เทคนิค “วินัยเชิงบวก” ฝึกเด็กให้มีวินัยด้วยตัวเอง

เทคนิค “วินัยเชิงบวก” ฝึกเด็กให้มีวินัยด้วยตัวเอง

ในอดีตมีการฝึกวินัยให้กับเด็กด้วยความปรารถนาดี เพื่อให้อยู่ในกติกา อยู่ในสังคมได้ และได้ผล โดยการให้รางวัลหรือลงโทษ เช่น ให้รางวัลด้วยขนม แต้ม หรือดาว และลงโทษถ้าไม่มีวินัยด้วยวิธีการ Time out  

สำหรับการให้รางวัล ให้ได้ในเด็กบางประเภท เช่น เด็กสมาธิสั้น เด็กเล็กในระยะแรกๆ เพราะเด็กเรียนรู้ได้จากประสาทสัมผัส การสอน การบอก การทำให้เห็น เด็กอาจจะจำไม่ได้ เพราะความจำใช้งาน (Working Memory) ยังไม่แข็งแรงพอที่จะจำ และสมองยังไม่สามารถเก็บข้อมูลไว้ในใจได้นานพอ ในบางวันบางครั้งอาจลืมได้ จึงต้องมีเครื่องเตือนใจ พอเห็นรางวัลก็นึกออกว่าต้องทำหรือไม่ทำอะไร ดังนั้นสามารถให้รางวัลได้ โดยครูต้องรู้ว่าให้รางวัลเพื่ออะไร เช่น ให้ดาวเป็นเครื่องเตือนใจ แต่จะให้ตลอดไปไม่ได้ เพราะจะติดเป็นนิสัย แล้วพ่อแม่หรือครูค่อยๆ เอาสิ่งที่เป็นตัวช่วยภายนอกนั้นออกไป เปลี่ยนเป็นการชมในสิ่งที่ทำ เพื่อให้เด็กรู้สึกว่าให้รางวัลตัวเองจากข้างใน ทำจนเด็กทำโดยไม่ต้องให้ใครบอกหรือเพื่อต้องการรางวัลจากข้างนอก

วินัยเชิงบวกจะมองไปที่กระบวนการ หรือ Process อะไรที่ทำให้เกิดพฤติกรรม และที่สำคัญคือแรงจูงใจนั้นจะทำให้เกิดพฤติกรรมระยะยาวหรือไม่ เช่น การให้ดาวหรือรางวัล ครูต้องสังเกตเด็กด้วยว่าแม้มีระบบให้ดาวก็ยังต้องเตือนเด็กมากอยู่ แสดงว่าเด็กยังไม่อยากทำเรื่องนั้นด้วยตัวเองจริงๆ    

ผู้ที่จะนำเรื่องวินัยเชิงบวกมาฝึกฝนพัฒนาเด็ก มีความจำเป็นที่จะต้องเข้าใจทฤษฎีที่อยู่เบื้องหลังให้ถ่องแท้ก่อน จึงจะสามารถนำหลักการไปประยุกต์หรือบูรณาการกับบริบทของพื้นที่ วัฒนธรรมของตัวเองได้อย่างเหมาะสม  วินัยเชิงบวกของ ดร. เคอร์ซี่ ใช้คำว่า 101’s principle หรือหลักการของวินัยเชิงบวก 101 ข้อ เช่นเดียวกับที่ ดร.ปิยวลี และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปนัดดา ธนเศรษฐกรนำหลักการนี้มาปรับใช้ในประเทศไทย

The 101’s technique Thailand
          การอบรมเลี้ยงดูเด็กโดยยึดเอาการตอบสนองความต้องการทางร่างกายและจิตใจของเด็ก เพื่อส่งเสริมให้เด็กคนหนึ่งๆ มีพัฒนาการในทุกๆ ด้านได้เต็มศักยภาพ และเติบโตขึ้นมาเป็นคนที่มีความสุขและมีคุณภาพ เห็นคุณค่าตัวเองและสังคม
          ๐ เป็นพวก
          ๐ เข้าใจแต่ไม่ตามใจ/ ใจดีแต่ไม่ใจอ่อน
          ๐ ผู้ประคอง
          ๐ ชมสุดซอย

