“รู้ตน” ช่วยวัยรุ่น EF ดี

โดย | 3 เมษายน 2022 | บทความ

กระบวนการทำงานของสมองซับซ้อน และอาศัยการเชื่อมประสานกันระหว่างสมองหลายส่วนที่ทำหน้าที่แตกต่างกันไป ในขณะที่สมองบริเวณท้ายทอยกำกับการทำงานระบบพื้นฐานของร่างกาย ตั้งแต่ระบบหายใจ ระบบย่อยอาหาร การสืบพันธุ์ อุณหภูมิรวมทั้งการทรงตัวของร่างกาย สมองส่วนกลางทำหน้าที่เกี่ยวกับความจำและอารมณ์ สมองส่วนหน้าทำหน้าที่ขั้นสูงสุด คือการคิดและบริหารจัดการชีวิต (Executive Function: EF) ซึ่งมีทักษะต่างๆที่ทำงานร่วมกันและเชื่อมโยงการทำงานกับสมองส่วนอื่น ในการกำกับอารมณ์ ความคิด การกระทำ เพื่อไปบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้

คนที่มีทักษะสมองส่วนหน้าหรือทักษะEF ดี จะเป็นคนที่คิดเป็น ทำเป็น เรียนรู้เป็น แก้ปัญหาเป็น อยู่กับผู้อื่นเป็น และมีความสุขเป็น งานวิจัยจำนวนมากพบว่า คนที่มี Executive Function ดีจะประสบความสำเร็จในชีวิต การงาน สุขภาพและความสัมพันธ์กับผู้อื่น

          ส่วนประกอบที่สำคัญเรื่องหนึ่งสำหรับพ่อแม่ ครูและสังคมที่ต้องการพัฒนาทักษะสมองส่วนหน้าของเด็กและเยาวชน จำเป็นต้องเข้าใจ คือ การให้โอกาสเด็กได้ “เห็น” ตนเอง เข้าใจความต้องการของตนเอง และได้ “ตอบสนอง”เป้าหมายและความต้องการตนเอง จะเป็นพื้นฐานสำคัญในการส่งเสริมทักษะสมองส่วนหน้าได้พัฒนาอย่างเต็มที่ นำไปสู่ความสามารถในการรับผิดชอบต่อตนเองและ “ตระหนักในคุณค่า”ของตนเองในที่สุด

          ธรรมชาติของเด็กที่เกิดมาทุกคนมีความต้องการพื้นฐานของชีวิตและความต้องการเฉพาะ ในตอนที่ยังเป็นทารก เด็กแสดงความต้องการออกมาผ่านการร้องไห้ และแสดงอาการต่างๆซึ่งพ่อแม่และคนเลี้ยงจะเข้าใจว่า เด็กหิว เจ็บ มีความสุข ด้วยการสังเกตแล้วตอบสนองต่อความต้องการที่เกิดขึ้นเหล่านั้น เมื่อโตขึ้นเด็กก็จะถูกสอนให้บอกความต้องการของตนผ่านภาษาและการสื่อสาร แล้วเด็กๆค่อยเรียนรู้มากขึ้น จนเมื่อเข้าสู่ระบบโรงเรียน เด็กต้องปรับตัวว่าความต้องการของตนนั้นต้องมีจังหวะจะโคน ตนเองมีเวลาที่แน่นอนในการกิน นอน เล่น และเรียนตามหลักสูตรที่ถูกกำหนดไว้

          เด็กและวัยรุ่นเติบโตขึ้นมาในระบบโรงเรียนและสังคม ที่สอนให้จัดการกับเรื่องราวต่างๆที่เกิดขึ้นตรงหน้า เช่น เมื่อเป็นนักเรียน ต้องเรียนตามหลักสูตรที่ถูกกำหนดไว้ ไม่ว่าตนเองจะชอบหรือไม่ ต้องเรียนรู้ว่าจะเรียนอย่างไรให้ได้คะแนนดี ฯลฯ ตามมาตรฐาน ความคาดหวังของสังคม ระบบ และคนรอบข้าง เด็กและวัยรุ่นของเราส่วนใหญ่จึงเติบโตขึ้นมาโดยมีโอกาสน้อยมากในการบอกว่า ตนเองเป็นคนแบบไหน อยากจะรู้อะไร อยากเรียนรู้แบบไหน ต้องการเรียนอย่างไรเพื่อให้ตนเองมีความเข้าใจเรื่องที่กำลังเรียนได้มากที่สุด

