สอบถามการใช้งานระบบ?

(02)913 - 7555 กด 4104

ฝ่ายบริการสมาชิกเว็บไซต์

“Best Practice” การนำองค์ความรู้ EF ไปใช้ในการสร้างสรรค์งาน ของศึกษานิเทศก์ และผู้บริหารสถานศึกษ

จากเวทีที่เราศึกษานิเทศก์ ผู้บริหารสถานศึกษา ภาคีเครือข่าย Thailand EF Partnership ด้านวิชาการได้ร่วมกันถอดบทเรียน เสนอแนะความคิดเห็น เพื่อให้ได้การขับเคลื่อนงานที่สามารถเป็น Best practice สำหรับการทำงานในระดับศึกษานิเทศก์และผู้บริหารสถานศึกษา ที่เข้าร่วมจำนวน  87  คนจากทั่วประเทศ โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เป็นที่น่ายินดีว่า เราได้ร่วมกันค้นพบ Best Practice จากผลงานการนำ EF ไปใช้สร้างสรรค์งานได้ถึง 22 ผลงาน ซึ่งเป็นผลงานสร้างสรรค์ของศึกษานิเทศก์จำนวน 14 ท่าน/ผลงาน และของผู้บริหารสถานศึกษา 8 ท่าน/ผลงาน จึงได้นำมาเผยแพร่ไว้ หวังให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้สำหรับบุคลากรการศึกษาของไทยผ่านสื่อออนไลน์นี้ และจะได้นำไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาทักษะสมอง EF แก่เด็กและเยาวชนในประเทศไทยต่อไป

ประเด็นสำคัญในภาพรวม

แรงบันดาลใจให้ศึกษานิเทศก์และผู้อำนวยการขับเคลื่อนองค์ความรู้ EF

  • เห็นว่าเป็นความรู้ใหม่เป็นนวัตกรรม สามารถนำ EF ไปเป็นประเด็นท้าทาย ระบุไว้ในข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการได้
  • สามารถนำไปพัฒนางาน ทำงานวิจัย เพื่อเลื่อนวิทยฐานะ ทำ Best Practice เพื่อสรุปโครงการ
  • เห็นว่าเรื่อง EF เป็นประโยชน์กับเด็กกับโรงเรียน ไม่ขัดกับนโยบายหลัก
  • EF เป็นคำตอบในการพัฒนาเด็ก “ที่ต้องเริ่มจากปฐมวัยและต้องพัฒนาสมอง EF” เป็นความรู้ที่สอดรับกับการพัฒนาเด็กปฐมวัยมากที่สุด เป็นคำตอบเรื่องการพัฒนาเด็กให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ และการพัฒนาเด็กให้เต็มศักยภาพ เป็นพื้นฐานของการพัฒนาทักษะต่างๆ หลากหลาย สามารถพัฒนาได้อย่างต่อเนื่อง
  • EF มีความสอดคล้องเข้ากับแนวนโยบายหลักจากกระทรวงฯ รวมถึงหลักสูตรปฐมวัย และหลักสูตรฐานสมรรถนะ สอดคล้องกับแนวทางที่โรงเรียนทำอยู่ เช่น จิตศึกษา โครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย BBL, PBL มอนเตสซอรี่
  • EF ทำให้ครูและผู้ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเด็กเข้าใจเรื่องพัฒนาการ พฤติกรรมและการเรียนรู้ของเด็กมากขึ้น
  • เห็นว่าเป็นการสร้างจุดขายของโรงเรียน ทั้งโรงเรียนเอกชนและโรงเรียน สพฐ.ขนาดเล็ก EF จะทำให้“ปฐมวัยมีคุณภาพ”จะดึงเด็กให้เรียนต่อในระดับประถมต่อไป และ EF ยังมีความเชื่อมโยงไปถึงพ่อแม่ ครอบครัวด้วย ถ้าใช้ EF ในการพัฒนาเด็ก ครูจะสามารถดึงผู้ปกครองและชุมชนเข้ามาให้ความร่วมมือกับครูและโรงเรียนได้มากขึ้น แก้ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กที่เด็กจำนวนน้อยลงเรื่อยๆ จนไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้

