ดนตรีกับการพัฒนาทักษะสมองส่วนหน้า EF

โดย | 19 พฤษภาคม 2022 | บทความแปล

ดนตรีกับการพัฒนาทักษะสมองส่วนหน้า EF

การศึกษาวิจัยว่าดนตรีมีส่วนในการพัฒนาทักษะสมองส่วนหน้า (Executive Function) เพิ่มขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีการศึกษาที่ยืนยันว่าการฝึกฝนเล่นดนตรีประเภทต่างๆ สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของสมอง นักดนตรีมืออาชีพและผู้เชี่ยวชาญทางดนตรีที่ได้รับการฝึกฝนมาตั้งแต่ยังเล็ก และเล่นดนตรีมานานเกินกว่าสิบปีนั้นถูกค้นพบจากการทำงานสำรวจวิจัยของ Katherine-moore และทีมว่า เป็นผู้ที่มีความสามารถในการคิดเชิงนามธรรมและแก้ปัญหาได้ดี อีกทั้งงานวิจัยพบว่านักดนตรีมืออาชีพมีผลคะแนนที่ดีอย่างเห็นได้ชัด เมื่อทำการทดสอบทักษะสมองส่วนหน้าด้านความจำเพื่อใช้งาน การจดจ่อใส่ใจ และกระบวนการคิดที่รวดเร็ว ซึ่งทักษะเหล่านี้แม้แต่นักดนตรีสมัครเล่นก็ทำการทดสอบทักษะดังที่กล่าวมาแล้วได้ดีกว่าคนที่ไม่เล่นดนตรี คำว่า “อันดนตรี มีคุณทุกอย่างไป” จึงเป็นคำที่ไม่กล่าวเกินเลย เพราะแม้แต่การฝึกฝนไม่เท่าไหร่ ก็ยังสามารถทำให้ทักษะ EF ที่สำคัญพัฒนาขึ้นอย่างชัดเจน

          ในการเล่นดนตรีโดยเฉพาะการเล่นดนตรีคลาสสิคคนเล่นจำต้องใช้ทักษะ EF หรือทักษะการบริหารจัดการขั้นสูงของสมอง นักดนตรีจำต้องอ่านตัวโน้ตของบทเพลงและแปลงตัวโน้ตที่อ่าน ออกมาเป็นเสียงดนตรีผ่านการเคลื่อนไหวของร่างกายอย่างตั้งใจ รวดเร็ว และตรงตามห้องและจังหวะของเพลง ไม่ว่าจะเป็นการใช้นิ้วไล่กดคอร์ดกีตาร์ หรือนิ้วที่พรมลงคีย์เปียโน ปากที่เป่าลมลงไปในเครื่องเป่าไม่ว่าจะเป็นทรัมเปต หรือขลุ่ย เพื่อให้ได้เสียงเพลงที่บรรเลงออกมาตามตัวโน้ตที่อ่าน การเล่นดนตรีดังที่ว่านี้ต้องการทั้ง ทักษะยืดหยุ่นความคิด บริหารจัดการ เรียงลำดับโน้ตตามดนตรีที่ประพันธ์มา และการควบคุมตนเอง โดยเฉพาะการเล่นในวงออเคสตราที่ต้องเล่นพร้อมกันกับคนจำนวนมาก ยิ่งต้องใช้ทักษะที่ว่ามานี้อย่างเข้มข้น

          ทักษะสมองส่วนหน้า (Executive Function: EF) เป็นทักษะของสมองที่อยู่ด้านหลังหน้าผาก ซึ่งทำหน้าที่วางแผนการดำเนินชีวิตและการทำงานของเรา และทำหน้าที่กำกับพฤติกรรมของเรา โดย Nadine Gaab นักวิชาการของมหาวิทยาลัยฮาวาร์ดได้อธิบายไว้ว่า การทำงานของทักษะสมองส่วนนี้ทำให้เราบริหารจัดการความตั้งใจในการทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดของเรา จัดการเวลา บริหารเวลา และกำกับการกระทำของเรา เพื่อไปให้ถึงเป้าหมายของเรื่องนั้นที่วางไว้ ความสามารถของทักษะสมองส่วนนี้ดีมากเท่าไหร่จะส่งผลทำให้เด็กมีความสามารถในการเรียนรู้ดีขึ้นเท่านั้น และส่งผลต่อการประสบความสำเร็จในอนาคต การวิจัยที่ค้นพบว่าการเล่นดนตรีมีผลอย่างมากในการพัฒนาสมองของเด็ก ทำให้ในวงการการศึกษาของประเทศสหรัฐอเมริกาเกิดการตั้งคำถามว่า การที่โรงเรียนรัฐบาลในสหรัฐอเมริกา เอาหลักสูตรการอ่านและคณิตศาสตร์เข้ามาแทนที่หลักสูตรดนตรีที่มีอยู่เดิม แล้วยกเอาวิชาดนตรีออก เด็กทุกคนไม่ต้องเรียนดนตรีในห้องเรียน เพื่อเพิ่มเวลาเรียนเรื่องการอ่านและเลข เพื่อให้ผลการทำข้อสอบของเด็กในทั้งสองวิชานี้ดีขึ้น น่าจะนำไปสู่ความบกพร่องทางปัญญาด้านอื่นๆ หรือไม่ และการที่ผลการสอบเรื่องการอ่านและคณิตศาสตร์ดีขึ้นด้วยการไม่ให้เด็กได้มีโอกาสเรียนดนตรีนั้น ได้ไม่คุ้มเสีย หรือไม่

