ผมมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร

โดย | 3 เมษายน 2022 | บทความ

ภาพครอบครัวคนชั้นกลางที่ดูอบอุ่นมั่นคง มีชีวิตตามครรลอง มีลูกชายกำลังจะเข้าวัยรุ่น เรียบร้อย เรียนดี อยู่ในมาตรฐานที่ดีของสังคม  เพราะมีพ่อแม่ ดูแล กำกับ เอาใจใส่ ใกล้ชิด อบรมสั่งสอน จัดการให้แต่ละย่างก้าวของลูกไปสู่ความสำเร็จ เพื่อไปประกอบอาชีพที่ได้เงินดี มีความมั่นคง และเป็นที่ยอมรับในสังคม

          แต่ภาพถัดๆ มา..กลับไม่เป็นไปตามหวัง

ในความทรงจำของลูก คือฉากที่พ่อแม่คุยกันถึงอนาคตการทำงานของลูก พ่ออยากให้รับราชการ แม่อยากให้เป็นวิศวกร ลูกชายคนเดียวเป็นหน่อของความหวังของพ่อแม่ที่ปลูกไว้ในใจลูกมาตั้งแต่เล็ก กับคำที่พ่อปลูกฝังเสมอว่าต้องเป็น “คนดี” พ่อมักชวนลูกดูหนังด้วยกัน แล้วก็พร่ำสอนให้ลูกเห็นว่าทุกตัวละคร “ดี” หรือ “ไม่ดี” อย่างไร ในวัยประถมลูกรู้สึกมีความสุขที่ได้อยู่กับพ่อ และรับคำพร่ำสอนทุกอย่างที่พ่อให้ ครั้งหนึ่งตอนเรียนชั้นประถม ลูกต่อยเพื่อน พ่อบอกผิดหวัง เตือนและสั่งสอนไม่ให้ทำอย่างนั้นอีก ลูกไม่ได้บอกพ่อว่า ที่ไปต่อยเพื่อนเพราะเข้าไปช่วยเพื่อนผู้หญิงที่ถูกรังแก ลูกก็ไม่รู้ว่าทำไมไม่อธิบายเรื่องราวให้พ่อฟัง …มันเป็นความเคยชิน พ่อเป็นคนบอกให้เขาทำอย่างนั้น อย่างนี้ เขาเป็นลูกมีหน้าที่ฟังและทำตาม พ่อมีหน้าที่สอน ลูกก็ทำตามในสิ่งดีๆที่พ่อสอน เท่านั้นก็เพียงพอ

อีกอย่าง บรรยากาศของบ้านที่ไม่คุยกัน หากไม่มีอะไรเป็นเรื่องที่จำเป็น ทุกคนทำตามหน้าที่ของตนไปให้ดีที่สุด พ่อแม่ทำงาน ดูแลความเป็นอยู่ของลูก ลูกมีหน้าที่เรียน ก็เรียนให้เก่ง งานบ้านหรืออะไรที่นอกเหนือจากการเรียน ไม่มีความจำเป็นอะไรจะต้องช่วยพ่อแม่

ลูกจบมัธยมต้นด้วยคะแนนดีพอที่จะไปเรียนต่อชั้นมัธยมปลายในเมืองใหญ่ โดยไปอาศัยอยู่กับครอบครัวของลุง ที่ตัวลุงเองก็ไม่ค่อยได้กลับบ้าน การออกไปสู่โลกใบใหญ่ที่ไม่คุ้นเคย ไม่มีใครเป็นเพื่อน ทำให้วัยรุ่นคนนี้คิดถึงบ้านทุกวัน และในเมืองใหญ่ที่เวิ้งว้าง หลายต่อหลายครั้งเขาหลงทิศหลงทางระหว่างทางไปโรงเรียน กับ บ้าน  แล้ววันหนึ่งระหว่างทางกลับบ้าน เขาเจอเพื่อนนักเรียนชั้นเดียวกันถูกรุมซ้อม จึงเข้าไปช่วย

เรื่องมันไม่ได้จบลงเพียงนั้น แม้ว่าจะช่วยกันออกมาได้

เขาจะต้องถูกอีกฝ่ายเอาคืนแน่ที่ “แส่” เข้าไปช่วย

จะคุยกับใครได้ นอกจากคนสองคนที่ผ่านเป็น ผ่านตายมาด้วยกัน

ยิ่งพ่อแม่ที่บ้านไม่ต้องพูดถึง นอกจากเรื่องที่ถูกสั่งและสอนให้เป็น “คนดี” เรื่องขี้หมูราขี้หมาแห้งไม่เคยเล่าสู่กันฟัง เรื่องอย่างนี้ ลูกที่ไหนจะกล้าเล่า