วิธีการขับเคลื่อนองค์ความรู้ EF

  • ศึกษานิเทศก์ขับเคลื่อนผ่านคณะอนุกรรมส่งเสริมการพัฒนาเด็กของจังหวัด จัดตั้งคณะทำงานจากหลากหลายสังกัด ผลักดันให้เป็นนโยบาย ให้เรื่อง EF บูรณาการเข้าไปกับเรื่องการพัฒนาเด็ก
  • ศึกษานิเทศก์บูรณาการกับงานในความรับผิดชอบ คือ การพัฒนาครู พัฒนาการเรียนการสอน การนิเทศ ถ้าได้รับความเห็นชอบจากผู้บริหาร (ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา) หรือผู้บริหารมีวิสัยทัศน์เห็นคุณค่า EF ศึกษานิเทศก์จะขับเคลื่อนได้ดี
  • ศึกษานิเทศก์และผู้อำนวยการสถานศึกษาขับเคลื่อนร่วมกับเครือข่าย EF เครือข่ายทำงานด้านเด็กปฐมวัย มหาวิทยาลัยราชภัฏ ศึกษานิเทศก์มักร่วมกับเครือข่ายระดับจังหวัด ผู้อำนวยการร่วมกับโรงเรียนในเครือข่ายเดียวกัน เช่น เครือข่ายจิตศึกษา เครือข่ายโรงเรียนพัฒนาตนเอง
  • ผู้อำนวยการสถานศึกษาสร้างวิสัยทัศน์ให้กับครู แล้วร่วมกับครูปฐมวัยที่เข้าใจเรื่อง EF หรือรองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการขับเคลื่อนความรู้ EF ให้เกิดการปฏิบัติในชั้นเรียน ดังนั้นต้องอบรมให้ความรู้ผู้อำนวยการพร้อมกับครูปฐมวัยในโรงเรียน จับมือกันขับเคลื่อนความรู้ EF ให้เกิดการปฏิบัติในชั้นเรียนได้จริง

การสร้าง/ประสานเครือข่าย

  • ศึกษานิเทศก์เชื่อมประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเด็กปฐมวัย ศึกษานิเทศก์เขตพื้นที่การศึกษา สพฐ. สธ. พมจ. ท้องถิ่น (เทศบาล อบจ. อบต.) ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เครือข่ายครูปฐมวัยแต่ละอำเภอ ผู้บริหารโรงเรียนทั้งเอกชน และ สพฐ. เพื่อจัดอบรมครูและผู้บริหาร
  • ผู้อำนวยการสถานศึกษาเชื่อมประสานกับครูในโรงเรียน ครูในโรงเรียนเครือข่าย ครูศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในพื้นที่ เพื่อพัฒนาความรู้ EF ไปด้วยกัน เสริมพลังให้กันและกัน
  • ศึกษานิเทศก์และผู้อำนวยการสถานศึกษาเชื่อมประสานกับอาจารย์มหาวิทยาลัย คณะศึกษาศาสตร์ คณะครุศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ เพื่อเสริมความเข้มแข็งเรื่องความรู้ EF
  • ศึกษานิเทศก์และผู้อำนวยการสถานศึกษาประสานกับแหล่งงบประมาณ ต้นสังกัดของตนเอง กองทุน เช่น กสศ. ท้องถิ่น เช่น เทศบาล อบจ. อบต.

