การพัฒนา “จุดแข็ง”ในลูกวัยรุ่น

การพัฒนา “จุดแข็ง”ในลูกวัยรุ่น

ความรู้ทางประสาทวิทยาทำให้เรารู้ว่า สมองของวัยรุ่นนั้นมีการเปลี่ยนแปลงที่แตกต่างไปอย่างมากจากตอนที่เป็นเด็ก นักวิทยาศาสตร์พบว่าสมองของวัยรุ่นนั้น มีการตัดแต่ง (Pruning) ด้วยตัวเองตามธรรมชาติ ในช่วงอายุราว 9-15  ปีโดยประมาณ สมองส่วนที่ไม่ได้ใช้ หรือที่เคยใช้แล้วไม่ได้รับประสบการณ์เพิ่มเติมจะหดหายไป การศึกษาเกี่ยวกับสมองวัยรุ่นในปี 2544 ของ E.R. Sorrell ยืนยันข้อเท็จจริงที่ว่า จำนวนเซลล์สมองในช่วงวัยรุ่นของคนนั้นมีจำนวนลดน้อยลงกว่าช่วงที่เป็นเด็ก โดยกระบวนการตัดแต่งนี้จะดำเนินต่อไปตลอดเวลาที่เรามีชีวิตอยู่ การที่สมองตัดแต่งส่วนที่ไม่ได้ใช้ออกไป เป็นการเตรียมตัวเข้าสู่ความชำนาญเฉพาะด้าน จากการที่วงจรประสาทส่วนที่แข็งแรงได้ใช้บ่อย จะยิ่งเชื่อมต่อ สร้างเป็นวงจรประสาทที่แข็งแรงมากขึ้น อีกทั้งเป็นกลไกธรรมชาติที่ช่วยให้สมองใช้พลังงานน้อยลงในการผลิตเซลล์สมองและวงจรประสาทที่ไม่จำเป็น

           พัฒนาการทางสมองของวัยรุ่นที่ต่างไปจากช่วงเป็นเด็กอีกประการหนึ่งคือ สมองส่วนกลาง หรือสมองส่วนลิมบิก (Limbic System) เติบโตสมบูรณ์อย่างเต็มที่ สมองส่วนนี้ประกอบด้วย 4 ส่วนสำคัญคือ

– ทาลามัส (Thalamus) ทำหน้าที่รับส่งข้อมูลจากประสาทและไขสันหลัง รับรู้ความรู้สึกเจ็บปวดรุนแรง

– ไฮโปทาลามัส (Hypothalamus) เป็นศูนย์กลางดูแลสมดุลร่างกาย อารมณ์และความรู้สึกต่างๆ และควบคุมการหลั่งฮอร์โมนของต่อมใต้สมอง

– ฮิปโปแคมปัส (Hippocampus) ควบคุมการเรียนรู้และความจำ จัดระบบความจำระยะสั้นและยาว

– อะมิกดาลา (Amygdala)เป็นศูนย์กลางของอารมณ์ จัดระบบข้อมูลด้านความรู้สึก

          การที่สมองส่วนอารมณ์เติบโตเต็มที่ ในขณะที่สมองส่วนหน้าที่มีทักษะการคิดเชิงบริหารจัดการ (Executive Function: EF) ชั้นสูงนั้นจะเติบโตเต็มที่ราวอายุ 25 ปี ทำให้สมองของเด็กวัยรุ่นใช้สมองส่วนอารมณ์ซึ่งแข็งแรงมากกว่าในการเผชิญหน้าหรือตอบสนองต่อสิ่งเร้ารอบตัว ประกอบกับการสร้างและหลั่งฮอร์โมนเพศ นำไปสู่การตัดสินใจและแสดงพฤติกรรมบนพื้นฐานของอารมณ์ มีความหุนหันพลันแล่น วู่วาม มากกว่าวัยอื่นๆ อีกทั้งเป็นวัยที่การเจ็บป่วยทางจิตจะปรากฏขึ้นมาให้เห็น ไม่ว่าจะเป็นอาการวิตกกังวล โรคซึมเศร้า ฯลฯ

