สมองเด็กในภาวะสงคราม

โดย | 19 พฤษภาคม 2022 | บทความแปล

สมองเด็กในภาวะสงคราม

สมองของเด็กประมาณ 90 % พัฒนาในช่วงอายุ 5 ขวบ นั่นหมายความว่า เด็กคนหนึ่งที่จะเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ จะเป็นคนเช่นไรนั้น ประสบการณ์ชีวิตตั้งแต่เกิดมาถึง 5 ขวบมีบทบาทสำคัญในการกำหนดความสามารถในการเรียนรู้ ทักษะการทำงานของสมองขั้นสูง (Executive Function: EF) สุขภาพทั้งทางกายและใจ รวมทั้งความสำเร็จในชีวิตที่เหลือทั้งหมด เด็กที่เกิดและเติบโตขึ้นท่ามกลางภาวะสงคราม เช่นที่เกิดในยูเครนขณะนี้ หรือเกิดในช่วงสงครามซีเรียและสงครามอื่นๆ ทั่วโลก ต่างมีประสบการณ์ที่เลวร้ายในช่วงต้นของชีวิต ทั้งประสบการณ์ความรุนแรงโดยตรงที่เจอกับตนเอง หรือประสบการณ์ความรุนแรง ยากลำบากที่พ่อแม่ คนในครอบครัวได้รับ โดยเฉพาะประสบการณ์ที่แม่ได้รับแล้วส่งผลมายังตัวเด็กเล็ก ย่อมมีผลต่อชีวิตและการเติบโตของเด็กอย่างลึกซึ้ง

          งานวิจัยพบว่า ผลจากความขัดแย้งของสงครามกระทบต่อสมองของเด็กในเชิงลบอย่างต่อเนื่อง ส่งผลต่อสภาพทางสถาปัตยกรรมของสมองที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างถาวรต่อความสามารถในการเรียนรู้ของเด็ก ความจำ การสร้างปฏิสัมพันธ์ทางสังคม การตอบสนองต่อความกลัวและความกดดันที่ต้องเผชิญ รวมไปถึงความสามารถในการควบคุมอารมณ์ตนเองซึ่งเป็นหนึ่งในทักษะกำกับตนเองของสมองส่วนหน้า (Executive Function: EF)  ในบทความวิชาการที่ปรากฎในเว็บไซต์ขององค์กรการกุศล World  Vision ระบุว่า ประสบการณ์เลวร้ายที่เด็กซีเรียได้รับในสงครามที่ยืดเยื้อนานกว่า 7 ปี จะนำไปสู่สภาพที่คนในรุ่นนี้มีปัญหาสุขภาพจิต และปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมในระยะยาว

          งานวิจัยดังกล่าวได้ทำให้ความเข้าใจผิดแต่เดิมมาเปลี่ยนไป เดิมนั้นเราเข้าใจว่าผลของสงครามกระทบต่อเด็กไม่มากเท่าผู้ใหญ่ เพราะเด็กไม่เข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้น แต่แท้ที่จริงแล้วเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นรอบตัวส่งผลอย่างรุนแรงในกระบวนการรับรู้และเรียนรู้ภายในสมองของเด็ก องค์กร World Vision ได้ทำการสำรวจเก็บข้อมูลเด็กที่อยู่ภายใต้ภาวะสงคราม พบว่าการพัฒนาการตามวัยนอกจากล่าช้า เด็กเหล่านี้ยังมีปัญหาเรื่องความสามารถในการเรียนระดับที่สูงขึ้น รวมไปถึงมีปัญหาเรื่องพฤติกรรม ความรู้สึกผูกพันกับคนอื่น และการอยู่ร่วมกันในสังคม สถานการณ์วิกฤติที่เด็กเหล่านี้ต้องเผชิญ ทำให้สมองส่วนกลางของเด็กตื่นตัวเกินความจำเป็น

