อย่างน้อยมันก็ไม่ใช่ยาเสพติดนะแม่

โดย | 3 เมษายน 2022 | บทความ

เด็กอาฟริกันอเมริกันวัย 8 ขวบคนหนึ่ง เห็นไมเคิล จอร์แดน แข่งฟุตบอลทางโทรทัศน์ ภาพที่จอร์แดนกระโดดชู้ตลูกลงห่วงแล้วได้คะแนนนำจนทำให้ทีมชนะนั้น ติดตาตรึงใจ แต่ไม่ใช่ท่วงท่าหรือแรงบันดาลใจว่าอยากเป็นนักบาสฝีมือฉกาจ หากเป็น “รองเท้า”ที่จอร์แดนสวมใส่ เด็กน้อยขอตังค์แม่ซื้อ ข้อต่อรองจากแม่คือคะแนนเรียนต้องได้เอ เพราะแม่เป็นครู นั่นทำให้เขาตั้งใจเรียนสุดๆ เพื่อจะได้เป็นเจ้าของรองเท้าแบบที่จอร์แดนสวมใส่ในภาพนั้น

ช่วงเป็นวัยรุ่นที่มักหมกมุ่นคลั่งไคล้แฟชั่น เขาเอาวาดแต่รูปรองเท้า สะสมแต่รองเท้า ถึงขนาดตอนอายุสิบห้าเริ่มทำงานพาร์ทไทม์ในร้านรองเท้า เพื่อจะได้แกะดูชิ้นส่วนรองเท้าที่มีตำหนิ ที่ลูกค้าคืนมา ได้ลองออกแบบรองเท้าบนกระดาษให้เพื่อน และได้ซื้อรองเท้าก่อนคนอื่นในราคาลดเฉพาะพนักงาน จนบางทีแม่ถึงกับถามว่า ลูกจะซื้อรองเท้าไปอีกสักกี่คู่ เขาก็ย้อนแม่ว่า “อย่างน้อยมันก็ไม่ใช่ยาเสพติดนะแม่”

วัยรุ่นคลั่งรองเท้าคนนั้นคือ จาเมียน ซิลส์ นักออกแบบรองเท้ารักษ์โลก ผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็นนวัตกรรุ่นเยาว์ผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงระดับโลก ในเวลานั้นซิลส์ยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่า ความคลั่งไคล้รองเท้าและชอบออกแบบรองเท้าของตน จะเอาไปทำมาหากินเป็นชิ้นเป็นอันอะไรขึ้นมาได้

ซิลส์ เข้าเรียนระดับมหาวิทยาลัย ในสาขาเอกวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ตามสมัยนิยมของมาตรฐานเด็กเก่งทั่วไป แต่เขาไม่มีความสุขกับการเรียนและเรียนไปอย่างแกนๆ แล้วในที่สุดก็ตัดสินใจลงเรียนวิชาออกแบบและโฆษณา เป็นวิชาเอกเรียนคู่กันไปกับวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ โดยที่อาจารย์ในคณะออกแบบต่างสนับสนุนให้เรียนโฆษณา มากกว่าการมาออกแบบรองเท้า (เพราะงานโฆษณาได้เงินมากกว่า) แต่ความคลั่งไคล้รองเท้าผลักดันความฝันภายในตัว จนซิลส์ยังยืนยันสิ่งที่ตนหลงใหล ในการเรียนชั้นปีสี่ซิลศ์สร้างโปรเจ็คทำบริษัทรองเท้า ออกแบบตั้งแต่รองเท้า โลโก้ สายการผลิตและการตลาด เป็นงานนำเสนอก่อนจบ ผลการนำเสนอโปรเจ็คนี้ยอดเยี่ยมจนคนฟังที่มีทั้งผู้ปกครองและนักศึกษาลุกขึ้นปรบมือให้กันทั้งห้องประชุม ทำให้เขาได้เกรดเอ ทั้งที่อาจารย์ไม่สนับสนุนให้ทำโปรเจ็คนี้เลยตั้งแต่แรก

          ความใฝ่ฝันของซิลส์คือ การสร้างโรงงานผลิตรองเท้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริงแห่งแรกของโลก

