ความผูกพันในสมองวัยรุ่น

โดย | 2 เมษายน 2022 | บทความ

ปัจจุบัน วิทยาการทางการแพทย์ได้เห็นความเชื่อมโยงของความผูกพันในครอบครัว ที่ส่งผลกระทบอย่างมหาศาลต่อวัยรุ่นคนหนึ่ง ทั้งในเรื่องพฤติกรรมและสุขภาพทั้งทางด้านใจและกาย ในงานวิจัยของไทย วัยรุ่นซึ่งมีปัญหาเชิงพฤติกรรมหรือมีปัญหาทางจิตมีความเกี่ยวพันกับปัญหาครอบครัว ตั้งแต่ พ่อแม่แยกกันอยู่ ตายจากกัน รวมทั้งไม่มีความรักใคร่ผูกพันในครอบครัว อีกทั้งสังคมไทยมีสภาพต่างคนต่างอยู่มากขึ้น ครอบครัวเดี่ยวและมีขนาดเล็กลง อัตราหย่าร้างมีสูงขึ้น

ความรู้สึกผูกพัน (Attachment) เป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ที่รับรู้ถึงความเอาใจใส่ของผู้ดูแลหลักในปฐมวัยซึ่งส่วนใหญ่คือแม่ รู้สึกว่าตนเป็นที่รักและได้รับการยอมรับ เป็นสุข รู้สึกดีต่อตนเองและผู้อื่น ทารกคนหนึ่งจำเป็นต้องสร้างความสัมพันธ์กับคนเลี้ยงหลักอย่างน้อยหนึ่งคน เพื่อเรียนรู้ และเกิดพัฒนาการทางสังคมและอารมณ์ โดยเฉพาะเรียนรู้ในการควบคุมอารมณ์ของตนเอง 

ความผูกพันแน่นแฟ้นของครอบครัวจึงส่งผลต่อความมั่นคงทางอารมณ์และสติปัญญา โดยองค์ประกอบสำคัญในการสร้างความผูกพันไว้ใจ คือ การมีกิจกรรมร่วมกัน ความเข้าใจซึ่งกันและกัน สัมพันธภาพที่ดีในครอบครัว การเผชิญปัญหาร่วมกัน วินัยของครอบครัว การเคารพตนเอง และการยอมรับอัตลักษณ์ของคนแต่ละคน เป็นต้น

 องค์ประกอบที่ได้กล่าวมาเป็น “แม่แบบ”ของพฤติกรรม ซึ่งเป็นกระบวนการที่สมองสร้าง “แบบแผน” ขึ้นจากประสบการณ์ที่เรามี ช่วยให้เราคาดเดาเรื่องราวและสถานการณ์ ว่าเราควรมีวิธีคิด วิธีมอง วิธีปฏิบัติ และมีอารมณ์อย่างไร แม่แบบความผูกพันนี้ เป็นวิธีการที่สมองเรียนรู้และจดจำประสบการณ์ความสัมพันธ์ที่เราได้รับจากผู้อื่น โดยเฉพาะจากพ่อแม่และคนเลี้ยงในตอนที่ยังเด็ก แล้วมาปรับใช้โดยอัตโนมัติแบบไม่รู้ตัว กับชีวิตในทุกวันที่มีความสัมพันธ์กับผู้คน ไม่ว่าจะเป็นเพื่อน ครู คู่รัก ซึ่งมีอิทธิพลต่อชีวิตของเรา

แม่แบบของความผูกพันมีอยู่ 2 แบบใหญ่ๆ คือ
ความผูกพันไว้ใจที่มั่นคง (Secure Attachment)
ความผูกพันไว้ใจที่ไม่มั่นคง (Non-Secure Attachment)

ความผูกพันไว้ใจที่ไม่มั่นคง (Non – Secure Attachment) เกิดจากความสัมพันธ์แบบสับสน คาดเดาไม่ได้ว่าเมื่อใดความต้องการของตนจะมีใครตอบสนอง หรืออาจถูกทำร้ายโดยที่ตนไม่เข้าใจสาเหตุ วัยรุ่นที่มีรากฐานความผูกพันที่ไม่มั่นคง จะสร้างความสมดุลทางอารมณ์ยาก สร้างความสัมพันธ์อันดีกับผู้อื่นยาก เวลาเครียดจะคิดอะไรไม่ค่อยออก ความไม่มั่นคงทางใจทำให้ความรู้ตัวขาดความต่อเนื่อง (Disassociation) สับสนง่าย ทำให้ไม่สามารถรับรู้ความเป็นจริง หรือตีความผิด ไม่เข้าใจตนเองและผู้อื่น ความคิดและการกระทำไปคนละทิศละทาง รู้สึกโดดเดี่ยว ไร้คนเข้าใจ ไร้คนเห็นใจ ซึ่งในที่สุดหัวใจดวงหนึ่งอาจแตกสลายได้

