เมื่อลูก “ยัง” ทำไม่ได้

เมื่อลูก “ยัง” ทำไม่ได้

จากวิวัฒนาการที่ผ่านมานับแสนๆ ปี ธรรมชาติของสมองมนุษย์มักจะพุ่งความสนใจไปที่ข้อบกพร่อง และด้านลบของสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นในชีวิต จากพื้นฐานหน้าที่หลักของสมองที่ทำงานเพื่อให้มีชีวิตอยู่ให้รอดปลอดภัยเป็นพื้นฐาน มนุษย์ในสมัยนี้มีสภาพแวดล้อมทางกายภาพที่ปลอดภัยที่สุดในประวัติศาสตร์ก็ว่าได้ ที่ผ่านมนุษย์ไม่ได้มีชีวิตที่สุขสบาย ไม่ได้ปลอดภัยจากการถูกข่มเหงจากคนด้วยกัน จากสัตว์ร้าย และภัยธรรมชาติ และการคุกคามอื่นๆเท่ากับทุกวันนี้ สมองของมนุษย์จึงถูกโปรแกรมให้น้ำหนักความสนใจไปที่ภยันอันตราย เหตุร้าย และภัยคุกคามชีวิต แม้ว่าการคาดการณ์ในแง่ลบเป็น “อคติ” ที่ทำให้เราสนใจแต่ปัญหาในสภาพแวดล้อมมากกว่าการคาดการณ์ในแง่ดี แต่การระแวดระวังก็ช่วยให้มนุษย์เอาตัวรอดในโลกที่ผ่านมาและมีวิวัฒนาการมาจนทุกวันนี้

          การมองสิ่งต่างๆในแง่ลบจึงเป็นเหมือนดีเอ็นเอที่ส่งต่อเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในตัวตนของมนุษย์เรา ในวัฒนธรรมของชาติต่างๆ เราจึงพบเห็นได้ทั่วไปว่า การเลี้ยงดูอบรม การบริหารจัดการ การพัฒนาในเรื่องต่างๆที่ผ่านมาส่วนใหญ่เป็นเรื่องของการแก้ไขปัญหา “ขจัดจุดอ่อน” เพื่อให้เกิดการพัฒนา อย่างไรก็ตาม แม้ว่ามุมมองในแง่ร้ายมีประโยชน์ในแง่ทำให้สมองเราระแวดระวังภัยอันตรายไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ที่จะมีต่อชีวิต แต่ก็มีผลกระทบต่อด้านอื่นๆ ของชีวิต

          ในแง่ของการกล่อมเกลี้ยงเลี้ยงดูลูกให้เติบใหญ่ การอบรมสั่งสอน หรือการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ให้แก่เด็ก วิทยาศาสตร์สมัยใหม่ในสาขาประสาทวิทยาได้มีการค้นพบว่า การมุ่ง “ขจัดจุดอ่อน” ได้สร้างความทุกข์ ความเครียดให้ทั้งผู้ใหญ่และเด็ก พ่อแม่และครูจะรู้สึกอารมณ์เสีย โกรธ หรืออาจจะถึงขั้นโมโหที่ลูกหรือเด็กๆ ไม่สามารถปรับปรุง “จุดอ่อน”ของตนได้ทันทีหรือได้สักที ในขณะที่เด็กรู้สึกว่าตนเองไม่มีความปลอดภัย เมื่อตนเองพลาดอีกครั้ง อีกครั้ง และอีกครั้งจากจุดอ่อนที่ตนเองมีอยู่ อาจจะถูกลงโทษ ดุ

