ความรู้ชุด : ความผูกพันไว้ใจ

ไม่มีพ่อแม่คนไหนสมบูรณ์แบบ

ความทรงจำในวัยเด็ก ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์ในครอบครัว ความรู้สึกต่อพ่อแม่ที่เป็นอดีตอันเจ็บปวด ในวัยเด็ก หรือความสุขที่ได้รับจากความรักการดูแลเอาใจใส่จากพ่อแม่  มักหล่อหลอมและเป็นรูปแบบความผูกพัน และวิธีการ ที่คนเป็นพ่อแม่นำไปปฏิบัติต่อลูกของตนต่อ  ดังที่ตนเคยได้รับประสบการณ์มาในอดีตมา

รูปแบบความผูกพันที่ผู้ใหญ่มีกับพ่อแม่ของตน เป็นตัวทำนายที่ดีว่า พ่อแม่แต่ละคนจะมีสไตล์การสร้าง ความสัมพันธ์แบบใดแบบหนึ่งกับลูกของตน การทำความเข้าใจความสัมพันธ์ในอดีตของพ่อแม่หรือผู้ปกครอง จะช่วยให้เราเข้าใจกระจ่างถึงพฤติกรรมของพ่อแม่ที่ปฏิบัติต่อลูกได้   เนื่องจากโดยปกติมนุษย์เรียนรู้ ผ่าน “การ เลียนแบบ” มากกว่าการเรียนรู้แบบอื่น

 การเลียนแบบเป็นการเรียนรู้ซึ่งเกิดขึ้นตลอดเวลาที่เรารับเข้ามาในตนเองโดยไม่รู้ตัว ผ่านการเห็น การ ได้ยิน การสัมผัส คนส่วนมากจึงมักจะเลียนแบบพฤติกรรมของพ่อแม่ที่กระทำต่อตัวเอง แม้ว่าจะรู้สึกไม่ชอบ หรือกระทั่งเกลียดชังการกระทำดังกล่าวก็ตาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยามที่ยังเป็นเด็ก และถูกกระทำจากพ่อแม่ หรือผู้ใหญ่ที่ดูแลตนอย่างที่ไม่ควรเป็น

เด็กที่ถูกกระทำเหล่านี้ เมื่อเติบโตขึ้นมา ส่วนใหญ่มักต่อต้านการกระทำดังกล่าว และประกาศว่าตนจะ ไม่ทำผิดพลาด ซ้ำซาก จะไม่ปฏิบัติต่อลูกเช่นที่พ่อแม่ทำ แต่ในทางปฏิบัติจริงก็มักมีพฤติกรรมทำผิดซ้ำซาก นำสิ่งที่ พ่อแม่ปฏิบัติต่อตนนั่นเอง มาปฏิบัติต่อลูก ในบทสัมภาษณ์เรื่อง Adult Attachment Interview ซึ่งเป็นการศึกษา สตรีมีครรภ์ เพื่อคาดการณ์ว่า แม่ในอนาคตเหล่านี้จะมีรูปแบบความผูกพันกับลูกอย่างไร

