ลูกจะมีทักษะสมอง EF ดี พ่อแม่ต้องมีทักษะสมอง EF ดีด้วย

ลูกจะมีทักษะสมอง EF ดี พ่อแม่ต้องมีทักษะสมอง EF ดีด้วย

ลูกจะมีทักษะสมอง EF ที่ดี พ่อแม่ต้องใช้หลักการวินัยเชิงบวก และพ่อแม่จะใช้วินัยเชิงบวกได้ดี พ่อแม่ก็ต้องมีทักษะสมอง EF ที่ดีด้วย ทักษะสมอง EF ด้านที่สำคัญที่สุดที่พ่อแม่ต้องมี คือ Cognitive Flexibility หรือทักษะคิดยืดหยุ่น เพราะพ่อแม่มักเคยชินกับการใช้คำว่า “ไม่” กับเด็ก ซึ่งไม่ใช่การสร้างวินัยเชิงบวก พ่อแม่ที่คิดยืดหยุ่นเป็นจะรู้จักใช้คำอื่นหรือวิธีอื่นแทนคำว่า “ไม่” ไม่ใช้การออกคำสั่งกับลูก การใช้วินัยเชิงบวกจะเป็นวิธีการที่ง่ายมากสำหรับพ่อแม่แบบนี้ พ่อแม่แบบนี้สามารถจัดการกับเด็กได้ เพราะมีความยืดหยุ่นในกระบวนการคิดอย่างมาก

ขณะเดียวกันก็ต้องมีทักษะสมอง EF ด้าน Inhibition หรือการยับยั้งชั่งใจ เพราะบางครั้งพ่อแม่มีความหงุดหงิดกับพฤติกรรมของลูก จึงต้องรู้จักการควบคุมอารมณ์ และต้องมีทักษะ Planning หรือการวางแผนว่าจะส่งเสริมพัฒนาเด็กอย่างไร คาดหวังผลอะไรบ้าง

ทักษะสมอง EF ของพ่อแม่จะแสดงออกหรือไม่แสดงออก มีมากมีน้อย ขึ้นอยู่กับ 3 เรื่อง คือ ประสบการณ์ ความเชื่อ-ทัศนคติ (Fixed Mindset หรือ Growth) และความคาดหวัง พ่อแม่หรือครูได้รับการปฏิบัติมาอย่างไร มีประสบการณ์มาย่างไร ก็จะปฏิบัติเช่นนั้นกับลูกกับนักเรียน เช่นเดียวกับความคาดหวัง เมื่อคาดหวังอย่างไร ก็จะปฏิบัติกับลูกกับนักเรียนไปตามนั้น ซึ่งทำให้อาจไม่ได้ใช้หลักการวินัยเชิงบวก 

และก็เป็นไปได้ที่พ่อคนหนึ่งที่เป็นคนวางแผนด้านธุรกิจเก่ง หรือดูแล้วน่าจะมีทักษะสมอง EF ดี แต่กลับเลี้ยงลูกไปตามความคาดหวังของตัวเอง เลี้ยงแบบที่ตัวเองถูกเลี้ยงมา ก็อาจจะไม่ได้ใช้วินัยเชิงบวกกับลูก

เพราะฉะนั้น จะทำให้เด็กเกิดทักษะสมอง EF ได้ พ่อแม่จะต้องมีทักษะสมอง EF ดีด้วย โดยเฉพาะในช่วง 6 ปีแรก เป็นช่วงสำคัญในการดูแลพัฒนาทักษะสมอง EF ซึ่งด้านที่สำคัญที่สุดคือ การคิดยืดหยุ่นและการยับยั้งชั่งใจ เป็นทักษะสมอง EF ขั้นพื้นฐาน และถ้าลูกมีทักษะสมอง EF ขั้นพื้นฐานดี ทักษะสมอง EF ขั้นสูงก็จะฝึกได้ไม่ยากและดีไปด้วย พ่อแม่จึงต้องเลี้ยงดูลูกโดยใช้ทักษะสมอง EF โดยเฉพาะในการคิดยืดหยุ่นและการยับยั้งชั่งใจ


ความรู้ชุด “ดูแลเด็กยุคโควิด” โดย สถาบัน RLG (รักลูก เลิร์นนิ่ง กรุ๊ป)
ผาณิต บุญมาก เรียบเรียง
ภาวนา อร่ามฤทธิ์ บรรณาธิการ