เทคนิคในการประสานเครือข่าย เทคนิคในการประสานเชื่อมเครือข่ายให้เกิดการขับเคลื่อนที่เข้มแข็งมีดังนี้

  • สร้างความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับ พมจ. โดยศน.เป็นเลขาฯ ร่วมของคณะทำงานระดับจังหวัด
  • อาศัยความร่วมมือจากหัวหน้าหน่วยงานทางการศึกษา การดำเนินงานจะสัมฤทธิ์ผลหรือไม่ขึ้นอยู่กับการผลักดันของหัวหน้าหน่วยงานทางการศึกษา
  • การประสานงาน ต้องอาศัยทักษะ ใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ สร้างความเป็นกัลยาณมิตร อ่อนน้อมถ่อมตน ใช้ระบบการทำงานแบบพี่น้อง รับฟังความคิดเห็นซึ่งกันและกัน ให้โอกาส การมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการร่วมกัน มีความโปร่งใส
  • มีสัมพันธภาพที่ดีกับอาจารย์มหาวิทยาลัยและบุคลากรหลายๆ สังกัดที่ทำงานร่วมกันอยู่
  • ทำงานแบบเอื้ออาทรต่อกัน มีความจริงใจ ให้ความช่วยเหลือกัน เป็นผู้ให้และผู้รับ โดยเป็น “ผู้ให้” ก่อนเสมอ เช่น ลงพื้นที่ช่วยเหลือท้องถิ่น ทำให้ทุกฝ่ายเปิดใจยินดีให้ความร่วมมือ
  • ประสานสัมพันธ์กับโรงเรียนเอกชน เมื่อมีความสัมพันธ์ที่ดี ผู้บริหารโรงเรียนจะยินดีเข้าร่วมกิจกรรมโดยไม่เรียกร้องค่าใช้จ่าย
  • ใช้การสื่อสารหลากหลาย เลือกใช้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ เช่น เข้าไปพบ พูดคุย โทรศัพท์ ไลน์กลุ่ม เฟซบุ๊ก อบรมออนไลน์ นิเทศออนไลน์
  • ใช้ความสัมพันธ์ส่วนตัวเป็นพื้นฐานในการประสานงานและสร้างเครือข่าย เช่น พูดคุยอย่างไม่เป็นทางการก่อน

การขับเคลื่อนที่ทำให้ความรู้ EF ไปสู่การปฏิบัติในชั้นเรียน

  • ผู้อำนวยการสถานศึกษาต้องมีครูปฐมวัยหรือ รองผู้อำนวยการที่เข้าใจเรื่อง EF ร่วมกันผลักดันให้เกิดการปฏิบัติในชั้นเรียน มีการติดตามต่อเนื่อง
  • ผู้อำนวยการสถานศึกษาต้องสร้างการยอมรับให้ครูเปิดใจรับเรื่อง EF เช่น พาครูทำ พาครูเรียนรู้ด้วยตัวเอง ให้คำปรึกษา หาแหล่งเรียนรู้และสื่อเรียนรู้ให้ครู หาที่ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญคอยเติมความรู้ให้ครู
  • มีอาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏด้านปฐมวัยคอยชี้แนะ เป็นวิทยากรให้ความรู้แก่ครู
  • ศึกษานิเทศก์มีความรู้ความเข้าใจเรื่อง EF คอยติดตาม นิเทศ ให้คำปรึกษาแก่ครู
  • มีการอบรมเรื่องการเขียนแผนเพื่อให้ครูเข้าใจกระจ่าง มีการอบรมหรือ PLC ต่อเนื่อง ทำ Best Practice
  • มีแหล่งเรียนรู้ EF เพื่อเติมความรู้ให้ ศึกษานิเทศก์ ผู้อำนวยการ/ผู้บริหารสถานศึกษา และครู เช่น การอบรม อินเทอร์เน็ต (เช่นรายการ Can Do ครู EF) สื่อสิ่งพิมพ์ (จาก RLG) คู่มือพัฒนาทักษะสมอง EF สำหรับครูปฐมวัย EF Guideline

