พัฒนาความสามารถ ในการคิดยืดหยุ่นของเด็ก

โดย | 19 พฤษภาคม 2022 | บทความแปล

พัฒนาความสามารถ ในการคิดยืดหยุ่นของเด็ก

ทักษะยืดหยุ่น (Cognitive Flexibility/ Shifting) เป็นทักษะพื้นฐานของทักษะสมองส่วนหน้า (Executive Functions: EF) ซึ่งเป็นทักษะกระบวนการคิดชั้นสูงในสมองของมนุษย์ เป็นความสามารถในการเปลี่ยนมุมมอง เช่น สามารถเห็นบางอย่างจากการมองมาจากมุมที่คนอื่นยืนอยู่ (ที่ไม่เหมือนกับจุดที่ตนเองมองเห็น) สามารถเปลี่ยนวิธีการคิดเกี่ยวกับปัญหา เช่น คิดออกไปนอกกรอบ เปลี่ยนวิธีการ แก้ปัญหาต่างไปจากวิธีการเดิมที่เคยทำมา หาทางออกให้กับปัญหาใหม่ที่เกิดขึ้น สามารถปรับเปลี่ยนการคิดได้เมื่อเป้าหมายหรือความคาดหวังเปลี่ยน ไปจนถึงสามารถเปลี่ยนความต้องการ เปลี่ยนลำดับความสำคัญ ยอมรับได้ว่าที่ตนเองคิดมา ทำมา ไม่ถูก รวมถึงความสามารถในการคว้าโอกาสที่คาดไม่ถึงได้ในทันทีที่โอกาสมาถึง รวมถึงความสามารถคิดเรื่องราวหลายๆเรื่อง ในเวลาเดียวกัน  ซึ่งทักษะที่กล่าวมานี้เป็นทักษะที่จำเป็นในการใช้ชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการทำงานบริหาร ยิ่งรับผิดชอบงานในระดับสูงยิ่งขึ้นไปเท่าไหร่ ยิ่งสถานการณ์ผันผวนมากขึ้นเท่าไหร่ ยิ่งต้องการทักษะยืดหยุ่นดังได้กล่าวไปมากขึ้นเท่านั้น

          ในวัยเด็กนั้น ทักษะยืดหยุ่นความคิดมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดตามติดมากับทักษะยั้งคิด ไตร่ตรอง (Inhibitory Control) และความจำเพื่อใช้งาน (Working Memory) เด็กที่ปรับตัว ปรับพฤติกรรมและความคิดของตนเองยาก ก็จะเรียนรู้เรื่องราวต่างๆ ลำบากมากกว่าเด็กคนอื่นๆ ชีวิตในแต่ละวันที่เราใช้ในการทำงานและอยู่ร่วมกับกับผู้อื่น มีเรื่องและสถานการณ์มากมายที่เปลี่ยนแปลงไป อาจจะมีความขัดแย้ง มีเรื่องที่ต้องแก้ปัญหา หรือตัดสินใจว่าจะต้องทำอย่างไรต่อไปอยู่เสมอ เด็กเล็กๆ เวลาที่กำลังเล่นอยู่และเกิดต้องเลิกเล่นทันที เพราะแม่มีเรื่องด่วนที่ต้องทำ เด็กอาจจะมีอารมณ์ และเป็นทุกข์เพราะกำลังสนุกอยู่กับการเล่น การฝึกฝนทักษะยืดหยุ่นความคิดให้แก่เด็ก นอกจากจะช่วยให้เด็กมีความสามารถรับมือกับการปรับเปลี่ยน การปรับตัว ในโลกที่มีความผันผวนตลอดเวลา ยังจะช่วยให้เด็กสามารถพัฒนาศักยภาพในการจัดการ บริหารชีวิต การงานจนไปประสบความสำเร็จได้

          การเล่นเป็นวิธีการที่วิเศษสุด ในการฝึกทักษะยืดหยุ่นความคิดให้กับเด็กๆ การเล่นเป็นเรื่องที่สนุก อีกทั้งยังเป็นการฝึกฝนเด็กได้โดยไม่จำเป็นต้องทำให้เป็นเรื่องจริงจังหรือคอขาดบาดตาย สามารถสอดแทรกการฝึกฝนทักษะนี้ไปในชีวิตประจำวันพร้อมกันได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่โดยเริ่มได้จาก

