การนอนหลับกับการพัฒนาสมองและ EF

การนอนหลับกับการพัฒนาสมองและ EF

โดยปกติแล้ว เดือนมิถุนายนมักจะเป็นเดือนแห่งการเปิดภาคการศึกษาของเหล่านักเรียนและนักศึกษา เป็นเดือนแห่งความแปลกใหม่กับสภาพแวดล้อมที่แตกต่างไปจากการอยู่บ้าน ความสนุกในการได้พบปะกับเพื่อนๆ รวมถึงความกังวล (บ้าง) ในการได้เจอกับคุณครูประจำชั้นคนใหม่ แต่ในปีนี้ ซึ่งกำหนดการเปิดภาคเรียนอย่างเป็นทางการยังไม่แน่ชัดว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไรในหลายพื้นที่ของประเทศ ทำให้บรรยากาศการเปิดภาคการศึกษาในปีนี้ดูจะแปลกไปพอสมควรนะครับ หวังว่าทุกอย่างจะค่อยๆ กลับมาเป็นปกติในเร็ววัน เพื่อให้การเรียนรู้ของเด็กๆ สามารถเกิดขึ้นได้อย่างเหมาะสมต่อไปครับ

เมื่อพูดถึงช่วงเวลาของการเปิดภาคการศึกษา สิ่งหนึ่งที่มักจะพบได้บ่อยๆ ในช่วงเปิดภาคเรียนก็คือ รถติดหนักมาก ทำให้เด็กๆ มักจะต้องตื่นแต่เช้าเพื่อมาโรงเรียน ทำให้ระยะเวลาการนอนหลับไม่เพียงพอ หรือแม้แต่ในตอนนี้ที่ยังไม่ได้ไปเรียนที่โรงเรียน แต่เป็นการเรียนออนไลน์ ก็พบว่าเด็กๆ หลายคนก็มีปัญหานอนดึก จากภาระงาน การบ้าน และความเหนื่อยล้าในการเรียนออนไลน์ ที่หลายๆ ท่านคงจะสัมผัสได้ว่าการเรียนหรือการประชุมในลักษณะนี้จะทำให้เราเหนื่อยได้มากกว่าภาวะปกติมาก การนอนหลับที่ไม่เพียงพอและไม่เหมาะสมจะส่งผลกระทบต่อเด็กเป็นอย่างมากนะครับ โดยเฉพาะในเรื่องของพัฒนาการทางสติปัญญา การเจริญเติบโต และเรื่องทักษะสมอง EF ในบทความนี้เราจะมาคุยกันในเรื่องนี้และแนวทางการแก้ไขนะครับ

การนอนหลับเป็นกระบวนการหนึ่งของร่างกายที่ “จำเป็น” ต้องเกิดขึ้น ไม่ใช่เพียงแค่การพักผ่อน แต่การนอนหลับถือเป็นหน้าที่ที่พึงกระทำ เพราะช่วงของการนอนหลับเป็นการกดปุ่ม “เปิดสวิตซ์” การทำงานของร่างกายในอีกระบบหนึ่ง ซึ่งเป็นระบบที่ในภาวะตื่นมักจะถูกปิดสวิตซ์อยู่ ระบบการทำงานที่เกิดขึ้นในช่วงของการนอนหลับมีหลายอย่างมากเลยนะครับ ไม่ว่าจะเป็นระบบตรวจสอบ (อาจจะเรียกว่าหน่วยคิวซีก็ได้ครับ) ที่คอยเช็คว่ามีเซลล์ในร่างกายเซลล์ใดที่มีการทำงานผิดปกติ หรือกำลังจะกลายเป็นมะเร็งบ้าง ซึ่งมีข้อมูลทางการแพทย์อย่างชัดเจนว่า มะเร็งบางชนิดมีความสัมพันธ์กับการพักผ่อนที่ไม่เพียงพอ เช่น มะเร็งต่อมน้ำเหลือง เป็นต้น สำหรับในเด็ก การหลั่งฮอร์โมนการเจริญเติบโตหรือโกรทฮอร์โมน (Growth hormone) ก็เกิดขึ้นในช่วงการนอนหลับเป็นหลักครับ เราคงเคยได้ยินคำพูดของคนสมัยก่อนว่า “กินเยอะๆ นอนเยอะๆ จะได้โตเร็วๆ” อันนี้เป็นความจริงนะครับ เพราะฮอร์โมนการเจริญเติบโตนี้จะหลั่งตอนกลางคืนตอนที่เราหลับอยู่ ทำให้เด็กมีการเจริญเติบโตของกระดูก ส่งผลให้ตัวสูงขึ้น ส่วนในผู้ใหญ่ เจ้าฮอร์โมนนี้แม้จะไม่สามารถทำให้ท่านสูงขึ้นได้อีก เพราะส่วนการเจริญเติบโตของกระดูกนั้นปิดกิจการไปแล้ว แต่ฮอร์โมนนี้จะไปช่วยด้านการเผาผลาญพลังงานครับ ดังนั้นไม่น่าแปลกใจว่าคนนอนดึก มักจะอ้วนง่าย เนื่องจากการเผาผลาญพลังงานเกิดขึ้นได้ไม่ดี ทั้งนี้ยังไม่นับรวมเรื่องอาหารมื้อเที่ยงคืนอีกด้วยนะครับ

