EF กับการปฏิรูปการศึกษา

โดย | 9 ธันวาคม 2020 | บทความ

เป็นที่ชัดเจนกันนานแล้วว่า ประเทศไทยต้องการการปฏิรูปการศึกษาอย่างยิ่ง และไม่ควรช้า เราพูดเรื่องการปฏิรูปการศึกษามาตั้งกว่า 20 ปีแล้ว ที่ผ่านมา ทุกครั้งที่พูดว่า “ปฏิรูปแล้ว” เราก็จะพบว่า ยิ่งถอยหลัง ยิ่งแย่ลงไป พูดง่ายๆ คือเราเดินผิดทาง ล้าหลังและผิดพลาดอยู่
EF เป็นความเข้าใจว่า สมองทำงานอย่างไร มีผลต่อพฤติกรรมมนุษย์อย่างไร มีผลต่อปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์อย่างไร ในต่างประเทศที่ระบบการศึกษาก้าวหน้าและได้ทำการเชื่อมโยงกับความรู้เรื่อง EF เขาจะใช้คำว่า Socio – Emotional Skill คือ เป็นเรื่องของทักษะอารมณ์และสังคม ทั้งเกี่ยวข้องกับ บุคลิกภาพ (personality) ท่าทีการแสดงออกของคนแต่ละคน และเป็นเรื่องของปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนด้วยกัน

หากเชื่อมโยง EF กับการปฏิรูปการศึกษา ก็จะเห็นได้ชัดเจนว่า EF นั้นเกิดได้ยากในการศึกษาที่เป็นแบบถ่ายทอดความรู้ ครูเป็นผู้บงการหรือเป็นผู้กระทำในห้องเรียน นักเรียนเป็นเพียงผู้รับการถ่ายทอด เป็นผู้ถูกกระทำ หากสภาพการเรียนรู้ในห้องเรียนหรือนอกห้องเรียนเป็นแบบนี้แล้ว จะพัฒนา EF ได้ยากมาก ซึ่งเราสามารถมองเชื่อมโยงตั้งแต่ concept หรือหลักการ, mindset, ซึ่งจะส่งผลไปถึงเทคนิควิธีการจัดการเรียนการสอน รวมไปจนถึงการวัดผลการศึกษาที่มีความล้าหลังด้วย
ขณะนี้เราใช้ O-net เป็นตัววัดผล ทำให้เด็กต้องไปติวเพื่อจะสอบวิชาความรู้ ความจริง วิชาไม่ใช่ของเลว วิชาเป็นพื้นฐานอย่างหนึ่งของการศึกษาหรือของการเรียนรู้ที่ดี แต่เพียงวิชาอย่างเดียว นั้นไม่พอ ที่ร้ายคือ เราหลงผิดไปเน้นเฉพาะวิชาแล้วทิ้งอย่างอื่นไปเกือบหมด จนกลายเป็นว่า ส่วนที่สำคัญกว่าต่อชีวิตมนุษย์ไม่ได้รับการพัฒนาในระบบการศึกษาของเราปัญหาการศึกษาของเราติดกับอยู่ตรงนี้นี่เอง

การปฏิรูปการศึกษาต้องมีความชัดเจนว่า เป้าหมายการศึกษาคืออะไร การเรียนรู้แบบไหนที่ทำให้เกิดการพัฒนาเด็กทั้งตัว ในทุกด้าน เป็น holistic learning เป็น transformative learning แล้วการศึกษามีภารกิจที่จะต้องติดอาวุธหรือเครื่องมือแก่เด็ก เยาวชน ให้พร้อมที่จะไปเรียนรู้ ฟันฝ่าในอนาคต ซึ่งไม่มีใครรู้ว่าจะแปรเปลี่ยนเป็นอย่างไร ให้เขาเป็นคนที่อยู่กับคนอื่นก็เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ไม่เอาประโยชน์ของตัวคนเดียว เข้าใจการอยู่ร่วมกัน และเข้าใจว่าถ้าเรา give สังคมก็จะอยู่ได้ดี สังคมสงบสุข มันก็เป็น take ของเรานี่สิ่งที่ระบบการศึกษาไทย ต้องพัฒนาตัวเอง

เมื่อปลายปี 2562 ที่ผ่านมา มีการประกาศผล PISA (Program for International Student Assessment) ของ OECD (Organization for Economic Co-operation and Development) ออกมา เราก็จะเห็นว่า เด็กอายุ 15 ปี ของเราโดยเฉลี่ย เด็กที่ได้คะแนนสูงมากๆ ของเมืองไทยมีนะครับ ไม่ใช่ว่าไม่มี แต่ว่าน้อยไปหน่อย เฉลี่ยแล้วก็จะเห็นว่า เด็กของเราอ่อนแอในเรื่องวิทยาศาสตร์กับเรื่องคณิตศาสตร์เหมือนเดิม ทั้งที่เราพยายามปรับปรุงเต็มที่แล้ว แต่ไม่กระเตื้อง แสดงว่าวิธีที่เราใช้นั้นยังไม่ถูก ระบบใหญ่ยังไม่ถูก ส่วน reading ลดลงไปอีก ลดลงไปเยอะจนน่าตกใจ ก็แสดงให้เห็นว่าระบบการศึกษาของเราต้องการการ transform เปลี่ยนแปลงอย่างแรง

สื่อชุด พลังสมองเด็กไทย สร้างได้ด้วยพลังชุมชน
ความรู้จากบทสัมภาษณ์ ศาสตราจารย์ นายแพทย์วิจารณ์ พานิช