สตรีมีครรภ์คนหนึ่งให้สัมภาษณ์ว่า เธอได้คิดหาวิธีการที่จะใช้ควบคุมลูกที่กำลังจะลืมตาออกมาดูโลก เรียบร้อยแล้ว จากการสัมภาษณ์ ข้อมูลที่เธอให้รายละเอียด ได้บอกเล่าอย่างชัดเจนว่า ในตอนที่เป็นเด็กเคยถูกแม่ ควบคุมอย่างไร เธอไม่ชอบและพยายามต่อสู้ดิ้นรน ไม่ทำตามแม่ที่คอยบงการชีวิตตน แต่การไม่ได้ตระหนักในเรื่อง นี้อย่างมีสติ เธอจึงกำลังจะทำผิดเหมือนแม่ของเธอเองโดยไม่รู้ตัว และในการวิจัยศึกษานั้นพบว่า คนจำนวนมาก ก็เป็นเช่นนี้ พ่อแม่ที่ไม่เข้าใจอารมณ์ของตนเอง ย่อมยากที่จะสอนลูกให้เข้าใจอารมณ์ของตนเอง พ่อแม่ที่ดีจึงต้อง เข้าใจตัวเองก่อน จึงจะสามารถเลี้ยงดูลูกของตนได้อย่างมีประสิทธิภาพ  หน้าที่ของพ่อแม่คือ การสอนลูกๆ ให้ เรียนรู้ ที่จะสามารถมีชีวิตอยู่ได้ด้วยตนเองแม้ในเวลาที่ไม่มีพ่อแม่อยู่ด้วย เด็กทุกคนจึงต้องเรียนรู้ที่จะเข้าใจ อารมณ์ของตนเอง เพื่อจะได้รู้ว่า ควรปฏิบัติตนอย่างไรในสถานการณ์ที่แตกต่างกันไป เด็กเล็กซึ่งยังมีความจำเป็น ต้องพึ่งพาพ่อแม่เพื่อเรียนรู้สิ่งที่ควรทำในแต่ละวัน เพื่อดำเนินชีวิตด้วยความสุข มีสุขภาพแข็งแรง และเรียนรู้ที่จะ พึ่งตนเองมากขึ้น ในขณะที่สามารถอยู่กับผู้อื่นอย่างมีความสุข อีกทั้งหลีกเลี่ยงไม่ทำสิ่งที่ทำร้ายตนเองและผู้อื่น รู้สึกปลอดภัยในสภาพแวดล้อมของตน

          พ่อแม่ผู้ปกครองต้องเรียนรู้ที่จะอยู่เคียงข้างเด็กเล็กที่กำลังเรียนรู้และสร้างตัวตนของตนขึ้นมา และแสดง ให้เด็ก ๆ รู้ว่า ตนมีคนที่รักและมีชีวิตที่ปลอดภัย

ในการเลี้ยงดูลูกนั้น มีเรื่องให้พ่อแม่ผู้ปกครองเรียนรู้และพัฒนาได้ตลอดเวลา เมื่อพ่อแม่ผู้ปกครอง โดย เฉพาะแม่ ได้รับการศึกษาเกี่ยวกับการดูแลเด็ก ก็จะสามารถปรับปรุงรูปแบบ ความผูกพันกับเด็กเล็กๆที่กำลัง เติบโตขึ้นมาได้ อีกทั้งการได้รับคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญก็จะช่วยให้พ่อแม่ทำหน้าที่ของตนได้ดีขึ้น จากการศึกษา พบว่า พ่อแม่ที่เข้ามารับการปรึกษาหรือได้รับความรู้ในการเลี้ยงดูลูกถึง 68 เปอร์เซ็นต์ สามารถสร้างความผูกพัน ไว้ใจกับลูกได้เป็นอย่างดี การศึกษานี้สะท้อนว่า แม้ว่าแม่ที่มีปัญหากับลูก เมื่อได้รับการช่วยเหลือและได้รับคำ ปรึกษา ก็ยังสามารถปรับปรุงความสัมพันธ์ สร้างความผูกพันไว้ใจให้ลูกได้เป็นอย่างดี

เมื่อทัศนคติต่อการเป็นพ่อแม่และประสบการณ์ของเราในวัยเด็ก มีผลอย่างมากต่อรูปแบบการเลี้ยงดูลูก ของเรา พ่อแม่ทุกคนจึงต้องเรียนรู้ให้ตระหนักถึงความรู้สึกจากประสบการณ์ที่ตนเคยประสบ เพื่อเรียนรู้และดึงตน เองออกมาจากวงจรเดิมๆ การเรียนรู้และความเข้าใจต่อตนเอง และความต้องการตามธรรมชาติของลูก จะส่งผล ให้พ่อแม่ทุกคนสามารถเลี้ยงลูกได้ดีขึ้น