วิธีการ “ขจัดจุดอ่อน” ที่พบว่าพ่อแม่ผู้ปกครองและครูทั่วไปมักใช้กับเด็ก คือ การทำให้เด็กรู้สึกผิด หรือรู้สึกละอายใจ ด้วยความมุ่งหวังว่า เมื่อใช้วิธีนี้แล้วเด็กจะปรับปรุงตัวเองให้ดีขึ้น ในความเป็นจริง การทำให้เด็กสำนึกผิดถึงสิ่งที่ตนเองทำไปนั้นเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ หากเราชี้ไปที่การกระทำและกระตุ้นให้เด็กเกิดความรู้สึกสำนึกผิดในการกระทำของตน เช่น การชี้ให้ลูกเห็นว่า การที่ไปทำร้ายเพื่อนนั้นทำให้เพื่อนเจ็บ และเสียใจ พ่อแม่ของคนที่ถูกทำร้ายก็เสียใจ ตัวพ่อแม่เองก็เสียใจที่ลูกไปทำร้ายเพื่อน เราสามารถใช้ความรู้สึกผิดนี้ทำหน้าที่เป็นเครื่องเตือนใจให้เด็กเกิดความรู้สึกรับผิดชอบต่อการกระทำของตนเอง เอาใจใส่ต่อผู้อื่นได้ เช่น การไปขอโทษหรือช่วยเหลือเพื่อนที่ถูกตนทำร้าย แต่เมื่อเด็กทำบางอย่างผิดพลาด พ่อแม่ไม่ควรทำไปมากกว่าการทำให้รู้สึกผิดและต้องรับผิดชอบ พ่อแม่ต้องไม่ทำให้ลูกรู้สึกอับอาย หรือเจ็บใจ ด้วยการตำหนิว่า ลูกใจดำ  ลูกเลว หยาบคาย หรือโง่ เพราะเป็นการประทับตราทำให้ลูกเห็นว่าในสายตาพ่อแม่ตนเป็นคนเช่นนั้น และยังเลียนแบบเอาวิธีที่พ่อแม่ใช้กับตนไปทำกับคนอื่นอีกด้วย

ในช่วงวัยเด็ก ไม่มีเด็กคนไหนที่ไม่เคยทำผิด หรือไม่เคยพลาด ช่วงชีวิตวัยเด็กเป็นช่วงชีวิตแห่งการเรียนรู้ว่า อะไรถูก อะไรผิด หน้าที่ของผู้ใหญ่คือการบอกว่าสิ่งที่ควรทำคืออะไร และให้กำลังใจเด็กให้ทำให้ได้ และที่สำคัญที่สุด คือ ให้ความเชื่อมั่นกับเด็กว่า เขาสามารถทำได้ และพ่อแม่เห็นว่าเขากำลังพยายามทำให้ดีขึ้นได้ด้วยตนเอง เขาพยายามกำกับตนเองให้ดีขึ้น (แม้ว่ายังกำกับไม่ได้ดีในตอนนี้) ให้เด็กๆ “เชื่อใจ” พ่อแม่และผู้ใหญ่ได้ว่ารักเขา แม้เขาผิด เขาพลาด  จะบอกให้เขารู้ แนะนำให้เขาทำได้ดีขึ้น เชื่อมั่นในตัวเขา ไม่ทำร้ายเขาทั้งร่างกายและจิตใจ ความรู้ทางวิทยาศาสตร์สมัยใหม่พบว่า เมื่อคนมีความเชื่อใจสมองจะหลั่งสารออกซิโตซินซึ่งเป็นสารที่วิวัฒนาการมากับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เป็นสารแห่งความผูกพัน ความเชื่อใจเกิดขึ้นได้เมื่อเรารู้ว่ามีความเสี่ยงแต่เราสามารถไว้ใจคนอื่นได้ ความรู้สึกนี้เป็นส่วนสำคัญของความรู้สึกมั่นคงปลอดภัย เป็นฐานของสายสัมพันธ์ที่ลูกมีต่อพ่อแม่ ทำให้มีความสามารถในการพัฒนาสัมพันธภาพกับคนอื่นๆ ต่อไป

ในช่วงขณะของวัยที่กำลังเรียนรู้ ลองถูก ลองผิด ทำได้บ้าง ไม่ได้บ้างนั้น เด็กทุกคนล้วนมีความสามารถบางอย่าง แม้มีเรื่องมากมายที่ยังทำไม่ได้ เด็กแต่ละคนจะมีเรื่องที่ตนสามารถทำได้ดี  เมื่อมีเรื่องที่ทำไม่ได้ดี เด็กส่วนใหญ่มักจะมีช่วงเวลาที่รู้สึกว่า “หนูทำไม่ได้” หรืออาจจะเป็นความรู้สึกว่าเรื่องนี้ “ยากจัง” การที่ลูกพูดความคับข้องใจหรือความรู้สึกของตนให้พ่อแม่ฟังนั้นเป็นเรื่องดี พ่อแม่ควรเชื่อมั่น เชื่อใจลูกว่ากำลังพยายาม แต่ไม่ควรรีบพูดกับลูกออกไปว่า “ไม่จริงหรอก พ่อ/แม่ เชื่อว่าลูกทำได้” หรือพูดว่า “ลูกของแม่ต้องทำได้สิ” แม้เป็นการพูดด้วยความหวังดี แต่เป็นการกดดันเด็ก

