กิจกรรมพัฒนาทักษะ EF ในเด็ก 7-12 ปี

โดย | 17 พฤษภาคม 2022 | บทความแปล

กิจกรรมพัฒนาทักษะ EF ในเด็ก 7-12 ปี

พ่อแม่ทุกคนต้องการเห็นว่า เมื่อส่งลูกเข้าเรียนในโรงเรียน ลูกจะสามารถเรียนหนังสือได้ดีที่สุดเท่าที่ลูกทำได้ ส่วนมากสิ่งที่โรงเรียนและพ่อแม่ รวมทั้งรัฐบาลที่มีความรู้ไม่พอ พยายามทำคือ เร่งสอนหนังสือและเลขให้เด็กเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่งานวิจัยใหม่ๆ พบว่า การเร่งอ่านเขียนและคิดเลขให้เป็นตั้งแต่เด็กยังเล็กเกิน อาจจะไม่ใช่ทางที่ดีที่สุดที่จะทำให้ลูกๆ และเด็กๆ ของเราประสบความสำเร็จในการเรียนหนังสือ การพัฒนาทักษะสมองส่วนหน้า (Executive Function: EF) ตั้งแต่ยังเป็นเด็กปฐมต่างหากที่จะช่วยให้เด็กมีความสามารถวางแผน แก้ปัญหา และควบคุมตนเองจนเป็นนิสัย จะเป็นรากฐานที่สำคัญในระยะยาวที่จะช่วยให้เด็กคนหนึ่งสามารถประสบความสำเร็จในการเรียนหนังสือ ซึ่งการให้จำและอ่านหนังสือตั้งแต่เล็กไม่ได้ช่วยมากเท่าที่ควร มีงานวิจัยพบว่า เมื่อเด็กขึ้นไปเรียนอยู่ชั้น ป.1-ป.3 เด็กที่ทักษะสมองส่วนหน้า (Executive Function: EF) ที่บกพร่องหรือได้รับการพัฒนาไม่พอในปฐมวัย จะเพิ่มความเสี่ยงมากขึ้นในการอ่านหนังสือ เรียนเลขและวิทยาศาสตร์ได้อย่างยากลำบาก สิ่งแรกที่พ่อแม่ควรทำก่อนลูกอายุ 7 ขวบคือ ไม่เร่งให้ลูกเรียน แต่ให้เล่นอย่างเต็มที่ เพื่อให้โอกาสสมองได้พัฒนาทักษะ EF ต่างๆ อย่างเต็มที่ก่อนเข้าเรียนในชั้นประถมปีที่ 1

สำหรับเด็กในวัย 7-12 ปี ซึ่งเป็นช่วงวัยที่อยู่ระหว่างการเป็นเด็กปฐมวัยกับการเข้าสู่ช่วงเป็นวัยรุ่นตอนต้น  การพัฒนาทางด้านร่างกายและการเรียนรู้เกิดขึ้นอย่างมากในช่วงวัยนี้ ในราวอายุ 7 ขวบเด็กจะมีความสามารถที่จะเพิกเฉยกับข้อมูลที่ไม่เป็นประโยชน์หรือไม่เกี่ยวข้องกับตนได้คล้ายกับผู้ใหญ่ การควบคุมตนเองพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็วไปจนถึงอายุ 8 ขวบ เมื่อเข้าสู่วัยรุ่นตอนต้น เนื้อสมองส่วนสีเทาในสมองส่วนหน้าซึ่งทำหน้าที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการเรื่องต่างๆ เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เนื้อสมองที่เพิ่มขึ้นนี้เองที่ทำให้เด็กในวัยนี้มีทักษะการคิดยืดหยุ่น  ซึ่งเป็นความสามารถในการปรับเปลี่ยนกฎการเล่น เลือกสิ่งที่ดีกว่า ตั้งเป้าหมาย คิดหากลยุทธหรือยุทธวิธีไปสู่เป้าหมาย และยังพัฒนาสามารถพัฒนากลยุทธต่างๆ ของตนให้ดีขึ้นด้วย