ในโลกที่หมุนเร็วเช่นทุกวันนี้ คนเป็นพ่อแม่ทุกคนต่างเหน็ดเหนื่อย เคร่งเครียดจากภาระหน้าที่การงาน และเมื่อมีภาระหน้าที่ที่ต้องเลี้ยงลูกอีก ในความเป็นจริงจึงเป็นไปได้มากว่า พ่อแม่ส่วนใหญ่จะไม่สามารถตอบ สนองลูกได้อย่างเหมาะสมตลอดเวลา หรือรับทุกสัญญาณที่ลูกส่งมาให้ได้ทุกครั้ง อย่างไรก็ตามเมื่อเกิดพลาดไป แล้ว ตราบเท่าที่พ่อแม่ยินดีแก้ไข การทำบางอย่างพลาดไป อาจเป็นโอกาสที่จะปรับปรุงสายสัมพันธ์กับลูก และ เป็น “โอกาส” ดีที่ลูกได้เรียนรู้ชีวิตว่า ไม่มีอะไรในโลกนี้สมบูรณ์แบบ เราทุกคนมีเรื่องและโอกาสที่จะเจอความ ผิดหวังได้ทั้งสิ้น

ความรับผิดชอบของการเป็นพ่อแม่อาจดูมากมายไม่สิ้นสุด พ่อแม่ผู้ปกครองไม่เพียงแต่ต้องตรวจสอบ ให้แน่ใจว่า ความต้องการขั้นพื้นฐานที่สุดของเด็กได้รับการตอบสนองอย่างต่อเนื่อง แต่ยังมีหน้าที่ตระเตรียม ทักษะสมองให้พร้อมสำหรับชีวิตที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอนในวันข้างหน้า ซึ่งเด็ก ๆ จะเติบโตขึ้นไปและได้ พบเจอความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนขึ้น อีกทั้งหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะพบกับความท้าทาย ปัญหาและความผิดหวังที่อาจ เกิดขึ้นได้เสมอ


ความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่ผู้ปกครองกับเด็กเล็กนั้น บางครั้งผู้ใหญ่อาจจะเผลอขึ้นเสียงกับเด็ก หรือ ดุเพราะเข้าใจผิดว่าเด็กทำบางอย่างไม่ดี อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้น พ่อแม่และผู้ใหญ่ทุกคนสามารถ กล่าวขอโทษเด็กได้ แล้วหลังจากนั้น การหาอะไรทำสนุกๆร่วมกัน เช่น อ่านหนังสือที่ชอบให้ฟัง เล่นเกมส์ที่ชอบ ด้วยกัน จนเด็กรู้สึกสงบลง ก็เป็นการให้ประสบการณ์แก่เด็กได้เรียนรู้ว่า ในความรักความสัมพันธ์นั้น ทุกคนมีสิทธิ พลาดกันได้ทั้งนั้น แต่เราจะรักษาความสัมพันธ์ ไม่เพิกเฉยต่อความรู้สึกของกันและกันจนเกิดเป็นความแตกร้าว


การเป็นพ่อแม่ที่ไม่สมบูรณ์เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ การแก้ไขโดยไม่เพิกเฉย จะทำให้ลูกเรียนรู้ที่จะมีความ  ยืดหยุ่นในชีวิตต่อไป การที่พ่อแม่ผู้ปกครองมักจะตอบสนองเด็กอย่างไม่เข้าใจต่อภาวะ ความต้องการที่แท้จริง ของเด็ก เช่น การเล่นหรือแหย่ให้เด็กรู้สึกสนุก ขณะที่เด็กอารมณ์ไม่ดี และต้องการการปลอบโยน การตอบสนอง เด็กอย่างไม่เข้าใจเช่นนั้น หมายความว่า ความต้องการที่แท้จริงขณะนั้นของเด็กกำลังถูกละเลย เด็กยังเล็กต้อง พึ่งพาผู้ใหญ่ และต้องการให้พ่อแม่รัก แต่ก็รู้เรื่องพอและสามารถสัมผัสได้ว่า พ่อแม่หรือผู้ที่ดูแลไม่พร้อมที่จะตอบ สนองต่อความต้องการของตน  ส่งผลให้เด็กเรียนรู้ที่จะเบี่ยงเบน สร้างเรื่องให้พ่อแม่และผู้ใหญ่สนใจ เช่น หากเด็ก ได้รับประสบการณ์บ่อยๆว่า พ่อแม่ผู้ปกครองไม่สนใจเมื่อตนเองร้องไห้ แต่จะสนใจและชอบเฉพาะตอนที่ตนยิ้ม เท่านั้น  เด็กๆจะเรียนรู้ที่จะเปลี่ยนน้ำตาเป็นรอยยิ้ม เนื่องจากประสบการณ์ที่ประสบมาทำให้เชื่อว่า เป็นวิธีเดียว ที่จะเรียกความสนใจจากพ่อแม่ได้ เมื่อเด็กโตขึ้นและมีประสบการณ์น้อยนิดในการจัดการกับความรู้สึกเศร้าและ น้ำตาของตนที่ไหลออกมา  ก็อาจจะไม่เข้าใจและกลายเป็นแสดงอาการเย็นชาเมื่อเจอคนโศกเศร้าเสียใจ หรือ ร้องไห้   ในทางกลับกัน หากพ่อแม่ผู้ปกครองปกป้องลูกมากเกินไป ดูแลดีเกินไป ลูกก็จะไม่ได้เรียนรู้ที่จะยืดหยุ่น และเปราะบางเกินกว่าจะพึ่งตนเองได้เช่นกัน

