วัยรุ่นติดเบรก

โดย | 2 เมษายน 2022 | บทความ

วัยรุ่นติดเบรก ทักษะสมอง EF: ยับยั่งชั่งใจ

ในการเติบโตขึ้นมาเป็นวัยรุ่นนั้น สมองส่วนกลาง (Limbic System) ซึ่งทำงานร่วมกันในการรับรู้เกี่ยวกับอารมณ์ พฤติกรรม ความทรงจำ การตอบสนองต่อการได้รับรางวัลและการถูกลงโทษ จะสมบูรณ์เต็มที่แล้วตั้งแต่อายุราว 13  ปี 

แต่สมองส่วนหน้า (Prefrontal Cortex) ซึ่งเป็นสมองส่วนการคิดชั้นสูง มีทักษะพื้นฐาน การจำเพื่อใช้งาน การยับยั้งชั่งใจ และการยืดหยุ่นความคิด รวมทั้งทักษะการกำกับตนเอง และทักษะปฏิบัติยังไม่สมบูรณ์จนกว่าจะอายุประมาณ 25-26 ปี

ดังนั้น วัยรุ่นจึงเป็นช่วงเวลาของวัยที่ว้าวุ่นอยู่ระหว่างสงคราม ที่สมองส่วนกลางและส่วนหน้าตะลุมบอนกัน ท่ามกลางสภาวการณ์ที่ฮอร์โมนเพศก็เข้ามาทำงานเต็มที่ รวมทั้งพัฒนาการชีวิตที่ช่วงวัยนี้ต้องการการยอมรับจากเพื่อน บวกกับความกดดันด้านการเรียน สิ่งเร้ารอบข้างและสังคมที่เปลี่ยนแปลงผันผวนอย่างรวดเร็ว

การศึกษาทางประสาทวิทยาเปิดเผยถึง การทำงานของสมองส่วนกลางที่สมบูรณ์ของวัยรุ่น ซึ่งตอบสนองต่อสิ่งเร้าอย่างรวดเร็ว ทำให้เสพติดง่าย กล้าได้กล้าเสีย ไม่คิดหน้าคิดหลัง แปรปรวนง่าย ขณะเดียวกันเรียนรู้เรื่องราวต่างๆได้อย่างรวดเร็ว สนใจความเป็นไปของสังคมรอบข้าง ตื่นตัวที่จะเข้าร่วม และต้องการเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่ประสบความสำเร็จ

ในการทดลองหนึ่งซึ่งเป็นที่รู้จักกันทั่วโลก คือการทดลองที่เรียกว่า Marshmallow Test ของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ที่นักวิจัยนำขนมมาร์แมลโลว์ใส่จานวางไว้ตรงหน้าเด็กโดยบอกว่า “หนูอยากจะกินตอนนี้เลยก็ได้นะ แต่ถ้ารอได้อีก 15 นาที หนูจะได้เพิ่มเป็น 2 ชิ้น” ในการทดลองมีทั้งเด็กที่ไม่สามารถยั้งใจได้ ซึ่งจะหยิบขนมมากินทันที กับเด็กอีกส่วนหนึ่งที่ยั้งใจได้และได้รับมาร์ชแมลโลว์สองชิ้นตามสัญญา

          ทีมวิจัยได้ติดตามเด็กทั้งสองกลุ่มนี้ไปอีก 15 ปี พบว่าคะแนนสอบ SAT: Reasoning Test (ข้อสอบมาตรฐานทดสอบการใช้เหตุผล เพื่อรับนักเรียนเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัย) ของเด็กเหล่านี้สะท้อนผลแตกต่างกันอย่างมีนัยยะสำคัญ เด็กที่อดทนยั้งใจได้มีคะแนน SAT เฉลี่ยสูงกว่าเด็กที่ยั้งใจไม่ได้ถึง 125 คะแนน แสดง “ความสามารถในการข่มใจต่อปัจจุบันเพื่ออนาคต”