นวัตกรรม/งานวิจัย

  • โรงเรียนเปิดห้องเรียน EF เป็นห้องเรียนที่จัดกิจกรรมส่งเสริม EF ให้เด็ก และมีข้อมูล EF ที่พ่อแม่ผู้ปกครองเข้ามาเรียนรู้ได้
  • Best Practice เรื่องการบริหารจัดการศึกษาปฐมวัย โดยใช้นวัตกรรมจิตศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะสมอง EF ในโรงเรียนที่มีการเรียนการสอนที่ส่งเสริม EF (ศน.บุญลักษณ์ อึ้งขันพงษ์)
  • งานวิจัยศน.ร่วมกับครู เรื่องการพัฒนาทักษะ EF ผ่านกิจกรรมงานบ้าน งานสวน งานครัว ฯลฯ ในโรงเรียนเครือข่ายจิตศึกษา (ศน.อานันท์ปภา ฉลาดเอื้อ)
  • งานวิจัยเรื่อง “การพัฒนาทักษะสมอง EF ในสถานการณ์โควิดโดยใช้รูปแบบการเรียนรู้จิตศึกษา Child-Based Learning ในเด็กปฐมวัยและประถม 2-3”(ผอ.สวัสดิ์ เมฆสุนทร)
  • งานวิจัยเกี่ยวกับ การส่งสริมสมรรถนะครูเพื่อพัฒนาสมองส่วนหน้าของเด็กปฐมวัย โรงเรียนอนุบาลบ้านบะหว้า (ผอ.วีระพงษ์ พิมพ์กลม)
  • เกิดการพัฒนาการนิเทศผสมผสานตามแนวคิด Blended Learning (ศน.ปวีณา ธิติวรนันท์)
  • เกิดกระบวนการทำงานการส่งเสริมและพัฒนาเด็กแบบบูรณาการเชิงพื้นที่ โดยใช้รูปแบบ NECDC Model (ศน.ปิยนุช ไชยสมทิพย์)
  • เกิดการจัดตั้งศูนย์พัฒนาเด็กปฐมวัย (จังหวัดน่าน)คณะทำงานขับเคลื่อนคุณภาพเด็กปฐมวัย(จังหวัดขอนแก่น)