ในส่วนของสมอง การนอนหลับมีความจำเป็นอย่างยิ่งกับเด็กวัยเรียนและวัยรุ่นที่อยู่ระบบการศึกษาเป็นอย่างมาก เพราะการสร้างความจำจะเกิดขึ้นในช่วงของการนอนหลับเป็นหลัก ทุกสิ่งทุกอย่างที่เด็กๆ ได้เรียนรู้ในหนึ่งวันจะถูกสมองเปลี่ยนจากความจำระยะสั้นให้เป็นความจำระยะยาวในช่วงของการนอน ดังนั้น ถ้าการนอนหลับเกิดขึ้นไม่เพียงพอ จะทำให้กระบวนการสร้างความจำระยะยาวเกิดขึ้นได้ไม่ดี เหมือนกับสมัยก่อนที่ทุกท่านเคยอ่านหนังสืออย่างเร่งรีบเพื่อจะให้ทันการสอบในวันรุ่งขึ้น จนอดหลับอดนอน แล้วปรากฏว่าในห้องสอบ กลับจำสิ่งที่ท่องไปได้น้อยมากนั่นแหละครับ หรือบางทีอาจจะพอจำได้ตอนสอบ แต่ไม่กี่วันก็ลืมหมด ดังนั้น …

การนอนหลับจึงเป็นกลไกสำคัญของร่างกายในการสร้างความจำของมนุษย์

ทุกสิ่งทุกอย่างที่เรียนรู้ในตอนกลางวันจะถูกเปลี่ยนเป็นความจำของเราในตอนกลางคืนครับ

สำหรับเรื่องของการนอนหลับกับทักษะสมอง EF ก็จัดเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่สำคัญมากๆ คือตัวหมอเองมักจะพบได้บ่อยเลยว่า เด็กๆ ที่มีปัญหาการนอนหลับ ไม่ว่าจะเป็นการที่ระยะเวลาการนอนไม่เพียงพอ หรือคุณภาพการนอนที่ไม่ดี เช่น เด็กที่นอนกรนและมีภาวะหยุดหายใจในตอนหลับร่วมด้วย ในตอนกลางวันมักจะมีปัญหาพฤติกรรมซน ไม่ค่อยนิ่ง สมาธิในการเรียนไม่ดี ในบางรายจะคล้ายๆ กับเด็กที่เป็นโรคซนสมาธิสั้นเลยครับ ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้เป็นตัวที่บ่งชี้ว่า “กลไกการยับยั้ง” อันเป็นหนึ่งในสามองค์ประกอบหลักของ EF กำลังได้รับการกระทบกระเทือนครับ นอกจากนี้ยังพบอีกว่า “ความสามารถในการแก้ไขปัญหา” อันเป็นส่วนที่เกี่ยวข้องกับ “ความยืดหยุ่นของความคิด” ที่เป็นอีกองค์ประกอบหลักของ EF มักจะบกพร่องในเด็กที่นอนหลับพักผ่อนไม่พอด้วยเช่นกัน แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนเลยนะครับว่า ถ้าการนอนหลับไม่มีคุณภาพหรือปริมาณที่เพียงพอตามวัยแล้ว จะส่งผลต่อ EF ด้วย ซึ่งในเด็กที่ได้รับการรักษาปัญหาการนอนหลับแล้ว ก็พบว่าปัญหาเหล่านี้มักจะดีขึ้นครับ

การให้เด็กๆ นอนหลับได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถกระทำได้โดยต้องคำนึงถึง 2 ปัจจัยครับ นั่นคือ ปริมาณและคุณภาพ ในด้านของปริมาณ หมายถึงจำนวนชั่วโมงของการนอนจะต้องเหมาะสม คือ 9-11 ชั่วโมงในเด็กวัยเรียน และ 8-10 ชั่วโมงในช่วงวัยรุ่น และควรจะเข้านอนตั้งแต่ช่วง 3 หรือ 4 ทุ่ม ในรายที่เข้านอนตอนตีหนึ่งและตื่นนอนตอนเที่ยงวัน แม้จะได้จำนวนชั่วโมงครบ แต่ก็ไม่สอดคล้องกับการทำงานตามปกติของร่างกาย ดังนั้น นอกจากจำนวนชั่วโมงจะต้องเพียงพอตามอายุแล้ว ยังต้องคำนึงถึงช่วงเวลาด้วยนะครับ อีกประการหนึ่งคือเรื่องของคุณภาพ หมายถึงคุณภาพการนอนต้องดีด้วย ในเด็กบางคนจะมีภาวะนอนกรน ซึ่งหากรุนแรงจนทำให้เกิดการหยุดหายใจตอนนอน จะทำให้คุณภาพการนอนเสียไป เนื่องจากร่างกายจะเข้าสู่ช่วงของการหลับลึกได้ลดลง เด็กในกลุ่มนี้แม้จะนอนถึง 11 ชั่วโมง แต่เมื่อตื่นนอนจะรู้สึกไม่สดชื่น เพราะคุณภาพการนอนไม่ดี ซึ่งจำเป็นต้องพาไปตรวจกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อวางแผนการรักษาต่อไปครับ

โดยสรุป การนอนหลับถือเป็นกลไกการทำงานอันหนึ่งของร่างกาย ไม่ใช่แค่การพักผ่อน แต่เป็นการเปิดสวิตซ์การทำงานของร่างกายในอีกระบบ การนอนหลับที่ดีจะช่วยให้เด็กเติบโตได้เต็มตามศักยภาพ สร้างความจำได้ดี และมีการพัฒนาทักษะสมอง EF ได้ตามที่ควรจะเป็นครับ