พัฒนางอกงามและเสื่อมไป เพราะฉะนั้นถ้าคุณครูอยากให้ลูกศิษย์ มีความจำที่มีความหมายเอาไปใช้กับชีวิตได้ ก็จำเป็นจะต้องสร้างโอกาสให้เด็กได้ใช้ประสาทสัมผัสทุกด้าน ซึ่งเป็นประตูสู่ความจำ

หลายๆ โรงเรียนใช้กิจกรรมที่เรียกว่า SI หรือ Sensory Integration เป็นการกระตุ้นประสาทสัมผัสรับรู้ของเด็กทุกด้าน เมื่อรับรู้แล้วส่งต่อข้อมูลไปที่สมอง สมองเก็บไว้เป็นความจำ ความรู้ ขณะเดียวสมองสั่งให้ร่างกายตอบสนองต่อสิ่งที่มากระทบ นี่คือวงจรของการเรียนรู้ผ่านประสาทสัมผัส ถ้าเป็นเด็กบ้านนอกที่อยู่กับธรรมชาติ ครูไม่จำเป็นต้องจัดกิจกรรมฝึกเรื่องนี้ เพราะเด็กได้เล่นกับดินกับทราย ได้ปีนต้นไม้ เด็ดโน่นนี่มาชิม เด็กจะรู้เลยว่าผลไม้สีอย่างนี้กินได้ อย่างนี้ยังกินไม่ได้ สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดความจำแบบไม่รู้ตัว สร้างความจำที่พาไปสู่ความเชี่ยวชาญ ในขณะที่เด็กในเมืองไม่มีประสบการณ์แบบนั้น โรงเรียนจึงต้องสร้างกิจกรรมที่ให้เด็กได้ใช้ระบบสัมผัสทั้งหลาย เช่น มีการเล่นอย่างอิสระ สร้างพื้นที่ให้เด็กสร้างโจทย์เอง เอาตัวเข้าไปมีปฏิสัมพันธ์กับโจทย์เหล่านั้นเอง

เพราะฉะนั้นการพัฒนาประสาทสัมผัสเป็นตัวตั้งต้นที่ทำให้เกิดความจำที่มีความหมายต่อตัวเด็กเอง สิ่งที่มีความหมายต่อตัวเด็กทำให้เด็กจำได้ อยากจำ เพราะมันน่าจำ แล้วเก็บไว้ใช้

แต่ก็ต้องระวังว่าคุณครูจะสร้างความจำที่น่าจดจำให้กับเด็กได้หรือไม่เท่านั้นเอง

“สิ่งที่มีความหมายต่อตัวเด็กทำให้เด็กจำได้ อยากจำ เพราะมันน่าจำ แล้วเก็บไว้ใช้”