ในช่วงวัย 7-12 ขวบนี้ เป็นวัยที่เด็กเริ่มนำเอาตรรกะและเหตุผลเข้ามากำกับนิสัยของตน และเริ่มพัฒนาวิธีการในการแก้ปัญหา และพัฒนาการคิดเชิงนามธรรม เด็กในวัยนี้สามารถเข้าใจความแตกต่างระหว่างเฉดสีที่มีอยู่มากมายของสีแต่ละสี สามารถอธิบาย ประดิดประดอยถ้อยคำบรรยาย ฉายให้เห็นภาพสิ่งที่ตนทำในโรงเรียนหรือเล่นกับเพื่อนได้หลายหลากมากขึ้น ดังนั้นกิจกรรมที่พ่อแม่และครูจะช่วยทำให้ทักษะสมอง EF ของเด็กช่วงวัยนี้แข็งแรงเติบโต สามารถทำได้ด้วยการสนับสนุนกระตุ้นให้ลูกๆ และเด็กนักเรียนในวัยนี้อธิบายหรือทบทวนถึงประสบการณ์ในแต่ละวันที่ตนได้ประสบและลงมือทำงานบางอย่างให้สำเร็จ การปรับเปลี่ยนแผนการหรือวิธีการในการทำงานที่ครูมอบหมาย หรือการเล่นเกมในแต่ละวัน ว่าตนทำอย่างไรบ้าง การทำเช่นนี้สร้างโอกาสให้เด็กได้ตระหนักถึงทักษะที่ตนมี และยังช่วยให้เด็กได้ทบทวนเพื่อทำให้ดีขึ้นไปอีกในคราวต่อไป พ่อแม่เองก็สามารถเล่ากระบวนการที่ตนเองใช้แก้ปัญหาในการงาน หรือในพัฒนาทักษะต่างๆ ของตนให้ลูกได้เรียนรู้ด้วยเช่นกัน

เกมต่างๆ ที่สร้างความท้าทายและทำให้ทักษะสมองส่วนหน้า Executive Function และทักษะการควบคุมตนเองได้รับการฝึกฝนมาตั้งแต่ช่วง 5-7 ขวบ ยังเป็นที่ต้องการสำหรับเด็กในวัยนี้ แต่เมื่อเด็กโตขึ้นย่อมต้องการเกมและกิจกรรมที่ซับซ้อนขึ้น

การ์ดเกมและบอร์ดเกม การ์ดเกม และบอร์ดเกมเป็นเกมที่เด็กในวัยนี้ชอบ ช่วยให้เด็กมีความจำเพื่อใช้งานดีขึ้น การได้วางแผนและกลยุทธในการเล่นช่วยทำให้ความยืดหยุ่นทางความคิดพัฒนา เกมที่เกี่ยวข้องกับการวางกลยุทธในการเล่น เช่น เกมหมากรุกและหมากล้อมหรือโกะ ทำให้เด็กได้ฝึกฝนการคิดที่ซับซ้อนในสมอง ต้องวางแผนการเล่นไปข้างหน้าหลายชั้น ทั้งต้องคอยปรับแผนให้เป็นไปตามที่คิดและตอบโต้ฝ่ายตรงข้าม ต้องอาศัยการทำงานของความจำเพื่อใช้งานและการยั้งคิดไตร่ตรองอย่างมาก

เกมที่ต้องใช้การกำกับและการตอบโต้ที่รวดเร็ว ท้าทายให้เด็กวัยนี้ต้องมีสมาธิ จดจ่อ และตัดสินใจอย่างรวดเร็ว ในเอกสารที่มหาวิทยาลัยฮาวาร์ดเผยแพร่แนะนำเรื่องกิจกรรมต่างๆ ที่พัฒนาทักษะสมองส่วนหน้า EF ของเด็กวัยต่างๆนั้น ได้ระบุว่า เด็กในวัยนี้นอกจากจะชอบเกมที่ซับซ้อนขึ้น ยังชอบเกมที่มีความเป็นแฟนตาซี ซึ่งเด็กต้องใช้ทักษะความจำเพื่อใช้งาน จดจำข้อมูลสถานที่ในโลกแห่งจินตนาการที่ซับซ้อน รวมทั้งกฎกติกาที่ตัวละครในเกมต้องปฏิบัติตาม เครื่องมือและอาวุธที่สามารถใช้ได้ในการเล่นเกมแต่ละรอบ เป้าหมายที่ต้องไป การตัดสินใจและกลยุทธที่ใช้ในเกมแฟนตาซีก็ล้วนหลากหลายและซับซ้อนขึ้น

