การใช้อำนาจในห้องเรียนกระทบ Self และการเรียนรู้ของเด็ก

การใช้อำนาจในห้องเรียนกระทบ Self และการเรียนรู้ของเด็ก

เมื่อเด็กรู้สึกปลอดภัย อารมณ์สงบ เด็กจะเรียนรู้ได้ดี พัฒนาการดี แต่การจะทำให้ห้องเรียนปลอดภัย ส่วนใหญ่ทำกันเพียงทางด้านกายภาพเท่านั้น เด็กยังไม่รู้สึก “อบอุ่นปลอดภัย” เพราะครูยังใช้อำนาจ ใช้อารมณ์ มากกว่าให้โอกาส เด็กรู้สึกไม่ปลอดภัยเพราะว่าไม่รู้ว่าวันนี้ถ้าเจอครูคนนี้แล้วจะโดนอะไรอีก เมื่อรู้สึกเช่นนี้อารมณ์จะไม่นิ่ง แทนที่สมอง EF ที่จะพัฒนาเป็นทักษะต่างๆ จะทำงาน  กลับเป็นสมองส่วนสัญชาตญาณทำงานเพื่อปกป้องตัวเอง สมอง EF จึงไม่พัฒนา

ในห้องเรียน นอกจากการตี การลงโทษด้วยความรุนแรงแล้ว สิ่งที่เห็นบ่อยๆ คือการทำร้ายด้วยคำพูด ทั้งดุด่า ข่มขู่ พูดประชดประชัน ตั้งสมญานาม หรือแม้กระทั่งเรียกเด็กว่า “นาง” แสดงว่าไม่มีความ “เคารพ” ในตัวเด็กเลย เป็นความรุนแรงที่ครูบางคนไม่รู้สึกว่าเป็นความรุนแรง ทั้งๆ ที่มีผลกระทบต่อ Self หรือตัวตนของเด็กโดยตรง

การทำร้ายด้วยวาจา การใช้สายตาของครู หรือความไม่ยุติธรรมในห้องเรียน ล้วนแต่เป็นการสร้างความรุนแรงในใจเด็กทั้งสิ้น แต่ถ้าครูมีสัมพันธภาพที่ดีกับเด็ก เด็กอาจจะยอมรับได้หากครูใช้คำที่ไม่เหมาะสมบ้าง ล้อเด็กบ้าง เช่น ล้อว่า เตี้ย ดำ แต่ถ้าเพื่อนจำคำพูดของครูไปใช้บ้าง เด็กจะโกรธ รู้สึกถูกรังแก เพราะฉะนั้นไม่ว่าอย่างไรครูก็ไม่สมควรพูดหรือแสดงความรุนแรงไม่ว่าทางใดก็ตาม  

การใช้อำนาจของครูทำให้เด็กไม่รู้สึกปลอดภัย ไม่กล้าพูด ไม่กล้าแสดงออก การที่ครูใช้อำนาจเป็นเพราะครูเองส่วนใหญ่ก็เติบโตมาในโรงเรียนกระแสหลักที่นักเรียนต้องฟังครูเท่านั้น ไม่กล้าพูด เป็นประสบการณ์ที่สะสมมาเรื่อยๆ จนทำให้กลายเป็นคนอ่อนน้อม ประนีประนอมสูง และอาจระเบิดอารมณ์ได้ง่ายเพราะเก็บกด ครูจึงจำเป็นต้องรู้จักอารมณ์ตัวเองก่อน หยุดอารมณ์ตัวเองให้ได้ ไม่ใช้อำนาจกับเด็ก เพื่อจะได้ไปสอนและฝึกทักษะอารมณ์ให้เด็กได้

ส่วนการจะเปลี่ยนครูไปเป็นครูที่ให้โอกาส ครูต้องเข้าใจความรู้สึกเด็ก เชื่อมั่นในตัวเด็ก ในความสามารถของเด็กก่อน เช่นที่โรงเรียนอนุบาลมณีรัตน์ มีหลากหลายวิธีในการเปลี่ยนแปลงครู เช่นพาครูเข้าป่า ให้ใช้ชีวิตในป่าจริงๆ โดยมีอุปกรณ์น้อยมาก แล้วถามครูว่ารู้สึกอย่างไรเมื่อต้องเปลี่ยนมาอยู่ในสภาพแวดล้อมใหม่ มีความเครียด กังวล กลัวหรือไม่ เหล่านี้คือความรู้สึกของเด็กๆ เมื่อจากบ้านมา ทำให้ครูเข้าใจความรู้สึกเด็กก่อน ซึ่งจะทำให้ครูอ่อนโยนนุ่มนวลขึ้น ส่วนการให้โอกาส ครูต้องมีความอดทน รอคอย เพราะถ้าครูไม่อดทนรอ จะไม่เห็นว่าเด็กทำได้ หรือถ้าครูไม่ถามและไม่รอฟังคำตอบของเด็กให้ดี ครูก็จะไม่รู้เลยว่าเด็กคิดอย่างไร

