การเลี้ยงดูบนฐานการส่งเสริมและพัฒนา “จุดแข็ง” กับความเครียดของเด็ก

การเลี้ยงดูบนฐานการส่งเสริมและพัฒนา “จุดแข็ง” กับความเครียดของเด็ก

ความเครียดเป็นปฏิกิริยาของสิ่งมีชีวิต ที่แสดงพฤติกรรมต่อสิ่งเร้าที่คุกคามความอยู่ดีมีสุขเป็นปกติ ความเครียดมักเกิดจากความต้องการกับทรัพยากรที่มีอยู่ไม่สมดุลกัน คนที่เครียดนั้นเกิดจากความรับรู้ว่า ตนไม่สามารถรับมือกับความต้องการหรือความคาดหวังที่ถูกวางไว้ได้ดีเพียงพอ ความเครียดส่งผลต่อระบบของร่างกายและการทำงานของสมอง โดยเฉพาะเด็กที่ประสบกับความเครียดเรื้อรังนั้นแขนงของเซลล์ประสาทหดสั้นลง คล้ายรากของต้นไม้ที่เหี่ยวแห้งลงจากขาดน้ำ ส่งผลต่อการเรียนรู้และสติปัญญา แต่ยิ่งไปกว่านั้น ความเครียด ความเจ็บปวดทางกายและใจที่เด็กได้รับจะส่งผลต่อปัญหาทางสุขภาพทั้งทางกายและสุขภาพทางใจไปจนตลอดชีวิต

อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจความเครียดในเด็ก กลับพบว่าเด็กมีอัตราความเครียดที่สูงมากขึ้นทุกปี จากการที่ชีวิตของเด็กในสมัยนี้ ต้องเผชิญกับความคาดหวังและความกดดันเพิ่มมากขึ้นกว่าต้นทุนหรือความสามารถที่ตนมี  ในปี 2010 จากการสำรวจความเครียดในอเมริกา (APA, 2010) เด็กถึง 20% บอกว่ามีความกังวลมาก ด้วยการให้คะแนนความเครียดอยู่ที่ 8,9,10 ในคะแนนเต็ม 10  เด็กในโรงเรียนขนาดใหญ่ที่ประเทศออสเตรเลีย 31% สะท้อนว่า เครียดมาก เด็ก 40% สะท้อนว่ารู้สึกกังวล ต่อมาในปี 2014 การสำรวจความเครียดในอเมริกา พบว่า วัยรุ่นถึง 50% รู้สึกไม่มั่นใจความสามารถของตนเองในการจัดการปัญหาส่วนตัว วัยรุ่น 42% รู้สึกว่าตนเองไม่สามารถจัดการความเครียดของตนเองได้

ความเครียดสามารถระบุได้ว่ามีอยู่ 3ประเภท คือ

1. ความเครียดที่เป็นพิษ

2. ความเครียดที่ทนได้

3. ความเครียดเชิงบวก

ความเครียดทั้งสามประเภทต่างมาจากสถานการณ์ที่คนรู้สึกลำบาก รับมือกับสิ่งที่เผชิญได้ยาก ไม่อยากเจอ แต่มีความรุนแรงที่แตกต่างกันไป ความเครียดที่เป็นพิษนั้นเป็นความเครียดที่มีความรุนแรงและคงอยู่เป็นเวลานาน เช่น ความรุนแรงในครอบครัว ความเครียดที่ทนได้ มักเป็นสถานการณ์ไม่พึงประสงค์ มีความรุนแรงแต่มักเกิดเพียงครั้งเดียว เช่น การสูญเสียคนที่รัก ซึ่งเด็กมักจะได้รับการปลอบโยน ประคับประคองจนผ่านสถานการณ์นั้นมาได้ ส่วนความเครียดเชิงบวกนั้นมักเป็นความเครียดเล็กๆน้อยที่ไม่พึงประสงค์ให้มี แต่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน เช่น การบ้านที่ไม่ได้ทำเสร็จได้ง่ายๆ การทะเลาะกับเพื่อน ซึ่งปัญหาเหล่านี้ไม่รุนแรงและเกิดขึ้นเพียงช่วงสั้นๆ ความเครียดที่เกิดขึ้นทำปฏิกิริยาให้หัวใจเต้นเร็ว ระดับคอร์ติซอลซึ่งเป็นฮอร์โมนความเครียดมีระดับสูงขึ้น สภาพจิตใจมีความวิตกกังวล และอาจแสดงออกทางพฤติกรรมให้เห็นได้

ความเครียดที่เป็นพิษซึ่งเป็นความเครียดรุนแรงที่เด็กไม่มีเครื่องมือหรือฐานะที่จัดการได้ เช่น ความเครียดจากการถูกทำร้ายจากผู้ใหญ่ ความรุนแรงในครอบครัว ความยากจนข้นแค้น การอยู่ในสภาพแวดล้อมที่อันตราย เช่น สงคราม

