วัยรุ่น: ติดจอ ออนไลน์ ร้ายและดี

โดย | 2 เมษายน 2022 | บทความ

เมื่อมือถือและสื่อออนไลน์ได้กลายเป็นปัจจัยจำเป็นต่อชีวิตในปัจจุบัน จำนวนประชากรมากกว่าครึ่งโลกใช้สื่อออนไลน์ในการดำเนินชีวิตในแต่ละวัน สภาวะ New Normal จากสถานการณ์โควิด ยิ่งทำให้คนทุกวัยมีความจำเป็นมากยิ่งขึ้นในการใช้เทคโนโลยีออนไลน์

เมื่อก้าวขึ้นมาเป็นวัยรุ่น ก็มีมือถือกันทุกคน

เฮนรี เจนคินส์ (Henry Jenkins) จากสถาบันการสื่อสารสำหรับวัยรุ่นแห่งแอนเนนเบิร์ก มหาวิทยาลัยเซาเทิร์นแคลิฟอร์เนีย ได้ให้มุมมองที่น่าสนใจว่า การที่วัยรุ่นเล่นเกมออนไลน์ ใช้เฟซบุ๊ก และทำกิจกรรมบนโลกออนไลน์แบบ Interactive นั้น วัยรุ่นไม่ได้เป็นเพียงเป็นผู้เสพสื่อ แต่กำลังสั่งสมประสบการณ์ เรียนรู้วิธีการผลิตและแบ่งปันความรู้ในโลกยุคใหม่ (ทั้งนี้ สมาคมกุมารแพทย์ สมาคมจิตแพทย์ทั่วโลกประกาศตรงกันว่า ไม่ให้เด็กดูหน้าจอก่อนอายุ 2 ขวบ และในประเทศที่พัฒนาแล้ว เด็กอายุ 7 ขวบ จึงได้เริ่มใช้คอมพิวเตอร์ “เพื่อการเรียนรู้”)

เจนคินส์ให้มุมมองว่า หากพ่อแม่มีความวิตกกังวลในการใช้หน้าจอของลูกวัยรุ่นมาก ก็จำต้องเปลี่ยนมุมมอง มาให้ความสนใจอย่างจริงจังว่า ลูกกำลังทำอะไรในโลกออนไลน์ เริ่มต้นจากคำถามที่พ่อแม่มักจะถามว่า “วันนี้ที่โรงเรียน/มหาวิทยาลัยเป็นอย่างไรบ้าง” อาจเปลี่ยนไปเป็นว่า “วันนี้โลกออนไลน์เขาคุยอะไรกันบ้าง”  การให้ความสนใจเช่นนี้ “ดีกว่าการขอเป็นเพื่อนลูกบนเฟซบุ๊กมาก” การที่พ่อแม่เอาใจใส่และพูดคุยเกี่ยวกับเว็บไซต์ต่างๆที่ลูกเข้าไปดู เป็นการแสดงความไว้วางใจในตัวลูก ยอมรับและเห็นประโยชน์จากการใช้ออนไลน์ว่า  วัยรุ่นกำลังใช้สื่อออนไลน์เพื่อเข้าสังคมและติดต่อเพื่อน อยู่กับเพื่อน ซึ่งเป็นปัจจัยจำเป็นสำหรับวัยนี้อย่างยิ่ง โดยพ่อแม่เพียงทำหน้าที่คอยสนับสนุนและคอยระวังหลังให้ลูก

ในโลกออนไลน์อันไร้ขีดจำกัดนั้นได้เปิดโอกาสให้วัยรุ่นได้ค้นคว้า เรียนรู้ในสิ่งที่ตนสนใจได้อย่างกว้างขวางและลึกซึ้ง สามารถพัฒนาการเรียนรู้และทักษะต่างๆได้ด้วยตนเอง ทั้งนี้รวมไปถึงการทำอะไรเล่นๆ สร้างสรรค์ แบ่งปันสิ่งที่ตนสนใจ ผ่านงานเขียน การวาดภาพ วิดีโอ ดนตรี ฯลฯ ให้กับผู้อื่น ซึ่งจะเป็นการฝึกปรือทักษะการเรียนรู้ การทำงาน การได้มีโอกาสเพิ่มขึ้นในการค้นพบสิ่งที่ตนรักและหลงใหล การมีส่วนร่วมในฐานะพลเมือง ฯลฯซึ่งเรื่องเหล่านี้ทั้งหมดเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับคนในศตวรรษที่ 21