ครูควรมีความรู้เรื่องความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ตามหลักทฤษฎีของมาสโลว์ ซึ่งเป็นแรงขับให้มนุษย์แสดงพฤติกรรมต่างๆ ออกมา เมื่อครูตระหนักเรื่องความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ ครูจะได้ระวังทั้งพฤติกรรมและคำพูดของตัวเองอย่างมากว่าคำพูดนั้นคุกคามความปลอดภัยหรือทำลาย Self ของเด็กหรือไม่

ความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ตามหลักทฤษฎีของมาสโลว์ (Maslow’s Human Basic Needs) เป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนต้องการ หากขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งไป หรือได้รับน้อย จะส่งผลต่อกระบวนการคิด พฤติกรรม การตีคุณค่าของตัวเองอย่างมาก และถ้าไม่ได้รับการตอบสนองความต้องการหรือไม่ประสบความสำเร็จในความต้องการ 4 ขั้นล่าง เด็กจะพัฒนาไปไม่ถึงความต้องการขั้นสูงสุดหรือขั้นที่ 5 นั่นคือการรู้ว่าตัวเองมีคุณค่าและมีชีวิตอยู่อย่างมีคุณค่า

ความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ 5 ขั้น ได้แก่

1. ความต้องการด้านร่างกายหรือด้านกายภาพ (Physiological Needs) เป็นความต้องการขั้นพื้นฐานของมนุษย์ทุกคนเพื่อให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ ซึ่งได้แก่ปัจจัย 4 ถ้าไม่มีหรือขาดไป จะส่งผลถึงพฤติกรรมทันที

2. ความต้องการด้านความมั่นคงปลอดภัย (Safety Needs) เด็กต้องการความมั่นคงปลอดภัยทั้งทางกายและวาจา จึงต้องการครอบครัวหรือห้องเรียนที่อบอุ่น ปลอดภัยมั่นคง ไม่ถูกทำร้ายทั้งทางกาย วาจา มั่นใจได้ว่าครูหรือพ่อแม่จะไม่มีอารมณ์ขึ้นๆ ลงๆ

3. ความต้องการความรัก ความเป็นคนสำคัญ (Belongingness and Love Need) มนุษย์ต้องการเพื่อน ครอบครัว คนรัก ความรัก ความเป็น “ส่วนหนึ่ง” คำว่า “ความรัก” ค่อนข้างเป็นนามธรรม เด็กเล็กๆ อาจยังไม่เข้าใจ ผู้ใหญ่จึงต้องทำให้เด็กรู้สึกให้ได้ว่าได้รับความรัก เป็นที่รัก

4. ความต้องการเกียรติยศชื่อเสียงและความภาคภูมิใจ (Self- Esteem Need) เมื่อมนุษย์ได้รับการตอบสนองความต้องการด้านกายภาพ ความปลอดภัย ความรักแล้ว จะเริ่มมีความต้องการอีกขั้นคือความก้าวหน้าและการยอมรับในคุณค่าของตนจากคนรอบข้าง ต้องการการยกย่องชมเชย ต้องการที่จะนับถือตนเอง เห็นคุณค่าของตนเอง เชื่อมั่นว่าตนเองมีความรู้ความสามารถ ประสบความสำเร็จได้

5. การตระหนักในตัวตน (Self-Actualization Needs) เป็นความต้องการขั้นสูงสุดที่มนุษย์น้อยคนจะไปถึงได้ เพราะยังก้าวข้ามไม่พ้นจากความต้องการ 4 ขั้นแรก ความต้องการนี้มาสโลว์อธิบายว่า เป็นความต้องการและความปรารถนาที่มนุษย์จะใช้ความสามารถและศักยภาพที่มีในการสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ 

หากเราตระหนักถึงความต้องการของมนุษย์ดังกล่าวแล้ว ก็จะตระหนักว่าเด็กซึ่งเป็นมนุษย์คนหนึ่งย่อมมีความต้องการเช่นนี้เช่นกัน ครูและพ่อแม่ควรใส่ใจตอบสนอง สนับสนุน ส่งเสริมให้เด็กได้รับในสิ่งที่มนุษย์ต้องการ หรือทำให้คิดทบทวนได้ว่าในการดูแลเด็กของเรายังขาดหรือมีวิธีการอะไรที่ผิดพลาดไปบ้างหรือไม่


ความรู้ชุด “ดูแลเด็กยุคโควิด” โดย สถาบัน RLG (รักลูก เลิร์นนิ่ง กรุ๊ป)
ผาณิต บุญมาก เรียบเรียง
ภาวนา อร่ามฤทธิ์ บรรณาธิการ