  • ไม่ตัดสินตัวเองและลูกๆ ว่าทำอย่างนี้ถูก หรืออย่างนี้ทำไม่ได้ เพื่อให้ “ตัวตน” ของทุกคนได้รับการยอมรับ ไม่จำเป็นต้องแตกหักไปกับทุกเรื่อง ฝึกให้ทุกคนยืดหยุ่นปรับตัว พลิกแพลง รับมือกับทุกสิ่งที่เกิดขึ้นไปตามวิถีของแต่ละคน
  • ถามลูกด้วยคำถามว่า “มีวิธีที่จะ…ได้อย่างไรบ้าง?” ให้เด็กได้แสดงความเห็นและวิธีหลายๆ แบบ ก่อนตัดสินใจ ตัวอย่างเช่น ถ้าลูกต้องออกจากบ้านเพื่อไปโรงเรียน สามารถใช้เส้นทางไหนไปได้บ้าง จะนั่งรถหรือมีวิธีการไหนได้บ้างที่จะไปโรงเรียน
  • ชวนกันกับลูกแต่งเรื่อง ให้ลูกของเป็นตัวละครหลัก แล้วช่วยกันสร้างเรื่องราวหรือผสมผสานเรื่องที่เด็กสนใจ ว่าทำอย่างนั้นได้ไหม ทำอย่างนี้ดีไหม ทดลองแต่งเติมเรื่องให้ดำเนินไปได้หลายๆแบบ หรือเล่นต่อเรื่อง ด้วยคำพูดว่า “ใช่ และ…..” (Yes, and………) เช่น ใครสักคนอาจจะเริ่มต้นด้วยประโยคว่า “ วันนี้อากาศดี ฉันจึงไปเดินเล่นบนภูเขา อีกคนก็คิดและต่อเรื่องว่า “ใช่ และ ฉันยังเอาหมาไปด้วย” อีกคนก็ต่อเรื่องไปอีกว่า “ใช่ และเราก็ออกเดินทางจากบ้านไปตั้งแต่เช้าตรู่” อย่างนี้ไปเรื่อย ๆ ชวนกันสร้างเป็นเรื่องขึ้นมาและหาทางจบ อาจจะชวนกันเริ่มประโยคแรกที่เหมือนกัน เพื่อให้เห็นว่ามีความคิดและหนทางสร้างเรื่องราวได้หลายวิธี
  • ในการใช้ชีวิตแต่ละวันที่มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น ให้ลองปรึกษาหารือกันในบ้าน ให้ลูกได้ออกความเห็น ว่าจะทำอย่างไร จะแก้ปัญหาอย่างไร ฝึกให้ลูกมองด้วยมุมมองอื่นๆ กระตุ้นให้เด็กๆได้เสนอวิธีการแก้ปัญหาที่แตกต่างกัน และลองใช้วิธีการใหม่ที่ถูกเสนอขึ้น บางวิธีอาจไม่ดีไปกว่าวิธีเดิม สำคัญอยู่ที่การให้เด็กได้กล้าคิด และลองถูกลองผิด ซึ่งเรื่องนี้พ่อแม่สามารถเป็นตัวอย่างได้ดีในการรับฟัง ไม่รีบใจร้อนตัดสินถูกผิด ให้ลูกได้เรียนรู้จากของจริงที่เกิดขึ้น เด็กจะค่อยๆคิดและทำได้ดีขึ้นเรื่อยๆ ไปพร้อมกับการเชื่อมือตนเองและการเรียนรู้ที่ยกระดับขึ้น
  • ส่งเสริมให้เด็กวัยประถมศึกษาหัดทำแผนที่ความคิด ฝึกเด็กให้แก้ปัญหาเดิมซ้ำ 2 ครั้ง โดยใช้กลยุทธ์ที่แตกต่างกันในแต่ละครั้ง เรื่องนี้ครูสามารถตั้งโจทย์ให้นักเรียนทำในห้องเรียน และให้นักเรียนที่มีวิธีการแก้ปัญหาที่ต่างกันได้นำเสนอและแลกเปลี่ยนมุมมอง นอกจากทำให้เด็กแต่ละคนได้ฝึกฝนลับคมมุมมองและวิธีการแต่ละด้านที่ตนคิดได้ ยังได้เรียนลัดมุมมองอื่นๆจากเพื่อนๆด้วยกัน เกิดการยอมรับกันและกันอีกด้วย
  • ชวนกันทำอะไรแบบที่ไม่เหมือนเดิม เช่น อาจจะปรับเปลี่ยนที่นั่งของคนในครอบครัวตอนทานอาหารเย็นหรือดูทีวี เปลี่ยนแปลงการทำกิจวัตรประจำวันที่ไม่กระทบต่อการเรียนและการพักผ่อน เวลาเล่นเกมลองชวนกันเปลี่ยนกฎกติกาใหม่และในระหว่างเล่นเวลาเกมกัน ลองชวนลูกให้คิดกลยุทธ และวิธีใหม่ๆ และลองพูดสิ่งที่ตนค้นพบออกมาดังๆ
  • ชวนกันเล่าเรื่องตลก และเล่น”คำ” ที่มีเสียงพ้องกัน ให้เด็กเรียนรู้ว่า คำหนึ่งมีได้หลายความหมาย และเล่นได้หลายอย่าง เมื่อเห็นหนังสือนิทานประเภท “เล่นคำ” ให้ซื้อมาอ่านและเล่นสนุกกับลูก
  • ให้ลูกเลือกวิธีที่จะทำงานที่ได้รับมอบหมายในแต่ละวันของตน เพื่อช่วยให้ลูกฝึกฝนและควบคุมสถานการณ์ของตนเองได้
  • ชวนกันทำกิจกรรมใหม่ๆ เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ และไปเที่ยวหรือผจญภัยร่วมกัน ประสบการณ์ใหม่ช่วยให้ความคิดและมุมมองของทั้งเราและลูกเปิดกว้าง
  • สอนให้ลูกรู้เท่าทันตนเอง ให้ลูกรู้ว่า ความวิตกกังวลเป็นส่วนหนึ่งของรูปแบบการคิดที่เข้มงวด ตายตัว การยืดหยุ่นความคิด ทำให้เราพร้อมจะหาทางออกใหม่ๆและความเป็นไปได้ใหม่ๆ การเห็นหนทางหรือทางออกในเรื่องที่เรากังวลจะทำให้เราคลายความกังวลลง สอนลูกให้รู้จักจัดการกับความวิตกกังวลเมื่อต้องเผชิญเปลี่ยนแปลงหรือทำอะไรที่ไม่คุ้นเคย เช่น ให้เทคนิคการหายใจลึกๆ หรือเทคนิคการฝึกสติอื่นๆ ให้แก่ลูก และฝึกใช้จริงเมื่อความวิตกกังวลเกิดขึ้น