ดังนั้นสิ่งที่พ่อแม่ต้องให้ความสำคัญประการแรก คือ ความเข้าใจ และให้พื้นที่แก่วัยรุ่นได้ฝึกฝนทักษะเหล่านี้ด้วยตนเองในโลกที่ซับซ้อน แทนที่จะเริ่มจากกรอบความคิดที่มุ่งจำกัดการใช้งาน หรือมองว่าเป็นเรื่องเสียหายแต่อย่างเดียว

สิ่งที่พ่อแม่สามารถให้แก่ลูกโดยเฉพาะในวัยรุ่นได้ คือ การสนับสนุน ยอมรับและส่งเสริมความอยากรู้อยากเห็นในสิ่งต่างๆของลูก เชื่อมโยงให้ลูกเห็นสิ่งที่ลูกสนใจกับเรื่องราวและโอกาสอื่นๆในชีวิต เช่น เจนคินส์ให้ตัวอย่างว่า พ่อแม่สามารถพูดคุยเรื่องเกมสตาร์คราฟ (Starcraft) ที่แข่งขันกันครอบครองจักรวาลซึ่งลูกกำลัง “อิน” เชื่อมโยงกับเรื่องสงครามและชนชั้นที่ลูกกำลังเรียนในห้องเรียน ก็เป็นการช่วยลูกให้เชื่อมโยงสิ่งที่กำลังทำกับความเป็นจริงในสังคม เป็นต้น

ส่วน Anya Kamenetz ผู้เขียนหนังสือ The Art of Screen Time หรือในชื่อไทยว่า “หน้าจอ-โลกจริง สมดุลใหม่ของครอบครัวยุคดิจิทัล” ได้แนะนำว่า หากว่าพ่อแม่กลัวอิทธิพลของโซเชียล หรือไม่เข้าใจและหวาดหวั่นว่าจะเป็นอันตรายต่อลูกวัยรุ่น ก็ถึงเวลาแล้วที่พ่อแม่จะต้องหาความรู้และความเข้าใจเพิ่มว่า คุณภาพชีวิตที่ดีกว่าในโลกที่ต้องอยู่กับดิจิทัลนั้นเป็นอย่างไร

แทนที่จะเอาแต่วิตกกังวล ให้พ่อแม่เปิดใจ เปิดอกคุยกันกับวัยรุ่น เข้าไปเรียนรู้ รับฟังในสิ่งที่ยังไม่เข้าใจ หรือยังเข้าใจไม่พอจากลูก สนใจ ใส่ใจ สนับสนุนและให้โอกาสลูกได้ทดลอง แลกเปลี่ยนรับฟัง เคารพความคิดความอ่านของลูก แล้วค่อยชวนวางข้อตกลงร่วมกันในการใช้เทคโนโลยีให้พอเหมาะกับคุณภาพความสัมพันธ์ในบ้านและสุขภาพที่ดี

ส่วนผลกระทบของการใช้เทคโนโลยีที่มีต่อสุขภาพ และความสัมพันธ์ระหว่างคน ที่ต้องทำความเข้าใจ ประเด็นสำคัญๆ คือเรื่องผลกระทบต่อการนอน การเสพติด เป็นเรื่องที่ครอบครัวต้องเรียนรู้เท่าทัน

การนอน เป็นหนึ่งในปัจจัยพื้นฐานที่จำเป็นต่อการเรียนรู้มากที่สุด การนอนส่งผลกระทบต่อกระบวนการจดจำ กลไกของสมองที่ได้รับผลกระทบจากหน้าจอ คือแสงของหน้าจอมือถือ โดยเฉพาะแสงสีฟ้าที่ให้ความสว่างเทียบเท่ากับเวลากลางวัน จะยับยั้งการผลิตเมลาโทนิน ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ต่อมไพเนียลในสมองที่อยู่ระหว่างดวงตาทั้งสองผลิตออกมา การได้รับแสงอย่างยาวนานหลังจากที่ดวงอาทิตย์ตกลงแล้ว ทำให้นาฬิกาชีวภาพหรือนาฬิกาชีวิตรวน ทำให้นอนหลับยากยิ่งขึ้น

             การอดนอนทำให้ฮอร์โมนความเครียด หรือคอร์ติซอลถูกผลิตออกมามากเกินควร อีกทั้งเนื้อหาในโลกโซเชียลไม่ว่าจะเป็นเรื่องราว หรือการโต้แย้งที่เผ็ดร้อน รวมทั้งหนังที่เร้าอารมณ์ หรือดนตรีจังหวะร้อนแรง ทำให้อัตราการเต้นของหัวใจแรงขึ้น ความตื่นเต้นเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อการผลิตคอร์ติซอล ทำให้ร่างกายเกิดปฏิกิริยาโต้กลับ เปลี่ยนความรู้สึกเหนื่อยล้าเป็นอาการตื่นตัว ซึ่งในที่สุดจะส่งผลให้ร่างกายและจิตใจเหนื่อยล้ามากขึ้นไปอีก การที่วัยรุ่นใช้โทรศัพท์โดยเฉพาะก่อนนอน นอกจากทำให้นอนดึก ยังส่งผลให้วงจรการนอนหลับตื้น การนอนหลับลึก น้อยลง และอ่อนเพลียในวันรุ่งขึ้น