              จากการติดตามยังพบว่า ความสามารถในการยับยั้งชั่งใจนั้น เชื่อมโยงกับสุขภาพ เด็กที่ควบคุมตัวเองได้ดีจะมีน้ำหนักตัวเฉลี่ยน้อยกว่าคนที่ควบคุมตนเองไม่ได้ดี เนื่องจากเด็กที่มีความสามารถในการยับยั้งชั่งใจ ควบคุมตนเองตั้งแต่ยังเด็ก จะเป็นคนที่มีวินัยในตนเอง ซึ่งจะกลายเป็นนิสัยที่ติดตัวไปจนโต

          ทักษะยั้งคิดไตร่ตรอง (Inhibition) เป็นทักษะ EF พื้นฐานในการควบคุมตนเอง เพื่อไปบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ ทักษะนี้ทำให้มีความสามารถยั้ง หยุด พฤติกรรมได้ โดยอาจเป็นฐานหรือทำงานร่วมกับทักษะสมอง EF อื่นๆ  เช่น การจดจ่อใส่ใจ (Focus/Intention) การควบคุมอารมณ์ (Emotional Control) และการติดตามประเมินตนเอง( Self Monitoring))

          ตัวอย่างที่เห็นเด่นชัด คือนักกีฬาที่ประสบความสำเร็จ ล้วนมีเบื้องหลังการฝึกซ้อมที่เข้มข้น มีวินัย อดทนต่อการทำซ้ำ ซ้ำอย่างต่อเนื่อง ยาวนาน ซึ่งสะท้อนความสามารถในการจัดการตนเอง ที่ต้องผ่านประสบการณ์ที่ล้มเหลว การทบทวนตนเอง สกัดบทเรียนจากความล้มเหลว และอดทนฝึกฝน เรียนรู้

ความสามารถในการจัดการตนเอง (Self Control) เป็นความสามารถหรือทักษะที่ต้องฝึกฝนจากการลงมือปฏิบัติอย่างจริงจัง

          ทักษะยั้งคิดไตร่ตรองของสมองส่วนหน้า นอกจากสะท้อนออกมาเป็นพฤติกรรมและบุคลิกภาพของคนมีวินัย อดทน มีความเพียร ไม่วอกแวกต่อสิ่งเร้าที่เข้ามากระตุ้นแล้ว ยังช่วยให้เป็นคนที่คิดก่อนพูด คุมสติ อารมณ์ สามารถรับมือกับเรื่องต่างๆในชีวิตประจำวันได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะในวัยที่ฮอร์โมนพลุ่งพล่านเช่นวัยรุ่น ทักษะยั้งคิดไตร่ตรองที่ได้ฝึกฝนมาตั้งแต่ปฐมวัย บนฐานที่ได้รับความรัก จะช่วยให้ผ่านภาวะวัยรุ่นไปได้ค่อนข้างราบรื่น

          Eco-System หรือระบบนิเวศคือสภาพแวดล้อมสำคัญที่ส่งผลต่อการพัฒนาของเด็ก ระบบนิเวศที่ใกล้ชิดวัยรุ่นในยุคปัจจุบัน คือ เพื่อน พ่อแม่ ครู ชุมชน และสังคมโดยเฉพาะสังคมออนไลน์ ดังนั้น บุคคลสำคัญที่มีบทบาทในระบบนิเวศ และจำเป็นต้องมีความเข้าใจเป็นอันดับแรก คือ พ่อแม่ ผู้ปกครองและครู ที่จำเป็นต้องมีความรู้เข้าใจพัฒนาการตามวัย การเห็นคุณค่าในตนเอง การทำงานของสมองทักษะสมองส่วนหน้า EF ในวัยรุ่น แล้วใช้ความรู้ ความรักและความเข้าใจทั้งหมดนี้ ทำตัวหรือเปลี่ยนแปลงตัวเองเป็นแบบอย่างให้วัยรุ่นเรียนรู้ ซึมซับ

            ปลอกไมอีลีนที่หุ้มเซลล์ประสาทส่งออก (Axon) ในสมองซึ่งหนาขึ้นมาก ทำให้การสั่งการจากสมองเป็นไปอย่างรวดเร็ว ยิ่งทำให้วัยรุ่นหุนหันพลันแล่นได้มากกว่าวัยอื่นๆ ระบบนิเวศที่ดีจะทำให้การทำงานของสมองที่เร็วขึ้นนั้น ได้ฝึกฝนและเกิดประโยชน์ในทางที่ดีมากขึ้น ตรงข้ามกับระบบนิเวศน์ที่ขัดขวาง ยิ่งทำให้สิ่งที่เกิดในวัยรุ่นเป็นอันตรายได้อย่างมาก