          ความผันผวนของการระบาดใหญ่ของไวรัสโคโรน่าทั่วโลกครั้งนี้ ทำให้เด็กๆ ต้องปรับตัวในชีวิตประจำวันอย่างมาก ต้องเรียนออนไลน์ มีวิธีเรียนในรูปแบบใหม่ ต้องปฏิบัติตัวในสถานการณ์ที่ไม่ปกติ ต้องเข้าสังคมในแบบที่ต่างไปจากเดิม และฝึกความสามารถในการแก้ปัญหาในรูปแบบใหม่ๆ ที่ไม่เจอในภาวะปกติ ทักษะยืดหยุ่นความคิดในสมองส่วนหน้าที่พ่อแม่และครูให้โอกาสเด็กฝึกฝน ปนเล่น ตั้งแต่เล็ก จะช่วยให้เด็กสามารถเปลี่ยนเกียร์และค้นหาแนวทางใหม่ในการใช้ชีวิต และแก้ปัญหาในชีวิตประจำวันไปได้อย่างดี เป็นฐานความสามารถให้ทักษะอื่นๆ พัฒนาต่อไป

          อย่าลืมว่า ความผันผวนของโลกจากวันนี้ไป มีแต่แนวโน้มที่จะมากขึ้น โลกในวันนี้และวันข้างหน้าซับซ้อนขึ้น ความเชื่อมโยงและความรวดเร็วที่ย่อโลกอันซับซ้อนเข้ามาปะทะหน้าทุกคน ทำให้ทุกอย่างคลุมเครือ ยากแก่การคาดเดา พลังของการเชื่อมโยงแต่ละคน แต่ละพื้นที่ แต่ละบริบทอย่างมหาศาล ยิ่งทำให้ไม่มีความแน่นอน คนที่มีทักษะยืดหยุ่นความคิดแข็งแรงเท่านั้น จึงยืนอยู่ ใช้ชีวิตอย่างวิตกกังวลน้อยกว่า เมตตามากขึ้น มองสิ่งที่เกิดขึ้นด้วยมุมมองใหม่ ด้วยมุมมองของคนอื่น แก้ปัญหาด้วยวิธีการใหม่ หากวิธีเดิมใช้ไม่ได้ผลดี ปรับเปลี่ยนเป้าหมายได้ ทำสิ่งที่สำคัญกว่าได้ ล้มแล้วก็ลุกเดินต่อได้ ยอมรับได้ว่าตนอาจไม่ “ถูก” เสมอไป

          โลกยากขึ้น แต่ฝึกเด็กได้ง่ายๆ ผ่านการฝึกฝนปนเล่น หากพ่อแม่เข้าใจ และยืดหยุ่นความคิดตนเอง


อ้างอิง
• Mary Makowski and and Christine MacDonald, What Is Cognitive Flexibility and How Do I Help My Child With It?, https://www.foothillsacademy.org/community-services/parent-education/parent-articles/cognitive-flexibility, Dec. 1, 2020
• Julie Rawe, How to help kids build flexible thinking skills,https://www.understood.org/en/articles/build-flexible-thinking-child, สืบค้น 5 เมย. 2565