นางอัจจชิญา สงวนศรีพิสุทธิ์ ศึกษานิเทศก์ชำนาญการพิเศษ สธจ. ขอนแก่น

ในขณะที่ศน.กฤษณา เป็นผู้นำศธจ.ในการขับเคลื่อน EF จังหวัดขอนแก่น ศน.อัจจชิญา ก็ร่วมทีมสนับสนุน เข้ารับการอบรม EF และเรียนรู้จากเครือข่าย EF ขอนแก่นออนไลน์ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้พัฒนาไปด้วยกัน  แล้วร่วมทีมศธจ.ขับเคลื่อนความรู้ EF สู่ครูและโรงเรียนในพื้นที่ที่รับผิดชอบ คือโรงเรียนเอกชนในพื้นที่อำเภอชุมแพ อำเภอหนองเรือ อำเภอภูเวียง และอำเภอภูผาม่าน โดยมุ่งเป้าที่เครือข่ายโรงเรียนการกุศล (โรงเรียนเอกชนที่จัดตั้งเพื่อผู้ยากไร้ เช่น โรงเรียนในความอุปถัมภ์ของวัด) มีโรงเรียนวัดศรีจันทร์เป็นเป้าหมายใหญ่ในการขยายความรู้ EF ซึ่งครูมีความพร้อม ใส่ใจเด็ก มีความเป็นทีม และมีครูปฐมวัยเป็นแกนที่พาเพื่อนเรียนรู้ได้  ในสถานการณ์โควิดเช่นนี้ ศน.ใช้ไลน์กลุ่มในการสื่อสารข่าวสารข้อมูลความรู้ EF แก่ครูอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ครูได้รู้จัก สนใจ และตระหนักถึงความสำคัญของ EF

ขณะนี้ ศน.อัจจชิญากำลังมองหาโรงเรียนที่จะเป็น “แม่ไก่” คือโรงเรียนที่มีศักยภาพในการขยายความรู้ EF มีผู้บริหารและครูที่เชี่ยวชาญการศึกษาปฐมวัย มีแนวทางที่จะบูรณาการเชื่อมโยงการเรียนรู้กับ EF ได้  และคิดจะต่อยอดความรู้ให้ครูด้วยกระบวนการอบรมในลักษณะเดียวกับที่สถาบัน RLG จัดทำ ซึ่งจะทำให้ครูได้เรียนรู้ทั้งเนื้อหาสาระและเห็นตัวอย่างที่เป็นรูปธรรม ครูสามารถเข้าใจและนำไปใช้ได้จริง รวมทั้งจะจัดอบรมความรู้ EF แก่ผู้ปกครอง เพื่อให้ผู้ปกครองสามารถทำงานร่วมกับครูในการพัฒนา EF ให้เด็ก

การขับเคลื่อน EF ที่เป็นรูปธรรม

ขับเคลื่อน EF ในเขตพื้นที่การศึกษาที่รับผิดชอบ ขยายความรู้สู่เครือข่ายโรงเรียนการกุศล โดยมีโรงเรียนวัดศรีจันทร์เป็นเป้าหมายหลัก เนื่องจากเป็นโรงเรียนที่ผู้บริหารเปิดโอกาส ครูมีความเป็นทีม และมีครูปฐมวัยเป็นแกนพาเพื่อนเรียนรู้ 

การสร้าง/ประสานเครือข่าย

  • ประสานกับทีมงานศธจ.ขอนแก่น ร่วมมือกันขับเคลื่อน EF ในระดับจังหวัด โดยทำงานเป็นทีม เช่นในขณะที่ศน.อัจจชิญาขับเคลื่อนความรู้กับครู ศน.กฤษณาก็ขับเคลื่อนกับผู้บริหารโรงเรียน
  • สื่อสารกับเครือข่าย EF จังหวัดขอนแก่น เครือข่ายครูโรงเรียนเอกชน โรงเรียนการกุศล

การติดตาม/นิเทศ/coaching

  • ติดตามนิเทศโดยกลุ่มบูรณาการนิเทศ เนื่องจากสถานการณ์โควิด มีการติดตาม ให้คำปรึกษาผ่านทางไลน์และโทรศัพท์

การต่อยอด/นวัตกรรม/ วิจัย

  • วางเป้าหมายที่จะหาโรงเรียน “แม่ไก่” ในการขยายความรู้ EF ซึ่งก็คือโรงเรียนที่มีศักยภาพ มีผู้บริหารและครูที่เชี่ยวชาญการศึกษาปฐมวัย มีแนวทางที่จะสามารถบูรณาการเชื่อมโยงการเรียนรู้กับ EF ได้ เช่น โรงเรียนแนวการเรียนการสอน BBL เพื่อเป็นโรงเรียนต้นแบบ EF
  • จะต่อยอดความรู้ให้ครูซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติ ด้วยกระบวนการอบรมในลักษณะเดียวกับที่สถาบัน RLG จัดทำเพื่อให้ครูเกิดความเข้าใจถ่องแท้ และสามารถนำความรู้ EF ไปใช้ได้จริง (กระบวนการอบรมของสถาบัน RLG ที่ไม่ได้ให้แค่ข้อมูลความรู้ แต่มีตัวอย่างที่เป็นรูปธรรม รวมทั้งเป็นพี่เลี้ยง เป็นที่ปรึกษา หากครูได้ผ่านกระบวนการอบรมแบบนี้ก็จะทำให้เกิดความมั่นใจในการปฏิบัติ)

การแก้ปัญหา

  • ปัญหาครูยังไม่มีความมั่นใจในการปฏิบัติและการสังเกตพฤติกรรม ไม่แน่ใจว่าใช่ EF หรือไม่  ซึ่งมองว่าการอบรมออนไลน์และการนิเทศออนไลน์จะช่วยให้ครูเกิดความมั่นใจได้ โดยครูจะได้เห็นตัวอย่างหรือมีแหล่งเรียนรู้ให้ครูไปเรียนรู้ต่อได้ 
  • โรงเรียนที่มีแนวการเรียนการสอนพิเศษอยู่แล้ว เช่น BBL มอนเตสซอรี วอลดอร์ฟ อาจจะไม่สนใจ EF เพราะยังไม่เข้าใจว่าเป็นเรื่องเดียวกัน ต้องให้ข้อมูลที่มากพอ และต้องทำให้ผู้บริหารเข้าใจว่า EF กับทฤษฎีต่างๆ บูรณาการกันได้
  • ศน.ไม่สามารถกำหนดแนวทางให้โรงเรียนเอกชนปฏิบัติตามได้ หากไม่ใช่นโยบายจากกระทรวงฯ  โรงเรียนเอกชนจะเปิดรับด้วยความสมัครใจหากเห็นประโยชน์ ศน.จูงใจผู้บริหารโรงเรียนว่า EF จะเป็นจุดขายของโรงเรียน ซึ่งจุดขายของโรงเรียนเอกชนก็คือการเรียนการสอนระดับปฐมวัย และแรงกระเพื่อมที่มีผลต่อโรงเรียนคือการตอบรับและความเชื่อมั่นของผู้ปกครอง

ผลสัมฤทธิ์ / การเปลี่ยนแปลง

  • ศน.ได้ต่อยอดความรู้ เรียนรู้ไปด้วยกันกับทีม เพื่อร่วมกันเป็นพลังขับเคลื่อน EF ให้จังหวัดขอนแก่น