          แต่หลังเรียนจบ ซิลส์ไม่มีบริษัทรองเท้าไหนรับเข้าทำงานออกแบบ และต้องไปทำงานอย่างอื่นหลายอย่าง อย่างไรก็ตามซิลส์ยังใช้เวลาว่างออกแบบรองเท้าเข้าประกวดออนไลน์ จนได้มาทำงานกับบริษัทรองเท้าเล็กๆแห่งหนึ่ง แต่แล้วบริษัทก็ล้มละลายในช่วงเวลาที่ซิลส์กำลังตรวจงานผลิตรองเท้าในประเทศจีน ที่จีนซิลส์พบว่ากระบวนการผลิตรองเท้า มีควันพิษซึ่งในระยะยาวทำให้คนงานตายได้ แถมยังมีการสร้างขยะขึ้นมามหาศาลจากกระบวนการผลิต ซิลส์ครุ่นคิดอย่างหนักก่อนพบว่า เขาสามารถผลิตรองเท้าเทนนิสที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้ โดยใช้การเย็บแทนการติดกาว ซึ่งนอกจากจะทนทานกว่า ต้นทุนยังถูกกว่าอีกด้วย และเขาก็ได้ตระหนักในเวลานั้นเองว่า หลายปีมานี้ตนได้ทุ่มเทและได้เรียนรู้ทุกแง่มุมของธุรกิจรองเท้า ตั้งแต่เป็นคนขาย เป็นคนแก้ปัญหา ออกแบบ ร่วมการผลิตรองเท้า และทำการตลาด

และนี่คือจุดเริ่มต้น ของการเป็นสตาร์ทอัพที่ผลิตรองเท้าเทนนิสและรองเท้าทำงานคุณภาพเยี่ยมที่รักษ์โลก

รองเท้าที่ซิลส์ออกแบบมีตั้งแต่ รองเท้านิรภัยที่สวมใส่แล้วพอดีเท้า และน้ำหนักเบาขึ้นมากกว่า 75%, รองเท้าออร์แกนิกโดยใช้ปอแก้ว, และกระบวนการผลิตรองเท้าที่ใช้คนเพียงคนเดียว จากเดิมที่ใช้คนถึง 30 คน ซึ่งทำให้สามารถผลิตในสหรัฐได้โดยไม่ต้องส่งไปผลิตในประเทศจีน

          อะไรคือเบื้องหลังที่เรามองไม่เห็นจากความสำเร็จ ของนวัตกรผู้ได้รับการยกย่องในระดับโลกที่อายุน้อยชื่อ จาเมียน ซิลส์

          เด็กผิวสีที่มีแต่แม่คนนี้ ไม่มีภาพครูคนไหนในระดับมัธยม หรืออาจารย์คนไหนในระดับมหาวิทยาลัย ที่ให้แรงบันดาลใจหรือสร้างการเปลี่ยนแปลงในชีวิต วัยรุ่นคนนี้รู้สึกถูกกดดันจากครูมัธยมที่เอาแต่ผลักดันให้เขาเรียนสะเต็ม เพราะจบแล้วมีงานที่รายได้ดีกว่า อาจารย์มหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ก็คิดว่าเขาควรเรียนโฆษณาเพราะมันคุ้มค่ากว่า “เธอเป็นนักออกแบบรองเท้าไม่ได้หรอก” มีเพียงอาจารย์สอนวิชาโฆษณาคนหนึ่งที่สนับสนุน “การเสพติด” รองเท้าของเขา และสอนว่า “คิดงานให้ออกก่อนหยิบดินสอมาเขียนลงกระดาษ” ซึ่งเป็นเทคนิคที่ช่วยให้เขาออกแบบได้เร็วขึ้น และดีขึ้นมาก

ประสบการณ์ดีๆ ที่ซิลส์ซึ่งเป็นเด็กขี้อายได้รับ มาจากการลงมือปฏิบัติ มาจากการฝึกงานตอนมัธยมช่วงปิดเทอมกับนักออกแบบสื่อสิ่งพิมพ์ของบริษัทออโตโซน ที่สารภาพตอนหลังว่า ตอนนั้นงานหลายชิ้นของซิลส์ดูงี่เง่า อ่อนต่อโลก บางชิ้นก็หลุดโลกไปเลย แต่เขาก็ห้ามตัวเองไม่ให้ตัดสินเด็ก ส่งเสริมให้ลองเล่นและทำไปตามที่คิด  เพราะงานของวัยรุ่นคนนี้ช่างเต็มไปด้วยจินตนาการ เขาจึงมีแต่ให้กำลังใจ แนะนำเทคนิค เครื่องมือและทักษะใหม่ๆ ให้ เพื่อให้วันรุ่นคนนี้ได้พยายามต่อไปเสมอ