          ในปี 2019 ได้มีงานวิจัยในนักเรียนจำนวน 112,000 คนในบริติช โคลัมเบีย ซึ่งเป็นการทำงานวิจัยขนาดใหญ่มา ซึ่งได้ผลงานวิจัยที่ยืนยันว่า กลุ่มเด็กที่ได้ลงเรียนวิชาดนตรีในโรงเรียนมีผลการเรียนวิชาภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ดีกว่ากลุ่มเด็กที่ไม่ได้เรียนดนตรีในโรงเรียนอย่างมีนัยยะสำคัญ งานวิจัยนี้ทำในเด็กที่เริ่มเข้าเรียนเกรด 1 ในช่วงปี 2000-2003 ซึ่งเด็กเหล่านี้มี 13 เปอร์เซ็นต์ที่ลงเรียนดนตรีอย่างจริงจังในช่วงที่เรียนอยู่เกรด 10, 11 หรือเกรด 12

          เมื่อทำการวิจัยพบว่า เด็กเหล่านี้มีผลการเรียนในวิชาภาษาอังกฤษ เลขและวิทยาศาสตร์ดีกว่าเด็กกลุ่มที่ไม่ได้เรียนดนตรีอย่างเห็นได้ชัด โดยงานวิจัยนี้พบว่า ยิ่งเด็กลงเรียนในวิชาดนตรีและผลการเรียนเรื่องดนตรีได้คะแนนสูง ผลการเรียนของทั้งสามคือวิชา ภาษาอังกฤษ เลขและวิชาวิทยาศาสตร์ ก็จะมีคะแนนสูงตามไปด้วยอย่างมีความสัมพันธ์กัน ไม่ว่าเด็กจะอยู่ครอบครัวที่มีเศรษฐานะอย่างไร เพศไหน หรือมีภูมิหลังทางวัฒนธรรมต่างกันเพียงใด

          ในการทดลองเปรียบเทียบเด็กเล็กที่ได้ทำกิจกรรมประกอบดนตรีอย่างเป็นระบบ เช่น กิจกรรมเข้าจังหวะ กับเด็กที่ไม่ได้ทำ พบว่าเด็กที่ได้ทำกิจกรรมเข้าจังหวะดังกล่าว คือ เด็กได้ฝึกหยุดและทำท่าตามจังหวะเพลง ทำท่าทางประกอบเพลงอย่างต่อเนื่อง และการทำท่าตรงข้ามกับคำสั่งที่บอกนั้น เด็กมีพัฒนาการด้านความยับยั้งชั่งใจ ยั้งคิดก่อนตอบสนองต่อสิ่งเร้า และทักษะความจำเพื่อใช้งานดีกว่าเด็กที่ไม่ได้ฝึกทำกิจกรรมดังกล่าว แม้ว่าจะไม่เห็นผลการเปลี่ยนแปลงอย่างใดในทักษะยืดหยุ่นความคิด การทดลองนี้แสดงให้เห็นว่าการฝึกทำกิจกรรมร่วมกับดนตรีมีผลอย่างมากต่อการพัฒนา EF ในช่วงปฐมวัยที่ละเอียดอ่อน ทำให้สมองส่วนหน้าของเด็กมีทักษะเชิงบริหารจัดการ (Executive Functions: EF) แข็งแรงขึ้นในทักษะพื้นฐานที่เด็กปฐมวัยควรมี นั่นคือ ทักษะความจำเพื่อใช้งาน และทักษะยั้งคิดไตร่ตรอง

          ยังมีการทดลองและค้นพบว่า การฝึกฝนให้เด็กได้เล่นดนตรีตั้งแต่ยังเล็กนั้น มีผลต่อการพัฒนาโครงสร้างของสมองในระยะยาว ในเรื่องของการได้ยิน จังหวะ และการทำงานร่วมกันของระบบประสาทที่ทำงานเกี่ยวกับการเคลื่อนไหว แต่ในเรื่องของความสามารถในการเรียนรู้ไม่ต่างกัน