เราปรับระบบนิเวศรอบตัววัยรุ่นในเรื่องใดได้บ้าง

บ้าน สร้างบรรยากาศของบ้านที่ใส่ใจ รับฟัง ยอมรับในความคิดความอ่าน  อารมณ์ที่พลุ่งพล่าน รวมทั้งความพลาดพลั้งที่สามารถเกิดขึ้นได้ เป็นพื้นฐานสำคัญในการสร้างความรู้สึกเห็นคุณค่าในตนเองของวัยรุ่น  เปิดทางให้สมองส่วนหน้าทำหน้าที่ได้ดีขึ้น ประสบการณ์ที่ดีจากการได้รับความรัก ความเข้าใจ จะเป็นสายใยเหนียวแน่นช่วยให้วัยรุ่นมีความสามารถยับยั้งชั่งใจได้ดีขึ้น โดยเฉพาะยามหน้าสิ่วหน้าขวาน การชื่นชมความพยายามของวัยรุ่น เป็นพลังให้เกิดความภาคภูมิใจในตนเอง และช่วยให้ปรับตัวเข้ากับคนอื่นได้ดี

 สร้างและรักษาจังหวะเวลาในบ้าน ตั้งแต่เวลาตื่น กิน นอน และเวลาที่ใช้ร่วมกันให้เป็นเวลา รวมทั้งการบริหารจัดการเวลาที่ต้องรับผิดชอบงานส่วนตัว เช่น การเรียน การทำงานบ้าน รวมไปถึงการดูแลเอาใจใส่กันและกัน

 สร้างสำนึกของการลงมือทำ การจะได้สิ่งใดมาต้องลงแรง ขวนขวายหามา สิ่งใดที่ลูกต้องการมากกว่าพื้นฐานที่ควรได้รับ ควรต้องเสาะแสวงหาด้วยตนเอง เช่น การทำงานพิเศษเพื่อเก็บเงินซื้อ

โรงเรียน  เราจำเป็นต้องมี “โรงเรียน” ที่จัดการเรียนการสอนผ่านการลงมือทำ (Active Learning) ด้วยงานโครงการที่ใช้ระยะเวลา และทำงานเป็นทีม  เพื่อให้เด็กได้มีโอกาสแสดงตัวตนผ่านการงานที่เขาเป็นผู้ริเริ่ม  ได้มีโอกาสปะทะสัมพันธ์กับเพื่อนในวัยเดียวกัน ตั้งเป้าหมายร่วม แบ่งปันมุมมอง โต้แย้งตามข้อมูลหรือความคิดของตน และหาทางออกหรือสร้างข้อสรุปร่วม การเรียนผ่านการลงมือทำจะทำให้เด็กได้ฝึกฝนตนเองให้รักการทำงาน ไม่กลัวความเหนื่อยยาก ไม่กลัวงานหนัก แต่ร่วมมือกับเพื่อนไปบรรลุเป้าหมายที่ตั้งร่วมกันให้ได้

การทำงานร่วมกันเป็นทีม จะหล่อหลอมให้วัยรุ่นเรียนรู้การจัดวางความสัมพันธ์ที่ยุติธรรม เอื้อเฟื้อ ไม่แข่งขันเอาเป็นเอาตายจนไร้เพื่อน

นอกจากนี้ การได้สะท้อนการเรียนรู้ และประเมินตนเองเพื่อการพัฒนาอย่างสม่ำเสมอ ก็จะช่วยให้วัยรุ่นเข้าใจตัวเงอลผู้อื่น มองเห็นโอกาสพัฒนาปรับปรุงตนเองได้ชัดขึ้น