ความเครียดเชิงบวกที่เกิด เด็กสามารถพัฒนาความสามารถเอาชนะได้ เช่น ฝึกฝนจนสามารถแก้โจทย์เลขสำเร็จ หรือสถานการณ์เปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น เช่น เพื่อนมาขอคืนดี สถานการณ์ต่างๆก็จะเข้าสู่โหมดปกติ แต่ละครั้งที่ผ่านความเครียดมาได้ จะเป็นภูมิคุ้มกันทำให้เด็กมีความแข็งแกร่งขึ้น ในการผ่านความเครียดเชิงบวกแต่ละครั้ง สมองของเด็กได้ถูกประลองกำลัง โดยเฉพาะทักษะเชิงบริหารจัดการ (Executive Function: EF) ในสมองส่วนหน้า ที่ต้องใช้ทั้งทักษะพื้นฐานคือ ความจำเพื่อใช้งาน ความสามารถในการยับยั้งชั่งใจ การยืดหยุ่น ทักษะกำกับตนเอง ทั้งความสามารถในการจดจ่อ ควบคุมอารมณ์ ประเมินตนเอง และทักษะปฏิบัติ ทั้งการตั้งเป้าหมาย วางแผนดำเนินการ จนถึงมุ่งมั่นสู่เป้าหมายมาใช้ การได้ฝึกปรือสมองในสถานการณ์จริงทำให้เด็กมีความเข้าใจต่อโลกเพิ่มขึ้น รับมือกับเรื่องต่างๆได้ดีขึ้น ถือเป็นกระบวนการปกติของพัฒนาการที่ช่วยให้เด็กมีต้นทุนในการรับมือกับสถานการณ์ใหม่ที่ชีวิตต้องเผชิญ

จากการศึกษาวิจัยในอเมริกา อังกฤษและออสเตรเลีย ถึงบทบาทของผู้ใหญ่ซึ่งเลี้ยงดูเด็กบนฐานการส่งเสริม “จุดแข็ง” อันเป็นการส่งเสริมความสามารถตามธรรมชาติของเด็ก ให้เด็กได้แสดงออกถึง “จุดแข็ง” ที่ตนมี ส่งเสริมพัฒนาจุดแข็งของเด็กที่มีอยู่ให้ดียิ่งขึ้นไปอีก โดยทำการศึกษาเด็กนักเรียนระดับชั้นประถมและมัธยม พบว่า นักเรียนในโรงเรียนที่ครูให้ความสำคัญกับการพัฒนา “จุดแข็ง” ของนักเรียน ระบุให้เด็กแต่ละคนได้เห็น “จุดแข็ง”ที่ตนมีอยู่ เด็กนักเรียนเหล่านี้แสดงออกถึงความพึงพอใจ มีความหวังในชีวิต และการมีส่วนร่วมในโรงเรียน ความนับถือตนเอง และลดพฤติกรรมเชิงลบลงมากกว่า เด็กในโรงเรียนที่ไม่ได้มุ่งส่งเสริมการพัฒนา “จุดแข็ง” ของเด็ก

บทบาทสำคัญของพ่อแม่ในการเลี้ยงดูลูกด้วยการส่งเสริมพัฒนา “จุดแข็ง” ของลูก เพื่อพัฒนาทักษะการรับมือกับความเครียดที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน คือการสร้างสายใยความผูกพันที่ปลอดภัย ความรู้สึกปลอดภัยสร้างโอกาสให้เด็กเกิดความรู้สึกกล้าที่จะออกสำรวจ เล่น ทดลอง เรียนรู้ในสถานการณ์ต่างๆ ด้วยความรู้สึกอิสระ และพึ่งพาตนเองได้มากขึ้นเรื่อยๆ

เด็กๆ ได้เรียนรู้ว่าตนเองมี “จุดแข็ง” เมื่อผ่านสถานการณ์ความตึงเครียดที่เกิดขึ้น จะนำเอาสิ่งที่ตนมีออกมาทั้ง “คุณลักษณะ” และ “ความสามารถ/สมรรถนะ” มาใช้จัดการกับสถานการณ์นั้น นั่นหมายความว่า การเลี้ยงดูบนฐานการส่งเสริมและพัฒนา “จุดแข็ง” (Strength Base Parenting: SBP) นั้น ทำให้เด็กมีแนวโน้มที่จะเก็บเกี่ยวประโยชน์จากสถานการณ์ที่ไม่พึงประสงค์ ในความเครียดที่เกิดขึ้นสมองของเด็กได้ใช้ทักษะ EF ไปพัฒนาความสามารถ และปรับตัว ดังได้กล่าวมาแล้วว่า ความเครียดเกิดจากการที่ความต้องการหรือเป้าหมายไม่สมดุลสอดคล้องไปกับทรัพยากรที่มีอยู่ การเลี้ยงดูบนฐานการส่งเสริมและพัฒนา ​“จุดแข็ง” คือการส่งเสริมให้เด็กเอาขุมทรัพย์คือจุดแข็งภายในของตนออกมาเป็นทรัพยากรที่ส่งผลให้เกิดความสมดุลกับเป้าหมายยิ่งขึ้น