เกมปริศนาและเกมตอบคำถาม มหาวิทยาลัยฮาวาร์ดได้แนะนำว่า เด็กในวัยนี้เป็นวัยที่อ่านหนังสือได้ไปจนถึงอ่านได้อย่างคล่องแคล่ว สามารถเล่นและสนุกกับการเล่นเกมปริศนาอักษรไขว้ การเล่นเกมปริศนา sudoku ซึ่งเป็นหนึ่งในเกมปริศนาคลาสสิกซึ่งเป็นที่นิยม sudoku เป็นเกมที่ต้องอาศัยตรรกะในการเติมตัวเลขลงไปในช่องว่างที่หายไปของตารางเก้าช่องให้สมบูรณ์ เกมทั้งสองประเภททำให้ทักษะการคิดของเด็กพัฒนาอย่างมาก นอกจากนั้นเกมปริศนาอักษรไขว้ช่วยให้เด็กได้ฝึกฝนคำศัพท์ และเกม sudoku ยังท้าทายเด็กให้ต้องฝึกฝนทักษะด้านคณิตศาสตร์ อีกเกมหนึ่งซึ่งเป็นที่นิยมตลอดกาลของเด็กวัยนี้คือ รูบิก (Rubik) ซึ่งเหมาะกับเด็กวัยนี้มากเช่นกัน เพราะการเล่นเกมนี้เด็กจะต้องใช้ทักษะยืดหยุ่นความคิด พินิจพิจารณาความเป็นไปได้ของการแก้ปัญหารูบิก ต้องจดจำวิธีที่จะถอดรหัสพลิกหมุนให้ตัวเลขแต่ละด้านเรียงกันอย่างถูกต้อง  และเพื่อทำให้ได้ตามเป้าหมายเด็กๆต้องมีกลยุทธ และใช้วิธีการต่างๆเพื่อทำให้สำเร็จ

กิจกรรมทางกาย ทุกครั้งที่เด็กได้ทำกิจกรรมทางกาย เด็กได้ทดลอง ฝึกฝนความสามารถของสมองในการจดจำกฎที่ซับซ้อน และวิธีการต่างๆในการกำกับตนเองและผู้อื่น การตัดสินใจอย่างรวดเร็ว และยืดหยุ่นในระหว่างการเล่น

กีฬาที่ต้องเล่นตอบโต้กัน และเล่นเป็นทีม เป็นกิจกรรมทางกายทางมหาวิทยาลัยฮาวาร์ดแนะนำว่าควรให้เด็กในวัยนี้ได้เข้ามาฝึกเล่น  เด็กในช่วงวัยนี้เป็นวัยที่ชอบเล่นกีฬา ด้วยร่างกายที่สูงใหญ่ขึ้น การได้ควบคุมกำกับการเคลื่อนไหวร่างกายและใช้สมองในการพลิกแพลง ตัดสินใจ และได้โอกาสในฝึกฝนที่จะต้องจดจำกฎกติการการเล่นและกลวิธีการเล่นที่ซับซ้อน มีหลักฐานที่พบว่า กิจกรรมทางกายเช่นกีฬาที่ต้องเล่นเป็นทีม เช่นการเล่น ซอคเกอร์นั้น สามารถพัฒนาทักษะสมองส่วนหน้า (EF) ได้ในทุกมิติ

          การกระโดดเชือกหลากหลายรูปแบบ เป็นการเล่นที่เด็กวัยนี้ชอบกันมาก การกระโดดเชือกไม่ว่าแบบไหน ล้วนทำให้สมองได้ฝึกฝนจดจ่ออยู่กับจังหวะของเชือก และการกระโดด