          ความเครียดที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน เช่น ความเครียดจากการทะเลาะกับเพื่อน ความเครียดจากการทำการบ้านไม่ได้ เป็นความเครียดที่พอรับได้ แต่ความเครียดจากสงครามเป็นความเครียดที่ผิดปกติ มีความรุนแรงถึงชีวิต และยืดเยื้อยาวนาน และเป็นความเครียดที่เป็นพิษ ในงานวิจัยได้แสดงให้เห็นว่า “ความเครียดที่เป็นพิษ” หรือ “Toxic Stress” ส่งผลร้ายต่อระบบการตอบสนองต่อความเครียดซึ่งถูกกระตุ้นเป็นเวลานานต่อเนื่อง ไม่หยุดหย่อน โดยไม่ได้รับการดูแลและปกป้องจากผู้ใหญ่รอบข้างนั้น ทำให้ฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) ซึ่งเป็นฮอร์โมนความเครียดในสมองเพิ่มระดับสูงขึ้นส่งผลกระทบต่อสมองส่วนฮิปโปแคมปัส (Hippocampus) ซึ่งอยู่ในสมองส่วนระบบลิมบิคหรือสมองส่วนกลาง ทำหน้าที่เกี่ยวกับความจำระยะยาวและการเรียนรู้ ควบคุมพฤติกรรมที่ตอบสนองต่ออารมณ์ การที่ฮิปโปแคมปัสได้ความกระทบกระเทือนทำให้เด็กมีปัญหาเรื่องความจำระยะสั้น การควบคุมอารมณ์ และการเรียน ทักษะจดจ่อใส่ใจ (Concentration) ควบคุมอารมณ์ (Emotional Self-Control) ซึ่งอยู่ในทักษะกำกับตนเองในทักษะสมองส่วนหน้าต่ำ

          ในช่วงอายุของเด็กปฐมวัย วงจรประสาทตอบสนองต่อความเครียดต้องทำงานอย่างหนักและยืดเยื้อ จะส่งผลอย่างถาวรให้วงจรประสาทส่วนนี้ไวต่อความเครียดและความกังวล ซึมเศร้า มีปัญหาเรื่องอารมณ์และพฤติกรรม ซึ่งผลกระทบจากวิกฤติความรุนแรงที่ชีวิตได้รับไม่เพียงส่งผลต่อสมองของเด็ก แต่ยังส่งผลกระทบต่อระบบร่างกาย ทำให้มีปัญหาโรคหัวใจ โรคที่เกี่ยวกับตับและปอดในวัยผู้ใหญ่สูงขึ้นอีกด้วย เซลล์ประสาทในสมองมีสภาพคล้ายกล้ามเนื้อ เมื่อถูกกระตุ้นซ้ำๆ อย่างต่อเนื่องจะมีความแข็งแรง หากไม่ได้ใช้จะค่อยเหี่ยวแห้งตายไปเหมือนต้นไม้ขาดน้ำ สมองที่เติบโตได้ดีจะเกิดจากการกระตุ้นจากสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย ความสัมพันธ์ที่ดีกับพ่อแม่ การมีส่วนร่วมและมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น และการได้รับการศึกษา เรียนรู้ ต้องได้เล่น เรียน ผูกสัมพันธ์กับเพื่อนและคนรอบข้าง มีกิจวัตรประจำวันที่ปลอดภัย ถึงเวลากินได้กิน ถึงเวลานอนได้นอน แต่สงครามได้มอบมรดกที่เลวร้ายฝังไว้ในตัวเด็ก นั่นคือการทำให้เด็กขาดโอกาส และเกิดความบกพร่องในการพัฒนาทั้งในสมอง ร่างกาย และจิตใจ

          สงครามส่งผลกระทบลงมาเป็นลำดับชั้นถึงตัวแม่และเด็ก ที่ไม่สามารถช่วยเหลือและปกป้องตนเองได้

ภาพจาก https://bmcmedicine.biomedcentral.com/articles/10.1186/1741-7015-12-57

ปัญหา “ความเครียดที่เป็นพิษ” ในเด็กระดับโลกนั้น อยู่ในระดับวิกฤติ ในปี 2015 ที่ผ่านมามีเด็กมากกว่า 16 ล้านคนเกิดในพื้นที่ที่มีความขัดแย้งรุนแรง นับเป็นจำนวนเด็กถึง 1 ใน 8 ของโลกต้องใช้ชีวิตท่ามกลางสงคราม มีรายงานว่าในช่วงสงครามภายในของซีเรียที่ดำเนินมายาวนานกว่าหกปีจนถึงปี 2017 มี เด็กชาวซีเรียมากกว่า 3.7 ล้านคนที่เกิดมาช่วงสงคราม ใช้ชีวิตอย่างอดอยาก เด็กจำนวนมากเผชิญทั้งความหนาวสั่นและความหิว ขาดทั้งความรักและการดูแลเอาใจใส่จากผู้ใหญ่ สมองถูกกระตุ้นให้ตื่นผวากับภัยสงครามและการฆ่าฟันตลอดเวลา