เด็กที่พยายามบอกความต้องการของตนเองที่ต่างไปจากคนอื่น มักจะถูกมองว่ากำลังก่อกวน หรือขัดขวางนักเรียนคนอื่นในการเรียนรู้ การถูกครูดุเมื่อถามสิ่งที่ตนอยากรู้ หรือถูกตำหนิเมื่อแสดงออกถึงความต้องการของตนเอง ทำให้เด็กส่วนมากเรียนรู้อย่างรวดเร็วว่า การแสดงออกถึงความต้องการของตนเองที่มีความแตกต่างออกไปนั้น ครูและเพื่อนไม่ชอบ และต่อจากนั้นมักจะไม่ทำอย่างนั้นอีก ซึ่งครูและสังคมก็เห็นว่า เป็นเรื่องที่ดี เพราะเด็กควรอยู่ในกรอบและระเบียบที่วางไว้

          ระบบการศึกษาที่เป็นอยู่ของเราคือ ระบบอุตสาหกรรม ที่ผลิตคนออกมาทำงานในยุคศตวรรษที่ผ่านมา ซึ่งต้องการให้คนทำงานร่วมไปกับเครื่องจักรในการผลิตสินค้า ระบบการประเมิน หลักสูตรจึงมีความตายตัว จึงเป็นการยากสำหรับครูที่ต้องการส่งเสริมให้เด็กได้พบ และเรียนตามเป้าหมายและเรื่องที่ตนสนใจ เพราะเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายเลยในการจัดการ

สิ่งที่ควรเป็นเพื่อส่งเสริมให้เด็ก โดยเฉพาะวัยรุ่นในช่วงอายุตั้งแต่สิบสองไปจนถึงยี่สิบห้า ได้รู้ว่าตนชอบอะไร ต้องการเรียนอะไร ไปเพื่ออะไร จึงจำเป็นต้องเริ่มต้นที่การสร้างระบบนิเวศของการเรียนในโรงเรียน ที่เอื้อต่อการพัฒนาทักษะสมอง EF ด้วยการมีวิชาพื้นฐานเท่าที่จำเป็น เช่น ภาษา คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ส่วนที่นอกเหนือจากนั้นคือการทำแบบ Project – Based Learning , Problem – Based Learning เพื่อท้าทายให้นักเรียนเรียนรู้ด้วยการลงมือทำ และค้นคว้า บูรณาการศาสตร์ต่างๆเข้ามาแก้โจทย์ที่ตนสนใจ

          อย่างไรก็ตาม ในข้อจำกัดที่เป็นอยู่ของระบบในปัจจุบัน ครูสามารถเริ่มลงมือสนับสนุนให้ลูกศิษย์ได้รู้จักตนเอง ความต้องการเรียนของตนเองได้ทันที ด้วยวิธีการง่ายๆคือ

          การตั้ง “คำถาม” ปลายเปิดให้เด็กได้มีโอกาส สะท้อน ตนเองออกมา เช่น

  • ในหัวข้อที่ฉันต้องเรียน  ฉันอยากรู้เรื่องอะไรมากที่สุด

ในโรงเรียนที่ใช้นวัตกรรมจิตศึกษา (เครือข่ายโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา) เช่น ในวิชาวิทยาศาสตร์ ซึ่งเรียนเรื่องอากาศ ครูจะให้นักเรียนได้บอกว่า เรื่องอากาศนี้ตนเองอยากรู้อะไรมากที่สุด เด็กบางคนอาจจะสนใจเรื่องมลพิษ PM 2.5 เด็กบางคนสนใจเรื่องออกซิเจน เด็กบางคนสนใจเรื่องการลอยบอลลูนในอากาศ ว่าทำได้อย่างไร ฯลฯ ความสนใจที่หลากหลายของเด็กในห้อง ทำให้ความรู้ในเรื่องที่ต้องเรียนกว้างขวางหลากหลายขึ้นทันที และครูก็ได้เปลี่ยนบทบาทของตน เป็นผู้อำนวยหรือ Facilitator ให้นักเรียนได้ค้นคว้าเอาสิ่งที่ตนสนใจมานำเสนอและเรียนรู้ในห้องกัน เมื่อความสนใจของนักเรียนมารวมกัน ก็ทำให้ข้อมูลความรู้เรื่องอากาศนั้นครอบคลุมกว้างขวางและน่าสนใจกว่าการให้ครูมายืนบรรยายตามหนังสือไม่กี่หน้า