          จากการสัมภาษณ์ เออร์เนล ซิลส์ผู้เป็นแม่ โทนี่ แวกเนอร์ ผู้เขียนหนังสือเรื่อง “คู่มือสร้างนักนวัตกรเปลี่ยนโลก” (Creating Innovators : The Making of Young People Who Will Change the World) พบว่า แม่เลี้ยงเดี่ยวคนนี้สนับสนุนลูกให้เล่น ทำในสิ่งที่ตนหลงใหล และตั้งเป้าหมายที่ตนต้องการไปถึง ให้ความเชื่อมั่นในตัวลูก แม้ว่าความหลงใหลของลูกดูแปลกหรือประหลาดไปจากคนอื่น แม่ให้โอกาสลูกได้ลองเสี่ยงในสิ่งที่ตั้งใจทำ และล้มได้ ไม่เคยพูดกับลูกว่า “เมื่อไหร่จะหาเงินได้ซะที” เออร์เนลคิดเสมอว่าการที่ลูกได้ทำในสิ่งที่หลงใหลเป็นเรื่องสำคัญ เธอคิดว่าคนที่ไม่มีความสุขในการทำงานก็แค่ได้ทำงาน แต่งานนั้นไม่สามารถเป็นอาชีพ และการได้แค่ทำงานไม่ใช่หนทางสู่ความสุขในชีวิต การได้รู้จักตนเองทั้งความชอบ ความปรารถนา ความสามารถรวมทั้งจุดอ่อน และเรียนรู้ที่จะพัฒนาตนเองและทำบางอย่างให้สังคมและโลกดีขึ้น ตอบความหมายของชีวิตได้ดีกว่า

          นวัตกรหรือผู้สร้างสิ่งใหม่ให้โลกเช่น จาเมียน ซิลส์ ล้วนสะท้อนให้เห็นถึงทักษะของสมองส่วนหน้า (Executive Function: EF) ที่มีประสิทธิภาพ ความคิดสร้างสรรค์มีรากฐานมาจากทักษะ EF พื้นฐานเรื่องความคิดยืดหยุ่น แต่นวัตกรไม่เพียงแต่ใช้ทักษะคิดยืดหยุ่น คือเปลี่ยนวิธีคิดเมื่อเงื่อนไขเปลี่ยนเท่านั้น แต่ตลอดเส้นทางของการทำงาน ทักษะ EF หลากหลายถูกปั่นให้ทำงาน ตั้งแต่ความจำเพื่อใช้งาน หยิบเอาสิ่งที่รู้มาใช้ในเงื่อนไขใหม่ อีกทั้งในการบริหารการเรียน การงาน เวลาและชีวิต ล้วนใช้ทักษะอย่างหลากหลาย ทั้งยั้งคิด ไตร่ตรอง จดจ่อ ควบคุมอารมณ์ ประเมินตนเอง ริเริ่มลงมือทำ วางแผนจัดการ และพุ่งเป้าหมาย ฯลฯ ตามจังหวะและความจำเป็น จนเป็นนิสัย เชี่ยวชาญ จนเป็นคุณลักษณะและสมรรถนะติดตัวไป

           แต่สิ่งหนึ่งที่สำคัญที่สุดที่จะต้องเข้าใจด้วย คือ สมองส่วนหน้าจะทำงานได้ดีนั้น สมองส่วนกลางของวัยรุ่นคนหนึ่งต้องได้รับการตอบสนอง นั้นคือความรู้สึกมั่นคง จากการมีพ่อแม่และคนรอบข้างให้โอกาส เชื่อใจ สนับสนุน ความรู้สึกพึงพอใจและเป็นสุขจากการได้ทำสิ่งที่ตนชอบ คือรากฐานที่เปิดทางให้สมองส่วนคิดที่อยู่บริเวณรอบนอก ได้ทำงานอย่างเต็มที่ คือจุดกำเนิดของการทำงานของสมองที่งดงาม

                ลองสำรวจดูว่า วัยรุ่นของเราได้ลงมือทำ รู้สึกมั่นคง พึงพอใจและเป็นสุข กับความคิดความฝันของเขาแค่ไหน ?

                จะเป็นคำตอบที่บอกเราว่า พลังวิริยะภาพอันมหาศาลของเขาจะออกไปในทิศทางไหน

                และจะบอกเราด้วยว่า สังคมจะได้นวัตกรใหม่ๆ หรือจะได้วัยรุ่นเรียนดีที่กรีดแขนตนเองและอยากฆ่าตัวตาย ….อย่างไหนมากกว่ากัน


อ้างอิง

โทนี่ แวกเนอร์ เขียน,  ดลพร รุจิรวงศ์ แปล, “คู่มือสร้างนักนวัตกรเปลี่ยนโลก” (Creating Innovators : The making of young people who will change the world), สำนักพิมพ์ bookscape ,