ผลการขับเคลื่อน

  • ครูได้รับความรู้ EF นำความรู้ EF ไปปฏิบัติในชั้นเรียน ทำให้เด็กได้รับการส่งเสริมพัฒนา EF
  • ครู ศึกษานิเทศก์และผู้อำนวยการสถานศึกษาเปลี่ยน mindset บางโรงเรียนจะเน้นอ่านออกเขียนได้เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ปกครอง โดยเฉพาะเด็กอนุบาลจะถูกบังคับเพื่อให้สอบเข้า ป. 1 ได้ เมื่อเปลี่ยนการเรียนการสอนโดยครูใช้ความรู้ EF ทุกฝ่ายได้เห็นว่าการอ่านออกเขียนได้เป็นเรื่องที่ตามมาจาก EF และ EF เป็นพื้นฐานที่สำคัญ เป็นทักษะชีวิตที่ต้องฝึกก่อนการอ่านเขียนโรงเรียนมีการปรับเปลี่ยนบริบทในการเรียนการสอน
  • ผลประเมินพัฒนาการและ EF ของเด็กนักเรียนดีขึ้นกว่าเดิม (ผลการประเมิน EF ก่อนและหลังการส่งเสริม EF ในโรงเรียนแกนนำ เห็นได้ว่าเด็กมีพัฒนาการ EF ที่ดีขึ้นและดีกว่าเด็กในพื้นที่อื่นที่มีบริบทดีกว่า (พญาเม็งราย) เด็กปฐมวัยมีผลสัมฤทธิ์และมีพัฒนาการด้านสติปัญญาที่สูงขึ้น (ศน.กังสดาล สพป.เชียงรายเขต 2)
  • เด็กปฐมวัยสามารถกำกับตัวเองได้ ทำอะไรต่างๆ ได้ด้วยตัวเอง เช่น มาเข้าแถวรอคุณครูเอง ล้างถาดอาหารที่กินเอง รู้จักเข้าคิวรอคอย การเปลี่ยนแปลงของเด็กจะปรากฏในการประเมินหลังจากใช้ความรู้ EF 3-6 เดือน
  • ช่วยพัฒนาเด็กสมาธิสั้นให้นิ่งขึ้น มีสมาธิได้ เด็กปกติมีสมาธิยาวนานขึ้น มีทักษะในการแก้ปัญหา
  • เกิดโรงเรียน EF ต้นแบบ
  • โรงเรียน EF ต้นแบบ ได้รับรางวัลจากการมีห้องเรียน EF และการจัดประสบการณ์ส่งเสริม EF ผู้อำนวยการและครูได้รับรางวัลจากการจัดการเรียนการสอนที่ส่งเสริมพัฒนา EF
  • ศึกษานิเทศก์เปลี่ยน mindset เนื่องจากไม่ได้จบทางด้านปฐมวัย เดิมในการดูแลเด็กป.1 จะเน้นเรื่องการอ่านออกเขียนได้ พอรู้ เข้าใจเรื่อง EF จึงเห็นว่าพื้นฐานที่สำคัญกว่าการอ่านออกเขียนได้คือทักษะชีวิตเด็กปฐมวัย การยับยั้งชั่งใจ การควบคุมอารมณ์ ซึ่งก็คือ EF เมื่อเด็กมีพื้นฐานที่ดีแล้ว เด็กจะมีความพร้อม สามารถต่อยอดการอ่านการเขียนได้ไม่ยาก
  • ครูใจเย็นมากขึ้น รอให้เด็กได้คิดได้ตอบเอง ครูรู้จักใช้คำถามกระตุ้นให้เด็กได้คิด ไม่ตัดสินเด็ก ใช้คำพูดเชิงบวก ใช้วินัยเชิงบวก มีการสังเกตพฤติกรรมเด็ก เข้าใจธรรมชาติเด็กมากขึ้น
  • ครูยังได้แนวทางสำหรับการจัด Home-Based Learning ในสถานการณ์โควิดด้วย นับว่าเป็นประโยชน์อย่างมาก เพราะเดิมได้ให้เด็กทำงานตามใบงาน ซึ่งทำให้เด็กเครียด หลังจากเปลี่ยนมาเป็นกิจกรรม เกมสนุกๆ ได้รับฟีดแบ็กจากผู้ปกครองที่ดีมากว่าเด็กๆ ได้เรียนรู้อย่างสนุกสนาน สามารถทำกิจกรรมต่างๆ ได้ด้วยตัวเอง มีความรับผิดชอบมากขึ้น มีทักษะในการทำสิ่งต่างๆ ช่วยเหลืองานผู้ปกครอง และช่วยแก้ปัญหาเด็กติดโทรศัพท์ ส่วนเด็กมีความภาคภูมิใจที่ได้ทำสิ่งต่างๆ ด้วยตัวเองและได้ช่วยเหลือพ่อแม่ผู้ปกครอง
  • ศึกษานิเทศก์และผู้อำนวยการสถานศึกษาได้ต่อยอดความรู้ มีความมั่นใจที่จะถ่ายทอดความรู้สู่ครู รู้สึกภูมิใจที่สามารถถ่ายทอดความรู้ให้ครูได้
  • ศึกษานิเทศก์และผู้อำนวยการสถานศึกษาได้นำความรู้ EF มาประเมินตนเอง ใช้ในการเลี้ยงลูก เข้าใจธรรมชาติเด็กมากขึ้น
  • ครูสะท้อนว่าความรู้เรื่อง EF ทำให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง เข้าใจกระจ่าง ได้รู้ว่าที่ผ่านมาทำผิดวิธี เช่น บอกเด็กว่าอย่าๆ เป็นการปิดโอกาสการเรียนรู้ของเด็ก เมื่อรู้แล้วครูให้โอกาสเด็กฝึกช่วยเหลือตัวเอง เด็กช่วยเหลือตัวเองได้ เกิด EF มีวุฒิภาวะทางอารมณ์ รู้จักยับยั้งชั่งใจ นอกจากนี้ครูยังได้เทคนิคที่นำไปใช้ในห้องเรียน เช่น เทคนิคการจัดกิจกรรมเรียนรู้ที่หลากหลาย ครูรู้สึกเหมือนได้เปิดโลกทัศน์

