การเล่นคือหัวใจของการเรียนรู้ของเด็กเล็ก (ตอนต่อจากเรื่อง Creative Play)

ขณะที่เด็กเล่น พวกเขาเรียนรู้
แต่ที่สำคัญที่สุด ในขณะเล่น เด็กเรียนรู้ว่าจะเรียนรู้อย่างไร

~ O. FRED DONALDSON ~

ตลอดช่วงปฐมวัย การเล่นส่งเสริมพัฒนาร่างกายของเด็ก เพิ่มทักษะการใช้ประสาทสัมผัส การใช้กล้ามเนื้อ และการสำรวจ เด็กๆจะค่อยๆ เสริมความสามารถในการใช้ร่างกายให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ส่วนทางด้านจิตใจ การเล่นเติมเต็มความสุขอย่างยิ่งยวด เสียงหัวเราะ รอยยิ้มและแววตาสดใสเกิดขึ้นตลอดเวลา และแน่นอน การเล่นส่งเสริมทักษะการคิดและการแก้ปัญหาใหม่ๆ ได้ฝึกวางแผน ฝึกเผชิญหน้ากับสถานการณ์ที่หลากหลาย ได้เรียนรู้ความรู้พื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับชีวิต ไม่ว่า เรียนรู้ทางภาษา เรียนรู้การคิดคำนวณ การพัฒนาคอนเซ็ปต์ การเสริมทักษะมือตา ฯลฯ

แต่อีกประการที่สำคัญที่สุดของการเล่นคือ การเสริมทักษะทางสังคม การเล่นบทบาทสมมติ ทำให้เด็กเรียนรู้บทบาททางสังคม รู้จักสร้างมิตรภาพ ต่อรอง ประนีประนอม แก้ไขความขัดแย้ง เรียนรู้ที่จะเห็นอกเห็นใจ และเรียนรู้คุณค่าและมุมมองอื่นๆที่จะเป็นประโยชน์ต่อการใช้ชีวิตต่อไป

การเล่น ยังช่วยให้เด็กรู้จักอารมณ์ และรับมือกับอารมณ์ของตนเอง ช่วยบรรเทาเยียวยาความทุกข์ความเครียดหรือแรงกดดันที่มีในตัวเด็กๆ และเป็นตัวของตัวเองได้ โดยไม่ต้องถูกบังคับกะเกณฑ์ เด็กจะได้ฝึกฝนการตัดสินใจ การใช้จินตนาการ และการกำกับสภาพแวดล้อมของตนเอง การเล่นช่วยพัฒนามุมมองเฉพาะตัวและสไตล์การแสดงออกที่สร้างสรรค์ของเด็กแต่ละคน

ขณะเดียวกันการเล่น โดยเฉพาะการเล่นกับเพื่อนที่แตกต่าง เช่น เพื่อนที่ด้อยโอกาส หรือเพื่อนที่มีความต้องการพิเศษ จะเป็นการเปิดโอกาสให้เด็กได้เรียนรู้ที่จะเข้าใจคนอื่น เห็นอกเห็นใจในความแตกต่าง และเรียนรู้ที่จะช่วยเหลือเกื้อกูลกัน

ดังนั้น จากพลังการเล่นที่มีต่อเด็กดังกล่าวมาข้างต้น เราจำเป็นต้องให้โอกาสการเล่นของเด็กอย่างเปิดกว้าง  เป็นการเล่นแบบปลายเปิด ไม่มีรูปแบบบังคับ ให้เด็กมีอิสระที่จะทดลองไอเดียใหม่ๆ ของตนเองได้เสมอ

ส่งเสริม Creative Play ของเด็ก

ผู้ใหญ่ต้องสะกดกลั้นความรู้สึกของตนเองที่จะไม่ครอบงำวิธีเล่นของเด็ก การเล่นต้องเป็นผลของความคิดและการเลือกของเขาเอง มาจากแรงบันดาลใจของเขาเอง ไม่ใช่ผู้ใหญ่จัดการให้ หรือเอาความต้องการของผู้ใหญ่ไปกำหนด

ผู้ใหญ่เพียงวางเป้าหมายที่จะกระตุ้นให้เขาลองเล่นแบบใหม่ๆ ใช้อุปกรณ์ด้วยวิธีใหม่ๆ ที่ไม่เหมือนเดิม ให้กำลังใจ ให้เขาสนุกกับการเล่น หรือเล่นกับเพื่อน ขยายขอบเขตการเล่นของเด็กด้วยคำถาม  ไม่ใช่การควบคุม   

ตอบรับความคิดใหม่ๆ ของเขา ส่งเสริมให้กำลังใจให้เด็กหาคำตอบ หรือวิธีเล่นที่หลากหลายมากกว่าหนึ่งวิธี

พยายามเลี่ยงของเล่นหรืออุปกรณ์ที่มีเงื่อนไขหรือวิธีตายตัว

ถ้าจะซื้อของเล่น พยายามซื้อของที่ส่งเสริมการคิด จินตนาการ  ควรหลีกเลี่ยงการซื้อของเล่นที่ทำให้เด็กไม่มีโอกาสคิดสร้างสรรค์

ของเล่นหรืออุปกรณ์ควรมีความหลากหลาย เพื่อให้สมดุลในหลายมิติ เช่น ด้านศิลปะ ดนตรี กับ ด้านประดิษฐ์ คิดค้น วิทยาศาสตร์  ด้านการใช้ร่างกาย กับด้านที่ส่งเสริมจิตใจ ของเล่นที่เล่นคนเดียวกับการเล่นเป็นกลุ่ม เป็นต้น

เมื่อเด็กๆ มีไอเดียอยากทำอะไร หากเป็นไปได้พยายามตอบสนอง เสนอแนะวัสดุให้ทันกับจังหวะความความสนใจนั้น


อ้างอิง
-SIR KEN ROBINSON AND LOU ARONICA, CREATIVE SCHOOLS: THE GRASSROOTS REVOLUTION THAT’S TRANSFORMING EDUCATION, 2016
-BEN JOHNSON, 4 Ways to Develop Creativity in Students, HTTPS://WWW.EDUTOPIA.ORG/ARTICLE/4-WAYS-DEVELOP-CREATIVITY-STUDENTS), 2019
-POWER OF CREATIVE PLAY | IMAGINATION.ORG