เด็กที่สุขภาพจิตดี คือเด็กที่รู้สึกปลอดภัยและสบายใจ สามารถแสดงอารมณ์และความต้องการของตน อย่างซื่อตรงต่อพ่อแม่ผู้ปกครอง ผู้ใหญ่ที่สามารถส่งเสริมความซื่อสัตย์ทางอารมณ์ได้  ก็คือคนที่สามารถสร้าง สมดุลระหว่างการให้กำลังใจลูกในการพึ่งพาตนเอง และให้ความอ่อน โยน ปลอบประโลมเมื่อเด็กรู้สึกไม่มั่นคง เปราะบาง

ในขณะที่ตัวพ่อแม่เองก็มักมีภาวะเครียดจากการงานและสภาพสังคมที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว สิ่งที่พ่อแม่ ควรทำ คือ “การใส่ใจ”กับอารมณ์ของตนอย่างใกล้ชิดด้วย และระมัดระวัง ไม่เผลอแสดงความก้าวร้าวออกไป กับลูก เคล็ดลับที่เป็นประโยชน์อย่างมากและทำได้ง่ายวิธีหนึ่งคือ ใช้การฝึกหายใจเพื่อสงบสติอารมณ์ ในช่วงเวลา อารมณ์ปะทุระอุขึ้นมา และเมื่อพลั้งทำอารมณ์เสียหรือแสดงความก้าวร้าวกับลูกไป สิ่งที่ช่วยให้ลูกกลับมารู้สึก ปลอดภัยได้อีกครั้งคือ การขอโทษ และใช้เวลากับลูก เพื่อฟื้นฟูความสัมพันธ์ให้คืนมาสู่ความเป็นปกติให้เร็วที่สุด สิ่งที่พ่อแม่ต้องระลึกไว้เสมอคือ “ความสัมพันธ์ไม่ได้สมบูรณ์แบบเสมอไป แต่สามารถซ่อมแซมได้เสมอ”

ผู้ใหญ่เราจำนวนมากเติบโตมาแบบไม่ได้รับการดูแลอย่างถูกต้องมาก่อน จนดูเหมือนเป็นเรื่องยาก หรือ แทบเป็นไปไม่ได้ที่จะทำได้ตามแนวการปฏิบัติที่เสนอมา แต่ในความเป็นจริงนั้น พ่อแม่ผู้ปกครองทุกคน แม้แต่คน  ที่มีข้อบกพร่องก็สามารถเลี้ยงลูกให้ดีได้  เพราะในความเป็นจริงไม่มีใครสมบูรณ์แบบ ดังนั้น แม้ว่าพ่อแม่จะไม่ ได้รับการเลี้ยงดูที่ดี ก็สามารถเลี้ยงลูกให้ดีได้ ขอเพียงตระหนักรู้ถึง “จุดอ่อน” ของตน และลงมือแก้ไขอย่างจริงจัง หากตัวพ่อแม่เองเกิดความรู้สึกไม่มั่นคง ขอให้เริ่มจากการยอมรับความรู้สึกของตนเองโดยไม่ตัดสิน โดยยอมปล่อย ให้ตนเองมีความรู้สึกความไม่มั่นคงได้ แต่ให้พยายามใช้ความรู้และสติที่จะ“ทำในสิ่งที่ควรทำ” ด้วยความรักลูกที่มี อยู่เป็นพื้นฐาน โดยตอบสนองความต้องการของลูกอย่างแท้จริง ตระหนักว่าเมื่อลูกแสดงพฤติกรรมที่ขอความ ช่วยเหลือนั้น ลูกกำลังมีความต้องการอะไร ใส่ใจในสิ่งที่ลูกทำ พอใจในสิ่งที่ทำให้ลูกภูมิใจในตนเอง   ทำให้ลูกเกิด ความนับถือตนเองมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ โดยไม่จำเป็นต้องชมเชยอยู่ตลอดเวลา เพราะในความเป็นจริงแล้ว การได้ยิน คำชมเชยอยู่เรื่อยๆ ก็ไม่ได้สร้างความภาคภูมิใจ อย่างที่ควรจะเป็น