ชุมชน เราจำเป็นต้องสร้าง “ชุมชน” ที่ให้โอกาสวัยรุ่นได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการทำงาน “จิตอาสา” เพื่อผู้อื่น อาจเป็นกิจกรรมของโรงเรียน หรือชุมชน การมีประสบการณ์การทำงานร่วมกับผู้อื่น การได้สัมผัสปัญหาที่เป็นจริงในโลกกว้างที่อยู่รอบตัว และการได้เห็นโลกที่มีคนอื่นอยู่มากมาย  จะช่วยให้วัยรุ่นได้คิด ได้ไตร่ตรอง ได้เกิดสำนึกที่ไปพ้นจากประโยชน์ของตนเองฝ่ายเดียว เรียนรู้ที่จะพัฒนาชีวิตที่มีคุณค่าและมีความหมาย ตอบโจทย์ตนเองได้ว่า “เกิดมาทำไมในโลกนี้”

นอกจากนี้ ยังได้ฝึกทักษะในการทำงานและอยู่ร่วมกับผู้อื่นโดยที่ตนเองไม่ได้เป็นศูนย์กลาง เมื่องานระดับชุมชนสำเร็จ ก็จะเป็นเสียงชื่นชมที่นำมาซึ่งการเสริมพลังคุณค่าในตนเอง ทำให้การตัดสินใจของวัยรุ่นที่จะเดินไปตามเส้นทางแยก ที่นำไปสู่ความเป็นผู้ใหญ่ที่มีเหตุผล ก็จะชัดเจนขึ้น ตรงกันข้าม หากไม่มีโอกาสเรียนรู้โลกกว้าง  โลกที่วัยรุ่นเห็นอาจจะมืดมัว ไม่เข้าใจและตัดสินจไปสู่เส้นทางที่ผิดได้ง่ายขึ้น

สังคม เราจำเป็นต้องสร้าง “สังคม” ที่เปิดกว้างทางความคิดและใช้ปัญญา เพื่อเป็นเวทีเรียนรู้โลกและชีวิตของวัยรุ่น ให้พื้นที่แก่วัยรุ่นในการฝึกฝนการคิด หาเหตุผล ถกคิด อภิปราย รับฟังกันโดยไม่รีบตัดสิน ประณาม ยอมรับความแตกต่างด้วยความอดทน เมตตา ไม่ลงโทษ ไม่ใช้ความรุนแรง ช่วงวัยรุ่นเป็นช่วงที่เขาสามารถคิดได้กว้างขึ้นและสูงขึ้น ไม่ใช่การคิดตามสภาพวัตถุที่เห็น หรือคิดในระดับเอาตัวรอดเท่านั้น หากมีพื้นที่ที่เอื้ออำนวย วัยรุ่นก็จะสามารถก้าวพ้นระดับเอตัวรอดและความพึงพอใจ ไปสู่ขั้นการใช้เหตุผลและการเสียสละอุทิศตนได้อย่างน่าประทับใจ

เมื่อผู้ใหญ่เราเข้าใจการเชื่อมโยงระหว่างทักษะยับยั้งชั่งใจกับระบบนิเวศทางสังคม (Social Eco-System) แล้ว สิ่งที่ผู้ใหญ่สามารถทำได้ทันทีคือ ยับยั้งชั่งใจตนเอง ไม่รีบพูดสั่งสอน แต่รับฟังเรื่องราว บริบท ด้วยใจเปิดกว้าง เท่ากับได้ทั้งเป็น Eco-System ที่ดี และเป็นแบบอย่างที่ดีให้วัยรุ่นได้เรียนรู้และฝึกยั้งคิดไตร่ตรอง


อ้างอิง:

 -Dr. Mireya Nadal-Vicens and Dr. Gene Beresin, The Adolescent Brain: Why Executive Function in Teens is a Challenge, https://www.beyondbooksmart.com/executive-functioning-strategies-blog/,Feb 06, 2017

– คิมรันโด: เขียน วิทิยา จันทร์พันธ์: แปล, เพราะเป็นวัยรุ่นจึงเจ็บปวด (Youth, it’s painful), สำนักพิมพ์ springbooks, กรุงเทพมหานคร, พิมพ์ครั้งที่ 42 ตุลาคม 2563

-ดร.โจอาคิม เดอ โพซาด้า, เอลเล็น ซิงเกอร์, “Don’t Eat The Marshmallow…Yet! The Secret to Sweet Success in Work and Life” (หยุด…อย่ารีบกินมารช์มาลโลว์ แล้วคุณจะประสบความสําเร็จทั้งงานและชีวิต)