แล้วเขาก็ได้ปืนจากเพื่อน “ป้องกันตัวไว้ มันเอานายตายแน่”

วันที่พ่อมาเยี่ยมแล้วเจอปืนเข้า จากที่เคยรู้สึกว่าต้องกระเสือกกระสนทุกวันเพื่อเป็น “คนดี” ตามมาตรฐานของพ่อ …ทุกอย่างพังพินาศ เป้าหมายที่ต้องการไปถึง หลุดลอยไปไกลจนรู้สึกเอื้อมไม่ถึง แต่กับเพื่อนโดยเฉพาะแกงส์เพื่อนในโลกใบใหม่ เขาได้พิสูจน์หลายครั้งว่าเขากล้าหาญ ได้รับการยอมรับ และเขาเป็นคนดวงดี …มันมีความสุข

แต่สามัญสำนึก บอกเขาว่าทางที่กำลังเดินไป มันไม่ใช่ และเขาต้องการจากออกมา

แต่มันยาก…

“มึงจะออกก็ได้ แต่มึงต้องทำงานนี้ให้กู” “ครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้ายนะพี่ ผมจะไม่อยู่แล้ว”

เหยื่อที่โดนรุมซ้อมจมกองเลือด เพราะถูกกล่าวหาว่าทรยศ จะต้องตายด้วยประกาศิตลูกพี่ที่มอบหมายให้เพื่อนของเขายิง แชะ!ไกถูกลั่น แต่ลูกปืนไม่หลุดออกไป “เอ้า ที่นี่ตามึง เอามันให้ตาย” เขารับปืนมา ใจสั่น แต่ในวินาทีที่ตัดสินใจเหนี่ยวไกปืนไปที่เหยื่อซึ่งร้องขอชีวิตนั้น เขาก็คิดเหมือนวัยรุ่นทั่วไปว่า หนังชีวิตเรื่องนี้เขาเป็นพระเอก เขาต้องดวงดีเหมือนกับที่เป็นมา เขาเสี่ยงแต่เขาก็จะรอด กระสุนต้องด้านอีกครั้ง

แต่มันไม่เป็นเช่นนั้น…. 

ในวันที่ถูกตัดสินจำคุกในคดีฆ่าคนตาย เขารู้สึกตัวเองเป็นผ้าขี้ริ้วผืนหนึ่งที่ถูกทิ้งลงไปในกองขยะ ไร้ค่า น่าขยะแขยง

ชีวิตทั้งชีวิตเหมือนดับวูบลง

ครอบครัวที่ “อบอุ่นแต่อึดอัด” เป็นรูปแบบหนึ่งของครอบครัวที่ผลักเด็กออกไปสู่ความเสี่ยงของวงจรอาชญากรรมและยาเสพติด เมื่อเข้าช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการเป็นวัยรุ่นที่มีภูมิคุ้มกันไม่เพียงพอที่จะรอดจากปากเหยี่ยวปากกาไปได้

ครอบครัวที่ “อบอุ่นแต่อึดอัด” มักตั้งความหวังกับลูกสูง ขีดทาง ตีกรอบให้ลูกเดิน เมื่อสำรวจลงไปจะเห็น Fix Mindset ที่เห็นลูกเป็น “ผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป”ที่พ่อแม่เคี่ยวเข็ญสร้างให้ดี ให้สำเร็จตามมาตรฐานสังคมหรือความต้องการของพ่อแม่ สิ่งที่ตามมา ครอบครัวแบบนี้ไม่ให้โอกาสลูกได้คิดเอง เป็นตัวของตัวเอง ลูกต้องเดินตามทางที่ถูกขีดไว้ และในโรงเรียนเด็กก็ได้แต่ท่องอ่านเขียน จำเพื่อไปสอบให้ได้คะแนนดีๆ เผื่อจะไปสู่อนาคตดีๆในวันข้างหน้า