ในช่วงวัยนี้ สมองของวัยรุ่นพัฒนาความสามารถในการเข้าใจเรื่องนามธรรม คิด วิเคราะห์ เข้าใจเรื่องราวต่างๆ ได้อย่างลึกซึ้ง อีกทั้งเป็นช่วงวัยของการแสวงหา “ตัวตน” ก้าวไปเป็นคนที่ตนเองต้องการจะเป็น การเลี้ยงดูวัยรุ่นบนฐานการส่งเสริมและพัฒนา “จุดแข็ง” รับรู้ถึงความสามารถที่มีมาโดยธรรมชาติของตน อำนวยให้วัยรุ่นได้ใช้ “จุดแข็ง”ที่ตนมีอยู่ ดำเนินชีวิตไปในทิศทางที่ตนสนใจ จะส่งผลให้วัยรุ่นมีความรู้สึกถึงสิทธิเสรีของการมีชีวิตที่สามารถเป็น “ตัวของตัวเอง” นำธรรมชาติที่ตนเองมีมาใช้ดำเนินชีวิตให้เป็นประโยชน์แก่ตนเอง ครอบครัวและผู้อื่น สร้างความสำเร็จและความผาสุกแก่ชีวิตตนและสังคมได้  มาร์ค ทเวน นักเขียนชาวอเมริกันที่โด่งดัง ผู้เขียนนวนิยายเรื่อง “การผจญภัยของทอม ซอว์เยอร์” เคยกล่าวไว้ว่า “เราแต่ละคนมีเนื้อในที่เป็นต้นทุนไปบรรลุเป้าหมายและความฝันของเรา สิ่งที่ทำให้เราไปถึงฝันได้แตกต่างกันไปนั้น คือการได้รับการฝึกฝน ได้รับการศึกษา ให้มีความรู้และความเข้าใจอย่างถ่องแท้ เพื่อใช้สิ่งที่เรามีอยู่แล้วไปสู่เป้าหมาย”

การรับรู้ถึงความสามารถของตนเองจึงแสดงออกถึงคุณภาพชีวิตอย่างมีนัยยะสำคัญของการที่มีความสุขมากกว่า ซึ่ง หมายถึง มีความสามารถในการสัมผัสอารมณ์เชิงบวกได้บ่อยครั้ง และมีความรู้สึกพึงพอใจในชีวิตของตน

          พ่อแม่ ผู้ปกครอง ครู และผู้ใหญ่ที่ใกล้ชิดเด็กวัยรุ่น จึงจำเป็นต้องสังเกต รู้ และเห็นคุณค่าว่าลูกหลานหรือลูกศิษย์ของตนมี “จุดแข็ง” ทางบุคลิกภาพ ความสามารถ พรสวรรค์และทักษะความสามารถด้านใดบ้าง ผู้ใหญ่จำเป็นต้องปรับ Mindset ของตนให้ยอมรับเด็กตามธรรมชาติอย่างที่เขาเป็น บอกให้เด็กวัยรุ่นได้รู้และเข้าใจว่า “จุดแข็ง” ของตนคืออะไร “จุดแข็ง” ที่มีอยู่ซึ่งต่างไปจากคนอื่นนั้น มีคุณค่าในการที่จะสร้างประโยชน์และความสุขให้แก่ตน ผู้อื่นและสังคมอย่างไร ที่สำคัญที่สุดคือการหาและสร้างโอกาสให้ลูกได้ฝึกฝน พัฒนา “จุดแข็ง” ในแบบของตน ทั้งในการดำเนินชีวิตแก้ปัญหาที่เผชิญในแต่ละวัน การอยู่ร่วมกันกับผู้อื่น การเรียนรู้ การทำงาน สร้างเอกลักษณ์ “ตัวตน” ในอุดมคติที่ตนเองต้องการเป็นขึ้นมา ซึ่งในงานวิจัยพบว่า เด็กวัยรุ่นที่มีพ่อแม่ส่งเสริมและพัฒนาฐานของ “จุดแข็ง” ที่ตนมี ได้เรียนรู้ที่จะใช้ “จุดแข็ง” ที่มีของตนจัดการเรื่องราวต่างๆและจัดการความสัมพันธ์กับผู้คนได้มีประสิทธิภาพตามสไตล์ของตนได้มากกว่าวัยรุ่นที่ไม่รับการส่งเสริม

          การได้รับรู้ว่าตนเองมีความสามารถอะไรบ้าง เป็นความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ การรู้ถึงศักยภาพหรือ “จุดแข็ง” ของตนทำให้มนุษย์เรียนรู้และตระหนักถึงคุณค่าของตนเอง (Self) รู้ว่าตนเองสามารถจัดการสิ่งแวดล้อม สร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่น และบรรลุเป้าหมายของตนในแต่ละเรื่องได้อย่างไรนั้น มีความหมายต่อการอยู่รอดและวิวัฒนาการมาถึงทุกวันนี้  วัยรุ่นที่รับรู้ความสามารถหรือ “จุดแข็ง” ของตนและพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นไปอีก จะรู้สึกพึงพอใจในตนเอง มีความเครียดน้อยกว่า มีพลังและแรงบันดาลใจในการก้าวไปในอนาคตมากกว่า