          ได้มีความพยายามจัดตั้งโครงการ ปกป้องเด็กผู้อพยพชาวซีเรียและอีกหลายประเทศที่เกิดมาในช่วงภาวะสงครามไม่ให้กลายเป็น “The Lost Generation” หรือเป็นกลุ่มคนรุ่นที่สาบสูญ โดยมีกระบวนการจัดอบรมให้ความรู้เพื่อให้ครูเข้าใจว่า ประสบการณ์ที่เลวร้ายมีผลกระทบต่อการเรียนรู้ของเด็กและการเรียนในโรงเรียนอย่างไร อีกทั้งได้เรียนรู้วิธีที่จะหนุนช่วยและสอนเด็กที่ได้รับผลกระทบจากสงคราม ผลการวิจัยจำนวนมากได้แสดงให้เห็นว่า วิถีทางที่ดีที่สุดในการเยียวยาการเจ็บป่วยจาก “ความเครียดที่เป็นพิษ” ในเด็ก คือการให้ความรู้สึกความมั่นคงปลอดภัย การหนุนช่วยและช่วยเหลืออย่างจริงจัง การสร้างสายใยสัมพันธภาพที่อบอุ่นกับพ่อแม่และบุคคลใกล้ชิดอื่น เช่น ครู ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ที่ช่วยรองรับผลกระทบจากความเครียด ทำให้พัฒนาการตามวัยเป็นไปอย่างสมบูรณ์ขึ้น และกอบกู้ความสามารถให้เด็กล้มแล้ว “ยัง”ลุก ขึ้นมาได้อีก

          ผลกระทบจากสงครามส่งผลต่อเด็กโดยตรง ในขณะที่ความเลวร้ายของสงครามที่แม่ได้รับไม่ว่าจะจากการที่สามีต้องตาย ถูกข่มขืน บาดเจ็บ ความอดอยาก ความเครียด ความกังวล ล้วนส่งต่อมายังเด็กอีกทอดหนึ่งด้วย

ภาพจาก https://bmcmedicine.biomedcentral.com/articles/10.1186/1741-7015-12-57

สงครามความขัดแย้งนั้นทำให้คนบาดเจ็บล้มตาย เจ็บป่วย การอพยพข้ามถิ่นฐาน ทำลายโครงสร้างทางเศรษฐกิจ วัฒนธรรม และส่งผลกระทบยาวนานข้ามรุ่นต่อรุ่น ทั้งเรื่องความรุนแรง ปัญหาทางจิต การติดเชื้อ และภาวะทุพโภชนาการ

ทศตวรรษที่ผ่านมา คนที่ตายในสงครามมากกว่า 90%เป็นพลเรือน เด็กได้รับผลกระทบทันทีอย่างโหดร้าย ส่งผลต่อโครงสร้างทางสมองและสุขภาพทางกายยาวนานไปตลอดชั่วชีวิต และยังส่งต่อผลกระทบนี้ไปยังลูกหลานและสังคมอีกเป็นเวลานาน

อ้างอิง

  • Alison Schafer, Syria’s children – how conflict can harm brain development MONDAY, https://www.wvi.org/experts/article/syria%E2%80%99s-children-%E2%80%93-   how-conflict-can-harm-brain-development, JANUARY 6, 2014
  • https://theirworld.org/resources/safe-spaces-brief-protecting-brain-development-in-emergencies-february-2017-pdf/
  • Delan Devakumarและคณะ, The intergenerational effects of war on the health of children, https://bmcmedicine.biomedcentral.com/articles/10.1186/1741-7015-12-57, April 2, 2014