          การอดนอนอย่างต่อเนื่องทำให้วัยรุ่นมีอาการขี้หงุดหงิดมากขึ้น คุณภาพการนอนที่ต่ำนั้นเชื่อมโยงกับภาวะซึมเศร้า วิตกกังวล อารมณ์ฉุนเฉียว โรคสมาธิสั้น ผลการเรียนที่ตกต่ำ ไปจนถึงภูมิคุ้มกันต่ำ ที่สำคัญกว่านั้นความเครียด การอดนอน และการถูกกระตุ้นจากหน้าจอที่มากเกิน ส่งผลให้ทักษะเชิงบริหารจัดการชีวิตหรือ Executive Function: EF ในบริเวณสมองส่วนหน้าลดประสิทธิภาพลง โดยเฉพาะทักษะในการกำกับตนเอง ไม่ว่าจะเป็นการควบคุมอารมณ์ หรือสมาธิในการจดจ่อใส่ใจในสิ่งที่กำลังทำ

นอกจากระบบการตอบสนองความเครียดหรือคอร์ติซอลทำงานหนักขึ้น ในระหว่างเวลาที่ดูหน้าจอ ระบบการทำงานส่งสัญญาณในสมองที่ได้รับการกระตุ้นมากเกินไปอีกระบบ ก็คือ ระบบการตอบสนองต่อรางวัลหรือโดพามีน ซึ่งจะหลั่งออกมาเมื่อสมองได้รับรางวัลจากความตื่นเต้น แปลกใหม่ สนุกสนาน

การหลั่งสารโดพามีนในปริมาณที่เหมาะสมของสมองจากความเพลิดเพลินที่ได้จากการออกกำลังกาย ฟังเพลง และความรู้สึกผ่อนคลายจากการพักผ่อนนอนเล่นบนชายหาด ถือเป็นคุณภาพของชีวิตที่ดี

แต่โดพามีนที่สมองผลิตออกมาจากการเล่นเกมออนไลน์ให้ผลที่ต่างออกไป

ผลการสแกนสมองเด็กที่กำลังเล่นวิดีโอเกม พบปริมาณการหลั่งโดพามีนในสมองมีปริมาณที่คล้ายกับการหลั่งสารโดพามีนในสมองของคนที่ติดโคเคน ซึ่งเป็นการหลั่งโดพามีนในระดับรุนแรง จนสมองไม่สนใจการหลั่งสารโดพามีนที่เกิดขึ้นจากการได้ปฏิสัมพันธ์กับผู้คนในสังคม อธิบายได้ว่าทำไมคนที่ติดเกมจึงมีพฤติกรรมที่หมกมุ่นกับเกมได้ติดต่อยาวนาน หยุดไม่ได้ โดยไม่สนใจคนรอบข้าง ไม่ต้องการปฏิสัมพันธ์พูดคุยกับใคร หรือแม้แต่กินอาหารซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพอย่างมาก

            ดังนั้น สิ่งที่นักวิชาการแนะนำคือ ในแต่ละบ้านจึงควรมีข้อตกลงร่วมกันที่ชัดเจน ระหว่างพ่อแม่และลูกวัยรุ่น ในการใช้เทคโนโลยี แทนการบังคับฝ่ายเดียว โดยมีหลักใหญ่ๆไม่กี่ข้อที่เขียนไว้ในบ้านให้เห็นกันชัดเจน โดยเริ่มจากการร่วมกันวางลำดับความสำคัญของชีวิต เช่น การเรียน การได้อาหารที่ดีมีประโยชน์(รวมทั้งอร่อย) การอยู่ในสภาพแวดล้อมที่สุขสงบและสะอาด การมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน

          ข้อตกลงร่วมกันที่พูดคุยตกลงและร่วมกันยึดถือให้เป็นวิถีปฏิบัติของบ้าน ตัวอย่างเช่น

              – ไม่ใช้เทคโนโลยีและมือถือในระหว่างรับประทานอาหาร

              – ใช้เทคโนโลยีได้เมื่อทำการบ้าน ออกกำลังกาย หรืองานที่ได้รับมอบหมายเรียบร้อยแล้ว

              – งดใช้หน้าจออย่างน้อยหนึ่งชั่วโมงก่อนเข้านอน และการวางโทรศัพท์ให้ห่างจากเตียง

              – พักสายตาจากหน้าจอและมองออกไปให้ไกลทุกๆ 20 นาทีที่ใช้คอมพิวเตอร์หรือมือถืออย่างต่อเนื่อง