ปัจจัยความสำเร็จ

  • การอบรมให้ความรู้ที่มีวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ กระบวนการอบรมที่ทำให้ครูได้ตระหนักรู้ เห็นตัวอย่างเป็นรูปธรรม นำไปปฏิบัติได้
  • การนิเทศติดตามอย่างต่อเนื่อง
  • การสนับสนุนจากหน่วยงานต้นสังกัดถาวรโดยการโน้มน้าวให้ผู้บริหารต้นสังกัดเห็นชอบ สื่อสารให้ผู้บริหารเห็นความสำคัญ ความคุ้มค่าของ EF และต้องทำจริงจังให้เห็นความตั้งใจจริงด้วยให้ผู้บริหารเข้าร่วมเรียนรู้ ร่วมมีบทบาทในการขับเคลื่อน
  • ผู้ว่าราชการเห็นความสำคัญ ทำให้ขับเคลื่อนได้สะดวก ขับเคลื่อนได้ทั้งจังหวัด
  • การเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายเป็นพลังให้การพัฒนา EF ต่อเนื่องการประสานเครือข่ายที่มีประสิทธิภาพ จะทำให้ได้รับการสนับสนุนเสริมพลัง ทั้งทางด้านงบประมาณ ความเข้มแข็งทางวิชาการ ความร่วมมือ การพัฒนาไปด้วยกัน สามารถผลักดันให้เป็นนโยบายได้
  • การสร้างความยั่งยืนให้กับการขับเคลื่อน EF โดยเสนอเรื่อง EF เข้าสู่ยุทธศาสตร์จังหวัด เป็นนโยบายให้เกิดการขับเคลื่อนทั้งจังหวัด
  • การจูงใจให้ผู้บริหารโรงเรียน เห็นว่า การส่งเสริม EF ในเด็กปฐมวัยจะเป็นจุดขายของโรงเรียน โรงเรียนจะเปิดรับด้วยความสมัครใจหากเห็นประโยชน์
  • การโน้มน้าวให้ครูเห็นว่า EF ไม่ใช่ภาระงานที่เพิ่มขึ้น ไม่ใช่เรื่องเข้าใจยาก หากเทียบเคียง EF กับหลักสูตรแกนกลาง มาตรฐานการเรียนรู้และตัวชี้วัด และทำให้ครูเห็นว่า EF เป็นความรู้ที่จะทำให้การเรียนการสอนพัฒนาผู้เรียนให้มีศักยภาพยิ่งขึ้น
  • การขับเคลื่อนจะต่อเนื่องยั่งยืนได้ ศึกษานิเทศก์และผู้อำนวยการสถานศึกษาต้องทำด้วยใจเพราะเห็นประโยชน์ที่เด็กและโรงเรียนจะได้รับ เช่น ผอ.จรูญ น้อยสำราญ “แม้ไม่มีนโยบายเรื่อง EF จากหน่วยงานเบื้องบน ก็สามารถนำความรู้ EF มาบูรณาการกับการเรียนการสอนของโรงเรียนตามบริบทที่เป็นอยู่ได้ เมื่อพิจารณาแล้วว่าเรื่อง EF ไม่ได้ขัดกับนโยบายจากส่วนกลาง กลับช่วยเสริมให้การเรียนการสอนมีคุณภาพมากขึ้น สิ่งใดที่เป็นประโยชน์กับเด็กก็ต้องทำ ไม่จำเป็นต้องใช้งบประมาณเพิ่มมากมาย เพราะ EF สามารถบูรณาการลงไปในแผนที่ครูทำอยู่แล้ว เป็นกิจกรรมการเรียนการสอนเหมือนกัน วิธีการเท่านั้นที่แตกต่างออกไปจากเดิม เพียงครูเข้าใจ”