 ปัจจุบันเด็กดีในครอบครัวเช่นนี้มีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ที่ไปต่อไม่ถึงฝันของพ่อแม่ ในขณะที่สังคมซับซ้อน กว้างใหญ่ ตัวใครตัวมัน มีทั้งโอกาสและหลุมพลางที่พ่อแม่ไม่สามารถตามไปดูแลได้เหมือนเมื่อยังเด็ก เด็กที่เติบโตขึ้นเป็นวัยรุ่นที่ไม่เป็นตัวของตัวเอง ไม่รู้ว่าตนเองต้องการอะไรนอกจากทำตามผู้อื่น หรือ Self ต่ำ จึงตกหลุมพรางมากกว่าจะได้คว้าโอกาส

Self คือการเห็นคุณค่าของตน รู้ว่าตนเองต้องการเป็นใคร ต้องการใช้ชีวิตอย่างไร จะมีอาชีพอะไร มีเป้าหมายอะไรที่ตนเองต้องการบรรลุ ไปจนถึงการแสวงหาความหมายของการมีชีวิตอยู่ของตน เป็นแก่นแกนของชีวิตให้มีความเข้มแข็งเป็นตัวของตัวเอง ธรรมชาติของช่วงวัยรุ่นเป็นวัยที่เตรียมเข้าสู่การเป็นผู้ใหญ่ ต้องการแสวงหาอัตลักษณ์ของตน แต่เด็กที่อยู่ในครอบครัว “อบอุ่นแต่อึดอัด”มีแต่พื้นที่ความฝัน ความต้องการ มาตรฐานของพ่อแม่ที่บีบคอหอยลูกด้วยความรัก ความห่วงใยและปรารถนาดี แต่ไม่เข้าใจธรรมชาติและความเป็นจริงของชีวิตและโลก จนกลายเป็นการผลักไสวัยรุ่นไปสู่ปากเหวอย่างไม่รู้ตัว

 เด็กในบ้านที่ “อบอุ่นแต่อึดอัด” ไม่มีใครฟัง ไม่ถูกกระตุ้นให้คิด แต่ต้องรับฟังคำสั่ง คำสอน ความทักษะสมองส่วนหน้าหรือ EF (Executive Function) ซึ่งเป็นทักษะการคิดขั้นสูงที่จำเป็นต่อการไปให้ถึงเป้าหมาย ไม่ได้ทำงานจึงไม่แข็งแรง

 ทักษะสมองส่วนหน้าหรือ EF (Executive Function) เป็นความสามารถในการคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ และนำประสบการณ์เดิมมาประเมินสถานการณ์ใหม่ และตัดสินใจเลือกทำบางอย่างซึ่งอยู่ตรงหน้าเพื่อมุ่งไปสู่เป้าหมาย ให้สามารถเรียนรู้ ลงมือทำ จนเกิดความสำเร็จ ความสุข และอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้  สมองส่วนหน้าที่ทำหน้าที่บริหารจัดการชีวิตในช่วงวัยรุ่นนี้ยังไม่สมบูรณ์จนกว่าถึงอายุประมาณ 25 ปี นั่นหมายความว่า  สมองยังไม่สมบูรณ์ หากซ้ำด้วยการไม่ได้ฝึกฝนมาแต่เล็ก ก็จะไม่สามารถทำหน้าที่ได้ดี

การตัดสินใจในวินาทีเมื่อถึงทางเลือกจึงมักจะผิดพลาดได้ง่าย อีกทั้งการตัดสินใจพลาดในแต่ละครั้ง ก็อาจจะนำพาไปเจอวิกฤติที่ใหญ่ยิ่งกว่า ตัดสินใจยากยิ่งกว่า พลาดง่ายขึ้น ทางเลือกหรือทางออกตีบตันลง หายนะหนักขึ้น จนถึงจุดที่ไม่มีทางออก

ความหมายของบ้าน คือฐานที่มั่นสำคัญที่สุด ซึ่งลูกจะได้เรียนรู้ฝึกฝน ทักษะ EF วันละเล็กละน้อยตั้งแต่ยังเล็ก เหมือนหยอดกระปุกออมสินแห่งประสบการณ์ดีเอาไว้  เพื่อให้สามารถดึงเอามาใช้งานในสถานการณ์ใหม่ๆ ได้  