          หรือข้อตกลงอื่นใด ที่เหมาะสมตามบริบทของแต่ละบ้าน และทำได้จริง แต่ที่สำคัญทุกข้อตกลงนั้น ลูกวัยรุ่นควรได้ร่วมออกความเห็นและพูดคุยกัน จนเป็นความยินยอมพร้อมใจ และพ่อแม่ทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดี  หากบังคับหรือพ่อแม่เอาตนเองเป็นหลักแต่ฝ่ายเดียว ลูกวัยรุ่นก็จะแหกกฎ ซึ่งเป็นไปตามธรรมชาติของวัยที่กำลังจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ต้องการทักษะในการคิด อิสระ และการยืนอยู่ให้ได้ด้วยตนเอง

พ่อแม่ไม่ควรกีดกันลูก วัยรุ่นจำเป็นต้องเห็นโลกอย่างที่มันเป็นอยู่ เพื่อเข้าใจโลกว่าเป็นอย่างไร สามารถรับมือและจัดการชีวิตของตนในโลกนี้ได้อย่างไร ทั้งนี้ การดูเนื้อหาเรื่องราวต่างๆ สามารถเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนกันระหว่างพ่อแม่และลูกวัยรุ่น ถึงสถานการณ์ที่เห็นจากสื่อ การนำมาปรับเทียบกับชีวิตจริง เพื่อต่างได้เข้าใจกันและกัน เรียนรู้และนำไปปรับใช้ได้ในชีวิตประจำวัน

การตั้งคำถามจะทำให้ลูกได้เกิดทักษะคิด วิเคราะห์ และต่างฝ่ายได้ฝึกทักษะในการเข้าใจมุมมองของวัยที่ต่างกัน ทำให้เข้าอกเข้าใจกัน รวมทั้งมีความผูกพันกันมากขึ้น

แต่ทั้งนี้ พ่อแม่ต้องระวัง ไม่ตั้งหน้าตั้งตาสอน เพราะการสอนนั้นควรได้สอนไปแล้วตั้งแต่ตอนที่เขายังเด็ก วัยรุ่นไม่ต้องการการจ้ำจี้จ้ำไช แต่ต้องการการยอมรับและการแสวงหาตัวตนจากการนำสิ่งที่ได้เรียนรู้มา ไม่ว่าจะเป็นจากพ่อ แม่ ครูหรือคนที่เคารพนับถือ ซึ่งเป็นฮีโร่ในดวงใจมาผสมผสานเป็นตัวตนของตนเอง ดังนั้นพ่อแม่ต้องคอยเตือนตัวเอง ให้รับฟังลูก ทำความเข้าใจมุมมองและสถานการณ์ในยุคสมัยนี้ ที่ต่างไปจากเมื่อเราเป็นวัยรุ่น และแลกเปลี่ยนกันอย่างตรงไปตรงมา ด้วยวิธีนี้วัยรุ่นจะยิ่งเปิดใจรับพ่อแม่มากขึ้น และไม่ถือสาที่บางเรื่องพ่อแม่ไม่เข้าใจ หรือตามไม่ทัน

อย่างไรก็ตาม การตั้งกฎกติกาไม่สำคัญเท่ากับการพูดคุยและการรับฟัง สานสายใยความรักเมตตา เชื่อมั่นในตัวลูก พ่อแม่เป็นคนที่ทรงอิทธิพลต่อชีวิตของลูกมากกว่าที่ตนเองคิด อีกทั้งเซลล์กระจกเงาในสมองของเราเรียนรู้และทำตามสิ่งที่เรามองเห็น วัยรุ่นจึงทำตามสิ่งที่เห็นพ่อแม่ปฏิบัติ มากกว่าการทำตามสิ่งที่พ่อแม่บอกให้ทำ

และท้ายสุด
สนุกกับหน้าจอ
ใช้เวลาร่วมกันหน้าจอ เช่น ดูหนัง ฟังเพลง เล่นเกมด้วยกัน
แต่อย่าใช้มากเกินไป


อ้างอิง:

-Mizuko Ito, Hanging Out,Messing Around, and Geeking Out: Kids Living and Learning with New Media, The MIT Press, 2013

-Anya Kamenetz เขียน บุณยนุช ชมแป้น แปล, หน้าจอ-โลกจริง สมดุลใหม่ของครอบครัวยุคดิจิทัล (The Art of Screen Time: How Your Family can Balance Digital Media and Real Life), สำนักพิมพ์ bookscape กทม., สิงหาคม 2563