                                              
ดร.ปิยวลี และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปนัดดา ธนเศรษฐกร
หลักการของ The 101’s technique Thailand มีดังนี้
เป็นพวก

คือการทำให้เด็กรู้สึกว่า“มีพวก” มีผู้ใหญ่เป็นพวกเดียวกับเขา มีคนที่เข้าใจความรู้สึก เมื่อผู้ใหญ่เข้าใจความรู้สึกก็จะสามารถช่วยเหลือหรือรับฟังความรู้สึก ความต้องการของเด็ก เด็กจึงรู้สึกถึงความปลอดภัย พร้อมที่จะเปิดใจ บอกเล่าความรู้สึก เรื่องต่างๆ  รวมทั้งพ่อแม่หรือครูปฐมวัยจะต้องทำการสะท้อนความรู้สึกของเด็กให้เด็กได้รู้ด้วย เพราะเด็กที่รู้อารมณ์ตัวเอง ต่อไปจะสามารถจัดการอารมณ์ตัวเองได้

เข้าใจแต่ไม่ตามใจ/ ใจดีแต่ไม่ใจอ่อน

หากผู้ใหญ่มีความเข้าใจในสิ่งที่เด็กแสดงเป็นพฤติกรรมออกมา รู้ว่าเป็นไปตามพัฒนาการ ตามหลักการทางจิตวิทยา ตามหลักการทำงานของสมอง จะไม่ตัดสิน ไม่ลงโทษเด็ก ไม่ตามใจใจอ่อนยอมตามในสิ่งที่ไม่เหมาะสม แต่จะพยายามทำความเข้าใจ ให้คำอธิบาย และให้โอกาสเด็กได้ฝึกฝน

ผู้ประคอง

ต่างจากคำว่าผู้ปกครอง ซึ่งเป็นคำที่แสดงถึงการใช้อำนาจกับเด็ก ในขณะที่คำว่าประคองให้ความหมายของการสนับสนุนส่งเสริม ดูแลให้เด็กได้เติบโตพัฒนา

ชมสุดซอย

เป็นการชมอย่างจริงใจ ชมเจาะจงไปที่พฤติกรรมที่น่าชื่นชมนั้น และตามด้วยคุณลักษณะที่เป็นนามธรรมขยายพฤติกรรมนั้น เช่น “หนูช่วยแม่พับผ้า น่ารักจัง” เป็นการชมที่มีพลังที่จะช่วยเพิ่มคุณค่าและความภาคภูมิใจในตัวเด็กได้อย่างมาก

การชมที่ถูกต้อง เมื่อจะชมเด็กเพื่อสร้างแรงจูงใจภายในต้องชมที่กระบวนการ เพราะถ้าเราชมที่ผลภายนอก เด็กจะทำเพื่อแรงจูงใจ

หลักการวินัยเชิงบวกที่ออกมาเป็น 101 ข้อนี้ พัฒนาบนพื้นฐานธรรมชาติพัฒนาการของเด็ก การทำงานของสมอง จิตใจของเด็ก  โดยวินัยเชิงบวกจะเข้าไปกระทบกับภายในของเด็กให้แสดงออกมาเป็นพฤติกรรม เพราะฉะนั้นการจัดการกับพฤติกรรมของเด็ก ก็ต้องย้อนกลับเข้าไปด้านในที่เป็นรากฐานของเด็กคนนั้น


ความรู้ชุด “ดูแลเด็กยุคโควิด” โดย สถาบัน RLG (รักลูก เลิร์นนิ่ง กรุ๊ป)
ดร.ปิยวลี และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปนัดดา ธนเศรษฐกร เขียน
ผาณิต บุญมาก เรียบเรียง
ภาวนา อร่ามฤทธิ์ บรรณาธิการ