เป็นหน้าที่ของพ่อแม่ที่ต้องลงมือทำ สร้างบ้านที่ทุกคนได้พูดคุย มีเวลาให้แก่กัน ในบรรยากาศที่ “พูดและฟังกัน” พ่อแม่ยินดีรับฟังทุกเรื่องของลูก โดยไม่รีบตัดสินผิดถูก ให้ลูกรู้ว่าบ้านเป็นพื้นที่ปลอดภัย ผ่อนคลาย ที่เขาจะเรียนรู้ ลองถูกลองผิด และพ่อแม่รับฟังเขาเสมอ ลูกจะกล้าเล่าทุกเรื่องและเข้ามาปรึกษาหารือเมื่อเขาทำบางอย่างที่พลาดพลั้งไป

สมองของมนุษย์ทำหน้าที่สำคัญคือการบริหารจัดการให้ชีวิตอยู่รอดปลอดภัย สมองส่วนกลางที่พัฒนาการมาสมบูรณ์ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เป็นสมองส่วนที่ต้องการความปลอดภัยของชีวิต เมื่อสมองส่วนนี้ได้รับการเติมเต็ม คือ อิ่มในความรัก และความไว้วางใจว่าไม่ถูกทำร้ายหรือลงโทษ จะเปิดทางให้สมองสวนหน้าได้ใช้ทักษะเชิงบริหาร (EF: Executive Function) คือ คิดหน้าคิดหลัง คิดไกล คาดการณ์ผลที่จะตามมาได้ และหาวิธีการแก้ไข ลงมือทำ แม้ว่าจะพบความยากลำบากเพื่อไปสู่เป้าหมายที่ตนตั้งไว้

วัยรุ่นนั้น วันหนึ่งก็ต้องพ้นจากอกพ่อแม่ มีเรื่องยากๆมากมายที่ต้องผจญด้วยตนเอง พ่อแม่ที่เข้าใจพัฒนาการของวัยและการทำงานของสมอง จะเข้าใจว่าหน้าที่ของพ่อแม่คือ ให้ความรัก ไว้วางใจลูก เป็น”นั่งร้าน”ที่ประคับประคองให้เขาได้เรียนรู้ เหมือนกับตอนที่เขาหัดเดิน เราไม่ได้สอนเขาว่าต้องเดินอย่างไร ยกขาหรือทรงตัวอย่างไร  หากแต่ธรรมชาติของวัยเป็นแรงขับให้ลูกของเราพยายามเดิน ลุกเดินได้เมื่อล้ม พ่อแม่เพียงดูอยู่กับเขาตรงนั้น ให้กำลังใจ ปลอบโยนเมื่อล้ม แล้วเขาก็จะพยายามเดินด้วยตนเองต่อไป จนเดินได้คล่องแคล่ว

ในวัยรุ่นก็เช่นกัน ให้โอกาสลูกได้ฝึกปรือการคิด คิดถูกบ้าง ผิดบ้าง นอกกรอบบ้าง ในกรอบบ้าง ลงมือทำ ทำถูกบ้าง ผิดบ้าง ได้บ้าง ไม่ได้บ้าง แล้วเรียนรู้จากประสบการณ์จนชำนาญ และเกิดหลักคิดจากข้อสรุปที่ที่ชัดเจน  พอถึงวันหรือวินาทีที่เขาต้องเผชิญเรื่องยากๆก็จะมีวิทยายุทธพอจะต่อกร เอาตัวรอด หรือชนะมาได้ และหากเขาทำไม่ได้ ยังมีบ้านให้กลับมาซบอก หรือเป็นที่ปรึกษาหารือ แล้วเขาก็จะออกไปสู้ใหม่ เหมือนตอนเป็นเด็กที่ล้มแล้วก็อยากลุกขึ้นมาเดินต่อ

การมี Self และทักษะสมองส่วนหน้า (EF: Executive Function)ที่ผ่านประสบการณ์การเรียนรู้ที่ดี ตามพัฒนาการของวัย จะทำให้สมองและหัวใจวัยรุ่นทำหน้าที่ได้เต็มที่ ทุกทางเลี้ยวที่ต้องเผชิญ วัยรุ่นจะเลี้ยวไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ นั่นคือการพาชีวิตไปสู่เป้าหมายที่ตนเองวาดหวังไว้

วามสำเร็จและความสุขของลูกไม่ใช่หรือ คือสิ่งที่พ่อแม่ต้องการ

(ขอบคุณบทเรียนจากชีวิตหนึ่ง ในศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนบ้านกาญจนาภิเษก )