อย่าลืมว่า เราอยู่ในยุคที่ข้อมูลต่างๆค้นคว้าได้ง่ายเพียงปลายนิ้ว

  • ฉันจะเรียนเรื่องนั้นอย่างไร

เด็กบางคนเรียนได้ดีผ่านประสบการณ์ตรง บางคนเรียนได้ดีผ่านการฟัง บางคนวาดเป็นภาพแล้วเข้าใจมากกว่า บางคนชอบอ่าน บางคนชอบดู การให้เด็กได้เรียนรู้ด้วยวิธีการที่ตนถนัด ทำให้เรียนได้ดีขึ้น

  • ฉันสามารถทำอะไรบ้าง เพื่อให้ฉันเรียนได้ดีขึ้น สนุกขึ้น

คำถามนี้ส่งเสริมให้นักเรียนโดยเฉพาะช่วงวัยรุ่นได้เรียนรู้ เปิดมุมมองและตระหนักถึงความสามารถในการลุกขึ้นมารับผิดชอบต่อความต้องการของตนเอง

  • สิ่งที่ฉันสามารถ “สนับสนุนตัวเอง” ทำให้ฉันได้เรียนอย่างที่ฉันต้องการคืออะไร

เป็นโจทย์หรือคำถามที่สนับสนุนให้เกิดการคิด แล้วเลือกที่จะลงมือทำ สร้างเงื่อนไขหรือปัจจัยเพื่อให้ไปสู่เป้าหมาย พัฒนาทักษะปฏิบัติของสมองส่วนหน้า EF ในเรื่องริเริ่มลงมือ วางแผนจัดการและพุ่งเป้า

           การที่พ่อแม่และครูถามความต้องการของเด็ก โดยเฉพาะวัยที่เริ่มเข้าสู่วัยรุ่น หรืออยู่ในระหว่างเป็นวัยรุ่น จะช่วยให้เด็กและวัยรุ่นได้ค่อยๆเรียนรู้ ที่จะเข้าใจว่า ตนเองต้องการอะไร ชอบอะไร อีกทั้งรู้ว่า มีสิ่งใดที่ตนรู้ และสิ่งใดที่ตนไม่รู้ในเรื่องที่ตนอยากเรียน ทำให้ได้สำรวจเรียนรู้ตนเอง

สมองที่เรียนรู้เข้าใจตนเอง จะสามารถเชื่อมโยงความเข้าใจต่อคนอื่นได้ด้วย ว่าต่างมีความต้องการพื้นฐานที่เหมือนกัน ขณะเดียวกันทุกคนก็มีความแตกต่าง และต้องการการตอบสนองที่แตกต่างกัน ทำให้เกิดวุฒิภาวะ อันหมายถึงความสามารถในการยับยั้งชั่งใจ ควบคุมอารมณ์ความต้องการและการแสดงออกของตนเองได้ด้วยตนเอง

          วุฒิภาวะของวัยรุ่น แสดงออกด้วยการตระหนักถึงโลกและคนที่อยู่รอบตัว และแสดงออกหรือจัดการผ่านการไตร่ตรอง ในตอนที่ยังเล็กเด็กคนหนึ่งสนใจแต่เรื่องของ “ตนเอง” ว่ารู้สึกอย่างไร เมื่อเติบโตขึ้น การมีปฏิสัมพันธ์ มีประสบการณ์ชีวิตมากขึ้น จึงค่อยเข้าใจว่านอกจาก “ตนเอง”แล้วยังมี “คนอื่น” ในโลกรอบตัว และโอกาสที่ได้รู้ว่า “ตน” มีความต้องการอย่างไร มีเป้าหมายอะไร ได้สะท้อนออกมาผู้อื่นรับรู้ ได้รับการตอบสนอง

ทำให้วัยรุ่นที่เติบโตขึ้นมาได้ตระหนักถึง “ตัวตน”ของตนเอง เห็นคุณค่าของตนเอง (Self) ซึ่งเป็นรากฐานที่สำคัญยิ่งในการเปิดสมองส่วนหน้าให้ทักษะเชิงบริหารจัดการชีวิต (EF) ทำงานได้อย่างเต็มที่ พร้อมไปกับการตระหนักถึงคนอื่น และปรับตัวจัดความสัมพันธ์กับโลกรอบตัวได้อย่างเหมาะสมด้วย


อ้างอิง

-Marydee Sklar, 50 TIPS to Help Students Succeed, Paperback, February 12, 2014