เมื่อลูกกำลังรู้สึกว่าตนเองอยู่ในสภาวะที่ยากลำบาก พ่อแม่สามารถช่วยสนับสนุนลูกให้เผชิญหน้าและจัดการกับสิ่งที่ตนยังทำไม่ได้ดี หรืออาจจะไม่ชอบแต่จำเป็นต้องทำได้ด้วยวิธีการหลายอย่าง คือ

1. สิ่งที่พ่อแม่สามารถทำได้เป็นเรื่องแรกคือ การแสดงให้ลูกรู้ว่า “พ่อ/แม่ได้ยินความรู้สึกของลูก แม้ว่าเรื่องความอึดอัดคับข้องใจของลูกเป็นเรื่องที่พ่อแม่รู้อยู่แล้วก็ตาม แต่ทุกครั้งที่ลูกสะท้อน พ่อแม่ต้องรับฟัง โดยไม่รีบบอกลูกว่า “ไม่จริงหรอกลูก พ่อ/แม่รู้ว่าหนูทำได้ ทุกครั้งที่ลูกบอกว่าทำไม่ได้ รับฟังลูกอย่างตั้งใจ และให้ลูกได้พูดความคับข้องใจ

2. นอกจากแสดงอาการรับรู้กับถึงความรู้สึกที่เกิดขึ้นของลูก สิ่งที่พ่อแม่และผู้ใหญ่สามารถช่วยปลูกฝังมุมมองให้กับเด็กได้ โดยทำให้ลูกรู้ว่าเป็นธรรมชาติที่ทุกคนจะมีทั้งเรื่องที่ตนเองเก่ง ทำได้ดี และมีเรื่องที่ตนเองไม่ได้เรื่อง พ่อ/แม่อาจจะยกเอาเรื่องของคนในครอบครัว หรือเพื่อนที่เด็กรู้จัก มาให้เห็นว่า แต่ละคนมีเรื่องที่ทำได้ดี และ มีอีกหลายเรื่องที่ไม่ถนัด เช่น ปู่ย่าตายายหลงลืมเก่ง พ่อที่ทำอาหารไม่อร่อย แต่ขับรถได้ดีมาก  หรือตอนเล็กๆแม่อ่านหนังสือภาษาอังกฤษไม่รู้เรื่อง โดยเล่าให้เด็กเห็นถึงบริบทและสิ่งแวดล้อม เช่น ปู่ย่าตายาย เริ่มมีอายุสมองเริ่มช้าลง ไม่ปราดเปรียวเห็นตอนยังหนุ่มสาว พ่อไม่เคยหรือไม่ค่อยได้มีโอกาสทำอาหาร ครูสอนภาษาอังกฤษของแม่ดุจนทำให้แม่ไม่อยากเรียนวิชาภาษาอังกฤษ ทำให้เด็กค่อยๆเข้าใจความเป็นจริงของชีวิต และเข้าใจตนเอง

3. เรื่องที่สำคัญอีกเรื่อง คือ การใช้ประโยคที่พ่อแม่บอกลูกว่า “ตอนนี้ลูกแค่ “ยัง” ทำไม่ได้” แต่ไม่ได้หมายความว่าลูกถูกสาปให้เป็นคนที่ทำไม่ได้ไปตลอดชีวิต เป็นการปลูกผัง Growth Mindset  ให้ลูกว่า บางทีมีบางเรื่องที่เราทำไม่ได้หรือทำไม่ได้ดี แต่ความสามารถนั้นพัฒนาได้ หากเราฝึกฝนและเรียนรู้ เราจะค่อยๆทำได้ดีขึ้นเรื่อยๆ การบอกลูกว่า ตอนนี้ลูกแค่ “ยัง”ทำไม่ได้ เป็นการสื่อสารให้ลูกรับรู้ว่า พ่อแม่ไม่ได้ลดความเชื่อมั่นในตัวลูก แม้ว่าในบางช่วงบางตอนลูกอาจจะยังทำบางอย่างไม่ได้ดี พ่อแม่คาดหวังลูกจะทำได้ด้วยขึ้นด้วยการสนับสนุนให้ลูกได้เรียนรู้ และพัฒนาตนเอง