การแก้ปัญหา

  • ปัญหาการไม่ยอมรับของหน่วยงานต่างๆ เช่น เห็นว่าเป็นการทำงานซ้ำซ้อนบ้าง หรือไม่ใช่งานในหน้าที่โดยตรงบ้าง แก้ปัญหาโดยการพูดคุย ทั้งผ่านไลน์กลุ่ม ไลน์ส่วนตัว ใช้ความสัมพันธ์ที่ดีส่วนตัวโทร.คุยก่อนส่งหนังสือเชิญเข้าร่วมอย่างเป็นทางการ ให้หน่วยงานที่เข้าร่วมได้ร่วมคิดร่วมทำ เพื่อให้รู้สึกถึงความเป็น เจ้าของงาน มีคนให้ความสำคัญ มีความโปร่งใสในการใช้งบประมาณ บริหารจัดการร่วมกัน
  • ปัญหางบประมาณ กระทรวงศึกษาธิการมีน้อย หากเสนอเรื่องเข้าสู่คณะทำงานระดับจังหวัด และผู้ว่าราชการจังหวัดเห็นชอบ ก็จะได้รับงบประมาณสนับสนุน หรือบางครั้งอาศัยงบประมาณจากองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นมาร่วมดำเนินงานหรือทำ MOU กับมหาวิทยาลัยราชภัฏ เพื่อร่วมมือกันจัดการอบรมครูเรื่อง EF สื่อสารกับผู้บริหารสูงสุดแต่ละสังกัด เช่น อธิบายกับพมจ.ว่าจะคุ้มค่าอย่างไรในการอบรม EF (ครั้งแรก) พมจ.จึงสนับสนุนให้งบประมาณเพื่อเป็นการพัฒนาครู
  • ปัญหาสถานการณ์โควิด ใช้การสื่อสารอบรมและนิเทศออนไลน์หลายรูปแบบ ส่งเสริม EF แก่เด็กผ่านกิจกรรมที่เด็กทำร่วมกับผู้ปกครองที่บ้าน
  • ปัญหาขาดครูปฐมวัยและขาดเทคนิควิธีการในการคิดกิจกรรมที่เป็น Active Learning เชิญครูแกนนำที่เก่งทางด้านจัดกิจกรรมเรียนรู้ ร่วมเป็นคณะอบรมให้ความรู้แก่ครู
  • ปัญหาครูอบรมแล้วยังไม่เข้าใจ EF หรือถ้าให้ข้อมูลเชิงวิชาการ ครูจะไม่เข้าใจ จึงใช้วิธีเชื่อมโยง EF กับ 6 กิจกรรมหลักตามหลักสูตรปฐมวัยที่ครูจัดให้เด็กอยู่แล้ว เปรียบเทียบ EF กับคุณลักษณะของเด็กตามหลักสูตร เช่น เด็กรู้จักอดทนรอคอย คือ EF ยับยั้งชั่งใจ เป็นต้น แล้วค่อยเข้าสู่ทฤษฎี เนื้อหา EF
  • ปัญหา “ผู้บริหารเปลี่ยน นโยบายเปลี่ยน” ศึกษานิเทศก์สามารถสอดแทรกบูรณาการเรื่อง EF เข้าไปในโครงการพัฒนาครูและงานในความรับผิดชอบของศน.ได้
  • ทางด้านวิชาการที่ครูยึดหลักสูตรแกนกลางเป็นหลัก ต้องให้ครูได้ร่วมรับรู้เข้าใจถึงองค์ความรู้ EF ต่อการพัฒนาทักษะสมองแก่เด็ก โดยผู้อำนวยการ/ผู้บริหารสถานศึกษาชี้ให้ครูเห็นข้อดี เปิดรับฟังความคิดเห็น แล้วนำมาปรับเป็นแนวนโยบายของโรงเรียน ส่วนผู้ปกครอง ต้องยกงานวิจัยมาอ้างอิงให้เกิดความเชื่อถือ เช่น งานวิจัยที่บอกว่าการเร่งอ่านเขียนจะส่งผลเสียต่อเด็กอย่างไร

Best Practice ศึกษานิเทศก์

Best Practice ผู้บริหารสถานศึกษา