“จุดแข็ง” ตามธรรมชาติของแต่ละคนที่มีแตกต่างกัน ทั้งทักษะ พรสวรรค์ อารมณ์ พื้นฐานทางครอบครัว และทรัพยากรทางสังคมที่ตนมี ทำให้เด็กมีวิธีการเผชิญปัญหาหรือสถานการณ์ไม่พึงประสงค์ด้วยวิธีการของตนได้อย่างมีประสิทธิภาพ แทนที่จะเผชิญกับความเครียดด้วยความก้าวร้าว หรือหลบเลี่ยงหวาดกลัว เช่น เมื่อเด็กมีปัญหากับเพื่อน แทนที่จะทะเลาะ ทำร้ายร่างกายกัน ด่าว่ากัน หรือยอมให้เพื่อนแกล้ง เด็กที่ได้รับการส่งเสริมและพัฒนา “จุดแข็ง” จะรู้จักดึงความฉลาดทางสังคม มุมมอง การควบคุมอารมณ์ ความเมตตา หรือความเป็นธรรมที่เป็นจุดแข็งของตน ขึ้นมารับมือกับความขัดแย้งนั้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ มากกว่าเด็กที่ไม่รู้ว่าตนมีความสามารถ ทักษะ หรือคุณลักษณะที่เป็นคุณอย่างไร

เด็กที่ถูกเลี้ยงดูมาบนฐานการส่งเสริมและพัฒนา “จุดแข็ง” นั้นมีความสุขมากกว่า เนื่องจากมีพ่อแม่ ผู้ปกครองหรือครูที่ยอมรับในสิ่งที่ตนเป็น ตอบสนองความสนใจของตน ผู้ใหญ่ให้เวลา สังเกตและสนับสนุนให้สิ่งที่มีอยู่ในตัวตนของตนได้รับการพัฒนาให้ดีขึ้น ให้หรือสร้างโอกาสให้ “จุดแข็ง” ของตน ได้แสดงออกและฝึกฝน เช่น ได้แสดงออกและได้ฝึกฝนคุณลักษณะและความสามารถที่ตนมี ไม่ว่าจะเป็นคุณลักษณะ เช่น ความพากเพียร ความซื่อสัตย์ ความเป็นธรรม ฯลฯ หรือจะเป็นทักษะต่างๆ เช่น ทักษะด้านความรู้ความเข้าใจ ทักษะภาษา ทักษะสังคม ทักษะคณิตศาสตร์   

นอกจากนี้ เด็กที่ได้รับการส่งเสริม สนับสนุนการพัฒนา “จุดแข็ง” ที่ตนมีอยู่ ยังแสดงออกให้เห็นว่า มีความสามารถในการมองเห็นอาชีพ และเป้าหมายในชีวิตมากกว่า จากการรู้ว่าตนชอบอะไร ถนัดอะไร เชี่ยวชาญกว่าคนอื่นในเรื่องใด เป็นอิสระที่จะหลงใหลในสิ่งที่ตนสนใจและทำได้ดีกว่าคนอื่น เด็กเหล่านี้มีพื้นฐานที่ภูมิใจในความเป็นตัวของตัวเอง ที่อาจเหมือนหรือไม่เหมือนกับคนอื่น หรือแม้แตกต่างจากคนทั่วไปในสังคม อีกทั้งยังยอมรับความแตกต่าง อดทนทำงาน และร่วมมือกับคนที่หลากหลายได้มากกว่าโดยไม่สูญเสียความเป็นตัวของตัวเอง มีความสามารถทั้งในการเป็นผู้นำและผู้ตามได้ดีกว่า

 นี่เป็นความหมายที่น่าสนใจว่า การที่พ่อแม่เลี้ยงดูด้วยการสนับสนุนและพัฒนา “จุดแข็ง” ของลูก จะเป็นการส่งเสริมให้เด็กเติบโตไปประสบความสำเร็จและใช้ชีวิตในศตวรรษที่ 21ได้อย่างมีความสุขอย่างที่พ่อแม่ทุกคนปรารถนาได้มากกว่าด้วย

อ้างอิง

Lea Waters, The Relationship between Strength-Based Parenting with Children’s Stress Levels and Strength-Based Coping Approaches, https://www.scirp.org/html/4-6901461_56129.htm, published 6 May 2015

Dr. Andrew Taylor, C. Psych., USING CHILDREN’S STRENGTHS IN MANAGING ANXIETY, https://www.hdgh.org/uploads/RegionalChildrensCentre/ozad/Using%20Childrens%20Strengths%20In%20managing%20anxiety.pdf, April 2016

Karen Young, 18 Important Things That Kids With Anxiety Need to Know, https://www.heysigmund.com/kids-with-anxiety-need-to-know/, สืบค้น เมย. 2565


ปรารถนา หาญเมธี แปลและเรียบเรียง