ทั้งนี้มีวิธีการง่ายๆ และหลากหลายที่พ่อแม่  ผู้ปกครอง และครูสามารถนำไปใช้ในการสนับสนุนให้เด็กวัยรุ่นค้นพบและพัฒนา “จุดแข็ง” ของตน ดังเช่น :-

          นั่งลงเขียนจดหมายถึงเด็กจากใจจริง ระบุคุณสมบัติและ “จุดแข็ง” ทั้งหมดที่เห็นในตัวลูก/ลูกศิษย์ การเขียนจดหมายทำให้เด็กได้มีโอกาสถอยออกมานั่งมองตนเอง ไตร่ตรองและตระหนักถึงความสำเร็จและความสามารถและคุณค่าของตนอย่างเป็นอิสระ

          ทำ “กล่องแห่งความสำเร็จ” ให้ลูกเลือกทำกล่องแห่งความสำเร็จ เก็บผลงาน รางวัล บันทึกเรื่องราว รวมทั้งจดหมายที่พ่อแม่/ครูเขียนถึง “จุดแข็ง” ของเขา ไว้เป็นเครื่องเตือนใจให้ลูกตระหนักในคุณลักษณะและสมรรถนะของตนเอง  ซึ่งจะทำให้เราได้เห็นแววตาเป็นประกายความมั่นใจของลูก และความกระตือรือร้นที่จะทำให้ตนเองดียิ่งขึ้นไป

          พ่อแม่สามารถทำตัวเป็นแบบอย่างในการช่วยเหลือผู้อื่น แบ่งปันกระบวนการคิดและประสบการณ์การเรียนรู้ของตนกับลูก หรือใช้เวลาในการแลกเปลี่ยน แบ่งปันและตั้งเป้าหมายในเรื่องต่างๆ ร่วมกัน

          สำหรับวัยรุ่นที่มี “จุดแข็ง” เรื่องสังคมและการสื่อสาร พ่อแม่สามารถสร้างบรรยากาศของการสื่อสารที่เปิดกว้าง การรับฟังกันอย่างตั้งใจ ให้ความช่วยเหลือเมื่อลูกมีความสงสัยใคร่รู้ สนับสนุนให้ลูกได้ผูกมิตร เข้าสังคมกับกลุ่มคนใหม่ๆ ทั้งที่โรงเรียน และในชุมชน หรือสังคมทั่วไป

          วัยรุ่นที่มีความสามารถทางด้านภาษา พ่อแม่สามารถสนับสนุนลูกด้วยการรับฟังและยินดีกับเรื่องราวต่างๆที่ลูกเล่าหรือนำเสนอ สร้างบรรยากาศภายในบ้านให้มีการสนทนาแลกเปลี่ยนกันสม่ำเสมอ สนับสนุนให้ลูกได้ใช้ความสามารถในการใช้ภาษาผ่านกิจกรรมการแสดง การอภิปรายเป็นประจำ

          สำหรับวัยรุ่นที่มี “จุดแข็ง” เรื่องการรู้หนังสือ เปิดโอกาสให้ลูกได้ไปห้องสมุด ได้อ่านหนังสืออย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นหนังสือนวนิยาย การ์ตูน นิตยสาร สารคดี เพื่อได้พบในสิ่งเฉพาะที่ตนชอบ สนับสนุนให้ลูกได้ลองเขียนสิ่งที่ตนสนใจ  ไม่ว่าจะเป็นการเขียนบันทึกส่วนตัว บทความหรือลองเขียนนวนิยาย ฯลฯ เพื่อสร้างความมั่นใจในการสร้างสรรค์ผลงานของตนเอง

          วัยรุ่นที่มี “จุดแข็ง” ทางด้านคณิตศาสตร์และตรรกะ พ่อแม่ควรอย่างยิ่งที่จะเปิดโอกาสให้ลูกได้เรียนรู้ผ่านการลงมือทำ รวมทั้งการเล่นที่ฝึกสมองในการคำนวณตัวเลข สถานการณ์ และคิดกลยุทธที่นำไปสู่ชัยชนะ

          วัยรุ่นที่มี “ความคิดสร้างสรรค์” เป็น “จุดแข็ง” ต้องการพื้นที่ในการแสดงออก ลูกต้องการคนที่รับฟังและต้องการสื่อสารถึงสิ่งที่เขาสร้างสรรค์ พ่อแม่และครูต้องให้อิสระในการค้นคว้า สร้างผลงาน และชื่นชม รวมทั้งโอกาสในการลองผิดลองถูก รวมทั้งคำแนะนำเมื่อเขาต้องการ