          นอกจากการเรียนดนตรีที่ควรจัดให้มีการจัดการเรียนการสอนอยางเป็นกิจลักษณะโดยครูดนตรีที่มีคุณภาพในโรงเรียน เพื่อช่วยส่งเสริมสมองให้เด็กเรียนหนังสือได้ดีขึ้น อันที่จริงดนตรีได้ถูกนำมาใช้ในการพัฒนาและบำบัดอย่างแพร่หลายมาแล้วตั้งแต่ทศตวรรษ 1940 มีงานวิจัยจำนวนมากที่รายงานการใช้ดนตรีบำบัดและพัฒนาเด็กที่เป็นออทิสติก เพื่อช่วยเหลือให้เด็กเหล่านี้มีพัฒนาการทางอารมณ์ สามารถควบคุมพฤติกรรมก้าวร้าว พัฒนาความเข้าใจและการใช้การสื่อสารแบบอวจนะภาษา รวมไปถึงทักษะทางสังคม

          อาการทางออทิสติกของเด็กที่มีปัญหาเกิดจากความอ่อนแอของทักษะเชิงบริหารจัดการ (Executive Function: EF) ซึ่งเป็นทักษะที่สำคัญสำหรับการพฤติกรรมที่คิดวางแผนก่อนลงมือทำสิ่งใด รู้จักเรียงลำดับความสำคัญว่าสิ่งใดควรทำก่อน สิ่งใดสามารถลงมือทำที่หลังได้ สามารถควบคุมแรงกระตุ้น ปรับเปลี่ยนตัวเองเมื่อเจอความท้าทายที่ไม่คาดคิด จดจ่อมีสมาธิกับเรื่องที่อยู่ตรงหน้าและสามารถเปลี่ยนมุมมอง ปรับเปลี่ยนวิธีการในระหว่างการทำงานหรือการสนทนาได้

          กระบวนการทำงานของทักษะสมองส่วนหน้านี้ อยู่บนทักษะพื้นฐาน 3 ทักษะ คือ ทักษะยั้งคิดไตร่ตรอง ความจำเพื่อใช้งาน และทักษะยืดหยุ่นความคิด เมื่อทักษะพื้นฐานทั้งสามทำงานได้ดี ทักษะเชิงบริหารจัดการระดับสูงในสมอง เช่น ทักษะการแก้ปัญหาและการคิดเหตุผลก็จะถูกสร้างขึ้นมาและทำได้ดี เด็กที่มีอาการออทิสติกปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปได้ยาก ปรับตัวที่จะยอมรับการเปลี่ยนแปลงไม่ได้ หรือไม่สามารถปรับเปลี่ยนสิ่งที่ตั้งใจไปสู่สิ่งอื่นได้ ทำให้มีความยากลำบากในการดำรงชีวิต และอยู่กับผู้อื่นอย่างมาก

          ถึงเวลาแล้วที่เด็กทุกคนของเราจะได้ใช้ประโยชน์จากการเรียนและเล่นดนตรีอย่างจริงจัง เด็กแต่ละคนควรเติบโตขึ้นมาด้วยการได้รับโอกาสในการเรียนดนตรีสักหนึ่งอย่าง การเล่นดนตรีไม่ได้เป็นเพียงความบันเทิง เพื่อผ่อนคลายในชีวิตประจำวัน แต่ทุกตัวโน้ตที่ถูกบรรเลงออกมา สร้าง สานวงจรประสาทในสมองของเราให้แข็งแรง และทำให้ทักษะสมองชั้นสูงที่เราใช้ในการเรียนรู้ แข็งแรง ส่งเสริมให้เด็กๆเติบโตขึ้นมาเป็นคนคิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาเป็น เรียนรู้เป็น อยู่กับผู้อื่นเป็นและ มีความสุขเป็นในที่สุด


อ้างอิง
• Jiejia Chen and teams, The relationship between early musical training and executive functions: Validation of effects of the sensitive period, https://journals.sagepub.com/doi/abs/10.1177/0305735620978690, First Published January 7, 2021
• Bailey JA, Rhythm synchronization performance and auditory working memory in early- and late-trained musicians, https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/20508918/, May 28,2010
• Michael Greschler, M.Ed., Music and Executive Function, https://smarts-ef.org/blog/music-and-executive-function/, สืบค้น 25 Apritomjacobs
• Tom Jakobs, NEW EVIDENCE OF MENTAL BENEFITS FROM MUSIC TRAINING, https://psmag.com/social-justice/new-evidence-brain-benefits-music-training-83761, 18 June 2004
• Tom Jakobs, A MAJOR NEW STUDY CONFIRMS THE ACADEMIC BENEFITS OF MUSIC EDUCATION, https://psmag.com/education/taking-a-music-course-could-help-students-boost-grades-in-other-subjects, 26 June 2019