เมื่อเด็กเข้าสู่การเรียนในระดับประถมศึกษา หรือมัธยมศึกษามีงานที่ต้องทำมากขึ้น หากลูกคิดว่างานที่ตนทำอยู่นั้นใหญ่และยากหรือท้าทายเกิน พ่อแม่สามารถช่วยให้ลูกเริ่มทำงานได้ด้วยการชวนกันมานั่งวางแผน บริหารเวลา ทำงานไปทีละขั้นตอน โดย

1. ช่วยกันกับลูกดูว่า งานที่ต้องทำมีเนื้อหาและขอบเขตการทำงานเป็นอย่างไร ต้องส่งงานเมื่อไหร่ และลูกมีเวลามากแค่ไหนในการทำงานให้เสร็จ

2. ช่วยกันกับลูกดูว่า ลูกจะต้องทำอะไร ทำแค่ไหนในแต่ละช่วงเวลา

3. ชวนลูกคำนวณว่า แต่ละวันมีงานอะไรบ้างที่ลูกต้องทำให้เสร็จ แล้วเขียนรายการงานที่ต้องทำแต่ละรายการลงบนกระดาษโน้ต

4. ให้ลูกจัดลำดับการทำงานตามลำดับก่อนหลัง

5. ในแต่ละรายการงาน ถามลูกว่าลูกมีปัญหาหรือข้อสงสัยอะไรหรือไม่ หากมีให้เขียนลงบนด้านหลังของกระดาษโน้ตที่บันทึกรายการงานนั้นๆ

6. ฝึกให้ลูกทำรายการของที่ต้องใช้ในการทำงาน เพื่อเตรียมไว้ก่อน ทำให้ไม่ต้องเสียเวลาหาในระหว่างทำงาน

7. ชวนกันกำหนดเส้นตายของงานทุกชิ้น ฝึกทำ Timeline เพื่อเห็นภาพรวมและทำงานแต่ละชิ้นให้เสร็จทัน

9. ชวนลูกทบทวนความก้าวหน้าของงานให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้ หากว่าไม่เป็นไปตามแผน ชวนลูกปรับแผนเพื่อไปให้ถึงเป้าหมาย

การสื่อสารอย่างเข้าใจ ให้กำลังใจลูกในยามที่ลูกเล็ก ฝึกและสนับสนุนให้ลูกวางแผน เขียนและบริหารจัดการสิ่งที่ต้องทำเมื่อลูกเขียนหนังสือได้ตั้งแต่ประถม เป็นการส่งเสริมการทำงานของสมองส่วนหน้า (Executive Function) ซึ่งเปรียบเสมือน CEO ของชีวิต สร้างวงจรประสาทการเห็นเป็นภาพในสมองให้แข็งแรง ได้ใช้ทักษะการบริหารจัดการที่มีอยู่ในเนื้อสมอง ฝึกให้เด็กจัดการบริหารงานของตนได้ดีขึ้น สิ่งที่ “ยัง”ทำไม่ได้ ก็จะค่อยๆ ทำได้ดีขึ้น “จุดแข็ง”ที่ทำได้ดีเป็นทุนตามธรรมชาติก็จะได้รับการบริหารจัดการให้ทำให้ดีขึ้นไปอีก ลูกๆของเราและเด็กๆทุกคนก็จะสามารถเป็นเวอร์ชั่นที่ดีที่สุดของศักยภาพที่ตนเองมีอยู่

อ้างอิง

Carol Dweck, Growth Mindset : The New Psycology of Success, Random House USA Inc, 11  Aug 2011

Lea Waters, How to Be a Strength-Based Parent,   https://greatergood.berkeley.edu/article/item/how_to_be_a_strength_based_parent, 2 October  2018

Maryann Cocca Leffler, The Power of Yet, Abrams, 12 Jan 2021


ปรารถนา หาญเมธี แปลและเรียบเรียง