โควิด-19 ก็กลัว…EF ก็ต้องฝึก เอาไงดี

โควิด-19 ก็กลัว…EF ก็ต้องฝึก เอาไงดี

สถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในตอนนี้ถือว่าเริ่มคลี่คลายไปในทางที่ดีบ้างแล้วนะครับ จากการที่ยอดผู้ป่วยรายใหม่ภายในประเทศเริ่มลดลง รวมไปถึงการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ของทางภาครัฐ ที่ทำให้พวกเราเริ่มสามารถกลับไปใช้ชีวิตที่ใกล้เคียงกับสมัยก่อนหน้าที่จะมีการระบาดของโรคได้บ้าง แต่อย่างไรก็ดี ก็ยังต้องถือว่าสถานการณ์การระบาดยังไม่ได้จบลงซะทีเดียว พวกเราคงยังต้องระมัดระวังตัวกันต่อไปอีกสักพัก ด้วยความคาดหวังว่าทุกอย่างจะดีขึ้นกว่านี้ในปีหน้า

ในส่วนของเด็กๆ ตอนนี้คุณพ่อคุณแม่หลายๆ ท่านก็คงเริ่มส่งลูกๆ กลับไปใช้ชีวิตที่โรงเรียนแล้ว ซึ่งหมอก็ขอเดาว่าท่านทั้งหลายก็คงรู้สึกโล่งใจที่ลูกจะได้เรียนหนังสืออย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยซะที แต่บางครั้งก็อดหวั่นๆ ไม่ได้ว่า ลูกๆ ของเราจะติดเชื้อจากโรงเรียนกลับมาบ้านหรือเปล่า หมอเองก็กังวลเช่นเดียวกันกับผู้ปกครองทุกท่านเหมือนกันครับ แต่ก็ต้องยอมรับสถานการณ์ในขณะนี้ว่าเราคงทำอะไรไม่ได้มากนัก ไหนๆ ก็ไหนๆ แล้ว เราถือโอกาสเอาเรื่องโควิด-19 มาเป็นเครื่องมือในการฝึกทักษะสมอง EF ให้ลูกๆ ของเราดีไหมครับ

ตามที่ทุกท่านคงได้ทราบแล้วว่าทักษะสมอง EF มีการพัฒนามากในช่วงวัยเด็กเล็ก และพัฒนาต่อเนื่องไปจนถึงวัยเรียน วัยรุ่น และเสร็จสิ้นในวัยผู้ใหญ่ตอนต้น โดยกระบวนการของ EF ที่มีการพัฒนามากในช่วงปฐมวัย (ช่วงอนุบาล) กับวัยเรียน (ช่วงประถมศึกษา) จะเป็นกระบวนการพื้นฐาน 3 ด้าน อันประกอบไปด้วย ความจำใช้งาน ความยับยั้งชั่งใจ และความยืดหยุ่นในกระบวกการคิด ดังนั้น การฝึก EF ในช่วงวัยนี้ ก็ควรจะเน้นที่กระบวนการดังกล่าวให้มีความมั่นคง เพื่อเป็นรากฐานสำหรับการพัฒนาทักษะสมอง EF ในขั้นสูงต่อไป ซึ่งหากนำมาประสานกับเรื่องการป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ก็สามารถทำได้ดังต่อไปนี้ครับ

การส่งเสริมความจำใช้งานกับการป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 สามารถทำได้โดยการร่วมกันกำหนดสิ่งที่ลูกๆ ต้องทำเมื่อกลับถึงบ้าน โดยอาจจะกำหนดเป็นข้อตกลงหรือกติกาของบ้าน อันนี้หมอลองทำเล่นๆ ได้เป็นกติกา 4 ข้อที่เด็กๆ จะต้องจำให้ได้ เช่น ล้างมือทุกครั้งเมื่อถึงบ้าน / เปลี่ยนเสื้อผ้าทุกครั้งเมื่อเข้าบ้าน / ไม่หยิบของกินด้วยมือ / ทิ้งหน้ากากอนามัยในถังขยะที่กำหนด โดยการกำหนดแบบนี้จะเป็นการฝึกให้เด็กจำกติกาของบ้าน และยังเป็นกระบวนการในการป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ที่สำคัญอีกด้วย โดยข้อตกลงหรือกติกาเหล่านี้อาจจะมีการปรับให้เหมาะสมตามอายุของเด็ก กิจกรรมที่โรงเรียน และสภาพของบ้านได้ด้วยครับ

การพัฒนากระบวนการยับยั้งชั่งใจกับการป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ก็สามารถกระทำได้สอดคล้องกับการกำหนดกติกาของบ้านให้กับเด็กๆ นั่นคือการพยายามให้เด็กทำตามกติกาหรือข้อตกลงของบ้านอย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ เพราะการทำตามกติกาดังกล่าว ต้องอาศัยความอดทนต่อความหิว หรือความไม่สะดวกสบาย เพื่อทำทุกอย่างตามกติกาให้เสร็จก่อน จึงถือเป็นการฝึกความอดทน และความยับยั้งชั่งใจไปในตัวครับ โดยประเด็นสำคัญคือ การทำอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง เพื่อให้ติดเป็นนิสัยที่ดีของตัวเด็กต่อไปครับ

ส่วนของการเพิ่มศักยภาพด้านความยืดหยุ่นในกระบวนการคิด ก็สามารถทำได้โดยให้ลูกๆ กับคุณพ่อคุณแม่มาร่วมกันหาวิธีป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ในบ้าน ซึ่งก็คือการกำหนดกติกาหรือข้อตกลงในบ้านนั่นเอง โดยลูกๆ อาจจะนำเสนอวิธีการใหม่ๆ ที่สะดวกกว่าเดิม ในการป้องกันการติดเชื้อจากโรงเรียนหรือที่ทำงานของคุณพ่อคุณแม่มายังที่บ้านได้ ซึ่งบางทีอาจจะเป็นวิธีการที่ผู้ใหญ่อย่างเราๆ คิดไม่ถึงก็เป็นได้ โดยการมาร่วมกันคิดวางแผนจะเป็นการฝึกสมองในการแก้ไขปัญหาได้เป็นอย่างดี และนำไปสู่ความหลากหลายของความคิดและไอเดีย ที่เด็กๆ จะได้เรียนรู้ต่อไปครับ สิ่งสำคัญคือ อย่าลืมให้คำชมเชยเมื่อเด็กได้เสนอแนวทางแก้ไขปัญหา และพยายามหลีกเลี่ยงคำตำหนิ หรือการบอกปัดสิ่งที่เด็กเสนอ เพราะจะทำให้เด็กไม่กล้าเสนอความเห็นของตัวเองในครั้งต่อๆ ไปครับ

ดังนั้น จะเห็นได้ว่า ถ้าพวกเราเอาโจทย์ของโควิด-19 เป็นตัวตั้ง ก็สามารถนำเอามาประยุกต์ใช้ในการส่งเสริมทักษะสมอง EF ได้ด้วยเช่นกันนะครับ เพราะทักษะสมอง EF เป็นเรื่องที่สามารถทำได้ง่ายๆ ด้วยสิ่งต่างๆ หรือเรื่องราวต่างๆ ที่อยู่รอบตัวเรา หมอขอเป็นกำลังใจให้ทุกครอบครัวผ่านสถานการณ์ที่ยากลำบากนี้ไปด้วยกันนะครับ