หากพบว่าตนเป็นพ่อแม่ที่ประคบประหงม ดูแลลูกตลอดเวลา ควรเรียนรู้ที่จะนำ Circle Security ไปใช้ ทีละเล็กทีละน้อย แล้วค่อยเพิ่มระยะเวลาออกไปเรื่อยๆ อาจจะเริ่มจากรอบละ 15 ถึง 30 วินาทีในการรักษาระยะ ห่างและให้ความอิสระกับลูก จนในที่สุดลูกอยู่ห่างจากเราได้ตลอดทั้งวัน

และหากพบว่าตนเองเป็นพ่อแม่ที่ไม่สนใจ ความต้องการของลูก อย่ารีบตำหนิ หรือลงโทษตัวเอง การ เลี้ยงลูกเป็นกระบวนการ เมื่อมีความรู้เข้าใจ และตั้งใจแก้ไข พ่อแม่ทุกคนจะสามารถทำได้ดีขึ้น และสามารถเป็น “พ่อแม่ที่มีอยู่จริง” ของลูกอย่างแท้จริง อีกทั้งสามารถให้อภัยตนเองได้เมื่อตนทำให้เกิดข้อผิดพลาดขึ้น สามารถ ให้กำลังใจตนเองเพื่อสนับสนุนส่งเสริมให้ลูกได้เติบโตขึ้น เป็นผู้ใหญ่ที่มีความมั่นใจ เห็นคุณค่าตนเอง สามารถรัก ผู้อื่นได้และมีความคิดยืดหยุ่น

เวลาที่พ่อแม่ผู้ปกครองต้องเลี้ยงดูลูกน้อยโดยเฉพาะสามขวบปีแรกของชีวิต อันเป็นยามที่เด็กน้อยต้อง การเราอย่างมากทั้งการดูแล การสนับสนุนให้ลูกสำรวจ เรียนรู้โลก และสร้างตัวตนขึ้นมานั้น เป็นเวลาที่แสน เหน็ดเหนื่อย แต่ก็เป็นเพียงระยะเวลาสั้นๆเมื่อเทียบกับช่วงชีวิตที่เหลือของเราและของลูก  การเป็น “พ่อแม่ที่ มีอยู่จริง” ก็เพื่อให้ลูกมั่นใจที่จะเดินหน้าชีวิตต่อไปในยามที่ต้องยืนอยู่ด้วย ตนเองให้ได้ในยามที่เติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ และในวันที่ไม่มีเรา

อ้างอิง ;

Daniel J Siegel & Tina Payne Bryson, The Power of Showing Up: How Parent Presence Shapes Who Our Kids Become and How Their Brains Get Wired, Random House USA Inc, New York, United States, Jan 5,2021
Hoffman et al, Robert Karen, Becoming Attached: First Relationships and how They Shape Our Capacity of love, Oxford University Press, April 23,1998
Sara Bean, M.Ed, Perfect Parents Don’t Exist: Forgive Yourself for These 6 Parenting Mistakes, https://www.empoweringparents.com/article/perfect-parents-dont-exist-forgive-yourself-for-these-6-parenting-mistakes/ , สืบค้น 5 กย. 2564