ปัจจุบันมีกิจกรรมหลากหลายที่ส่งเสริมให้ “จุดแข็ง” หรือศักยภาพของเด็กๆและวัยรุ่นได้ฝึกปรือให้พัฒนาและเฉียบคมมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมกลางแจ้ง ที่เด็กๆ และวัยรุ่นจะได้ทำงานเป็นกลุ่ม และได้สำรวจพื้นที่หรือโลกที่ต่างไปจากปกติที่ใช้ชีวิตอยู่ การเรียนดนตรีที่ได้ฝึกฝนกับผู้เชี่ยวชาญ การแข่งขันและได้รับการวิจารณ์ที่สร้างสรรค์  โรงละคร ชั้นเรียนศิลปะ ชุมชนการเรียนรู้ วงอภิปราย เกม โปรแกรมต่างๆ ที่ส่งเสริมสมรรถนะและคุณลักษณะเด่นที่ลูกมีอยู่เป็นพื้นฐานตามความสนใจ เคล็ดลับในการทำเรื่องเหล่านี้ได้อย่างลื่นไหลคือ ขอให้พ่อแม่ ผู้ปกครองหรือครู คิดไปถึงตอนที่ตนเองเป็นวัยรุ่น ว่าตนชอบทำอะไร ต้องการทำอะไร กิจกรรมในวัยเด็กแบบไหนที่หล่อหลอมให้ตนกลายเป็นผู้ใหญ่ในวันนี้

          โรคซึมเศร้าที่เป็นกันมากในวัยรุ่นปัจจุบัน มีสาเหตุมาจากการที่ถูกกดดัน และต้องทำตามความคาดหวังของคนอื่น ไม่มีโอกาสได้แสดงความเป็นตัวของตัวเอง ไม่มีชีวิตที่ตนเองเลือกได้ ไม่ได้ทำในสิ่งที่ตนเองรัก ชอบ และเก่ง ไม่มีความภาคภูมิใจในตนเอง การประคับประคองให้ลูกวัยรุ่น ได้ค้นพบ “จุดแข็ง” ของตน ตระหนักในพละกำลัง ความสามารถที่ตนมีอยู่ ได้ใช้ศักยภาพของตนบากบั่น ฝึกฝนไปสู่ความสำเร็จ โดยมีพ่อแม่ ครูซึ่งเป็นคนที่เขารักสนับสนุนและชื่นชม ทำให้เกิดความภาคภูมิใจในตนเอง เป็นคนเก่ง และทำได้ในแบบของตน พึ่งตนเองได้ ดำเนินชีวิตในแบบที่ตนเลือกได้ รับผิดชอบตนเองได้

นอกจากจะหนุนให้วัยรุ่นบากบั่นสู่ความสำเร็จ มีความมั่นใจในตนเอง ใฝ่ดี มีแรงที่จะฝ่าฟันชีวิตไม่ว่าในช่วงทุกข์หรือสุข วัยรุ่นที่พบว่าตนเอง “มีดี” และได้ “ทำจนดีได้” จะมีความสัมพันธ์ที่ดีกับพ่อแม่และผู้ใหญ่ ไว้วางใจ เชื่อใจ กล้าที่จะสื่อสารหรือขอความช่วยเหลือและการสนับสนุนเมื่อพบว่าตนเองไม่สามารถจัดการเรื่องนั้นๆได้ด้วยตนเอง อีกด้วย

พ่อแม่อาจไม่รู้ว่าลูกของตนจะเป็น “อะไร” ในอนาคต แต่พ่อแม่ทุกคนสามารถสนับสนุนให้ลูกได้บรรลุศักยภาพสูงสุด ปูทางให้ลูกไปค้นพบสิ่งที่ดีที่สุดที่ตนมีอยู่ได้

Lea Waters, How to Be a Strength-Based parenthttps://greatergood.berkeley.edu/article/item/how_to_be_a_strength_based_parent, 2 October  2018

Daniel J. Loton and Lea E.Waters, The Mediating Effect of Self-Efficacy in the Connections between Strength-Based Parenting, Happiness and Psychological Distress in Teens, https://www.frontiersin.org/articles/10.3389/fpsyg.2017.01707/full, Oct 10, 2017 

https://thematter.co/science-tech/what-inside-the-teenage-brain/32370  , 17 August  2017


ปรารถนา หาญเมธี แปลและเรียบเรียง