การช่วยให้วัยรุ่นได้มีพื้นที่และโอกาสเรียนรู้ว่า ตนเองคือใคร รู้สึกอย่างไร ทำความเข้าใจและยอมรับตัวตนของตนเอง รู้ความต้องการในชีวิตในขณะที่ต้องมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น เข้าใจประสบการณ์ในวัยเยาว์ สามารถเชื่อมอดีตเข้ามาหาปัจจุบัน เพื่อที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงในอนาคตได้ จะช่วยให้วัยรุ่นที่เคยมีประสบการณ์กับความผูกพันที่ไม่มั่นคง สามารถสร้างแม่แบบความผูกพันแบบมั่นคงขึ้นมาได้

งานวิจัยเปิดเผยว่า ยิ่งคนที่มีปัญหาเรื่องความผูกพันไม่มั่นคง สามารถบรรยายเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับความผูกพันในวัยเด็กได้ เป็นลำดับเวลาและสมเหตุสมผลมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งเข้าใจว่าประสบการณ์ในช่วงแรกของชีวิตมีผลต่อตัวตนของเราในปัจจุบันอย่างไร ซึ่งจะช่วยให้มีพลังที่จะเห็นว่า การเปลี่ยนแปลงในวันนี้ก็จะมีผลต่อชีวิตที่ดีขึ้นในอนาคตได้อย่างไร (การบอกเล่าเรื่องราวต่างๆที่ประสบมาอย่างสับสน สะท้อนความบอบช้ำทางจิตใจ ซึ่งทำให้บริเวณเปลือกสมองเกิดความบกพร่องในการประสานงาน ระหว่างสมองซีกซ้ายที่มีบทบาทในการใช้ภาษาและเหตุผล กับ สมองซีกขวาที่ทำงานเกี่ยวข้องกับอารมณ์) 

วัยรุ่นเป็นวัยที่การเรียนรู้ของสมองมีประสิทธิภาพ ทั้งด้านการประมวลผล และมีความสามารถในการคิดเชิงนามธรรม อีกทั้งเป็นวัยที่เตรียมความพร้อมสู่การเป็นผู้ใหญ่ มีศักยภาพเป็นผู้ลงมือกระทำได้มากกว่าตอนเป็นเด็กที่ต้องพึ่งพาผู้อื่นมาก ความสามารถสร้างสมดุลของความรู้สึก การเข้าใจและยอมรับตนเอง จะช่วยให้สามารถเปลี่ยนแปลงแม่แบบความผูกพัน จากความไม่มั่นคงไปสู่ความผูกพันแบบมั่นคงได้ ทั้งนี้จะทำได้และทำได้ดีอย่างไรนั้น ต้องการผู้ใหญ่เข้ามาสนับสนุน และเป็นผู้ร่วมทางที่ไว้เนื้อเชื่อใจได้ และการที่จะทำให้ผู้ใหญ่สามารถเป็นผู้สนับสนุนที่ดีได้ จำเป็นที่จะต้องจัดการเรียนรู้ให้ครูและผู้ปกครองซึ่งเป็นบุคคลที่เกี่ยวข้องกับวัยรุ่นให้มีความเข้าใจ การพัฒนาและเห็นคุณค่าตัวตน (Self) พัฒนาการตามวัย และการทำงานของทักษะสมองส่วนหน้า (EF) อย่างจริงจัง


อ้างอิง:

          Daniel J. Siegel, M.D.เขียน อิฏฐพร ภู่เจริญ แปล, BRAINSTORM: The Power and Purpose of the Teenage Brain (เปิดสมองวัยว้าวุ่น), สำนักพิมพ์สารคดี, กรุงเทพฯ, 1 ตค. 2559

          ปาล ศรีจันดารี และรังสรรค์ โฉมยา, การศึกษาองค์ประกอบความผูกพันในครอบครัวของวัยรุ่น, มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, 2021