          การเล่นดนตรี ร้องเพลง และการเต้นรำ เด็กในวัยนี้เป็นวัยที่ควรจะได้ฝึกเล่นดนตรีที่ตนชอบ การเล่นดนตรีไม่ว่าจะเป็นดนตรีชนิดใด ล้วนทำให้เด็กได้ฝึกการกำกับตนเอง ทั้งทางร่างกายและสมองที่จะต้องจำเนื้อเพลง และนำเสนอออกมาตามตัวโน้ตที่จำได้ หรือเป็นการอ่านโน้ตแล้วบรรเลงออกมา การเล่นดนตรีที่ต้องใช้สองมือประสานกันยิ่งทำให้ทักษะสมองส่วนหน้า (EF) ดีขึ้น และแม้ว่าเด็กจะไม่ได้เล่นดนตรีด้วยตนเอง แต่การมีส่วนร่วมในการเรียนดนตรีกับเพื่อนๆในห้อง หรือกับคนในชุมชน ก็มีผลดีกับทักษะสมองส่วนหน้าเช่นกัน เพราะในการร้องเพลง หรือเข้าร่วมในวง สมองของเด็กทุกคนต้องจดจ่อกับจังหวะ เสียงดนตรีและเนื้อเพลง ทำให้เกิดการทำงานประสานกันทั้งทักษะความจำเพื่อใช้งาน การจดจ่อใส่ใจ ยั้งคิดไตร่ตรองและยืดหยุ่นความคิด

          การร้องเพลงพร้อมกันเป็นกลุ่มก็เช่นเดียวกัน ในระหว่างการร้องเพลงนั้นทักษะสมองส่วนหน้าทำงานประสานกันทั้งความจำเพื่อใช้งาน การกำกับตนเองและต้องจดจ่อร้องเพลงออกมาให้พร้อมกับคนอื่นๆ ตอนนี้เองที่ผู้ใหญ่ต้องมีบทบาทหน้าที่ในการสร้างความท้าทายทีละเล็กทีละน้อยอย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอให้เด็กเก่งขึ้น

          การเต้นรำ นอกจากเป็นกิจกรรมทางกายที่สนุกสนาน สวยงาม และสร้างความสัมพันธ์กับคนอื่นๆ แล้ว การเต้นรำก็ไม่ต่างไปจากการเล่นดนตรีหรือร้องเพลง การเต้นรำให้โอกาสสมองพัฒนาการกำกับตนเอง จดจ่อใส่ใจ และความจำเพื่อใช้งาน เวลาที่เต้นรำเด็กจะต้องมีท่าเต้นไว้ในใจ ในขณะที่เคลื่อนไหวตนเองไปพร้อมกับบทเพลง

          จะเห็นว่า การที่เด็กได้เล่น ได้ทำกิจกรรมต่างๆ ดังที่แนะนำมา เด็กได้ถูกโจทย์ กฎ กติกาของเกม กีฬา เพลง ดนตรี ท้าทายความสามารถทั้งทางด้านร่างกาย ด้านการคิด ที่สมองส่วนหน้ากำกับอยู่ทั้งสองด้าน ทำให้ทักษะ EF แข็งแรง ผ่านการทดลอง ทบทวน ครั้งแล้วครั้งเล่าในระหว่างเล่นเกม ในขณะเดียวกัน เด็กได้เรียนรู้ภาษาและคณิตศาสตร์ ซึ่งเป็นทักษะพื้นฐานในการเรียนรู้ศาสตร์วิชาต่างๆ ในการที่จะต่อยอดไปสู่การประกอบอาชีพต่อไปในอนาคต และยิ่งกว่านั้นยังได้ฝึกทักษะการประเมินสถานการณ์ การตัดสินใจ การทำงานเป็นทีม เรียนรู้ผู้อื่น เข้าใจกำลังของตน และพากเพียรทำจนสำเร็จ ผ่านความสนุก เพื่อไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ เพื่อการเป็นคนที่คิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาเป็น เรียนรู้เป็น อยู่กับผู้อื่นเป็น ซึ่งท้ายที่สุดคือการเรียนรู้ที่จะมีความสุขเป็น นั่นเอง

อ้างอิง
Center on the developing child, Harvard University , Enhancing and Practicing Executive Function Skills with Children from Infancy to Adolescence, https://46y5eh11fhgw3ve3ytpwxt9r-wpengine.netdna-ssl.com/wp-content/uploads/2015/05/Enhancing-and-Practicing-Executive-Function-Skills-with-Children-from-Infancy-to-Adolescence-1.pdf , สืบค้น 1 เมย. 2565
• Anubhuti Matta, How To Boost Executive Functioning Skills for Kids Aged 7 to 12, https://theswaddle.com/how-to-boost-executive-functioning-skills-for-kids-aged-7-to-12/, 15 Jan 2019