ฝึกฝนทักษะสมอง EF ด้วยการพูดคุยภาษาถิ่น

นักวิจัยหลายกลุ่มทั้งในสหรัฐอเมริกาและยุโรป ได้ให้ความสนใจในเรื่องของการพูดสองภาษาว่ามีผลต่อการพัฒนาทักษะสมอง EF อย่างไรบ้าง

          คำว่าสองภาษาในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงแค่ภาษาในประเทศกับภาษาต่างประเทศเท่านั้น แต่รวมไปถึงภาษาระหว่างภาคและระหว่างจังหวัดในประเทศ ที่เรียกกันว่าภาษาท้องถิ่นหรือภาษาถิ่นด้วย
           นักวิจัยเรียกคนที่พูดสองภาษา (เช่น ภาษาไทยและภาษาอังกฤษ) ว่า Bilingual ส่วนคนที่พูดสองภาษา โดยเป็นภาษาในประเทศแต่ต่างภูมิภาคกัน (เช่น คนที่พูดได้ทั้งภาษาภาคกลางหรือภาษากลาง และภาษาอีสาน / ภาษาใต้ หรือภาษาเหนือ) ว่า Bi-Dialectal

ผลงานวิจัยเกี่ยวกับเด็ก Bilingual ส่วนใหญ่นั้น ชี้ให้เห็นถึงประโยชน์ของการพูดสองภาษาที่มีต่อการพัฒนาทักษะสมอง EF (Bialystok et al., 2010; Bialystok & Feng, 2009; Green & Abutalebi, 2013) เพราะในขณะที่พูดภาษาที่สอง เด็กจะต้องใช้ทักษะสมอง EF หลายๆ ด้าน ดังนี้

  1. ความยืดหยุ่นทางด้านการคิด (Cognitive Flexibility) ในการพูดสลับไปมาระหว่างสองภาษา
  2. ความจดจ่อใส่ใจ (Focus of Attention) ในภาษาที่ใช้พูดในแต่ละบริบทและผู้ฟัง เพราะจะต้องจดจ่ออยู่กับผู้ฟังว่าเข้าใจที่พูดหรือไม่ อย่างไร
  3. ความยั้งคิด ไตร่ตรอง (Interference Control /Inhibitory Control) ในการใช้ภาษาแต่ละภาษาและไม่นำสองภาษามารวมกันจนสร้างความสับสนต่อผู้ฟัง
  4. ความจำเพื่อใช้งาน (Working Memory) ในการใช้คำศัพท์และหลักการพูดของแต่ละภาษา อย่างเช่น
    ไวยกรณ์
  5. การประเมินตนเอง (Self-Monitoring) ในการใช้ภาษาที่ถูกต้องและเหมาะสม

          หลังจากผลงานวิจัยเกี่ยวกับเด็ก bilingual ออกมา หลายๆ คนเริ่มตั้งคำถามว่าข้อดีเหล่านี้จะสามารถเกิดขึ้นกับเด็กๆ ที่พูดภาษาถิ่น Bi-Dialectal ด้วยหรือไม่

          กลุ่มนักวิจัยจากประเทศไซปรัส (Cyprus (Antoniou et al., 2016) ได้ทดสอบเด็กอายุระหว่าง 4 ถึง 12 ปี ที่พูดภาษาถิ่น Cypriot Greek และภาษากลาง Standard Modern Greek

          ภาษาถิ่น Cypriot Greek นั้นเปรียบเทียบได้กับภาษาถิ่นของไทย เช่น ภาษาใต้ ภาษาเหนือ ภาษาอีสาน หรือภาษาชนเผ่า ซึ่งเป็นภาษาที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ใช้กับครอบครัว ญาติพี่น้อง และเพื่อนๆ ในท้องถิ่น ในจังหวัดและภาคเดียวกัน ส่วนภาษากลาง Standard Modern Greek นั้นเป็นภาษาที่ใช้ในการเรียน การทำงาน และติดต่อราชการ

         งานวิจัยนี้ได้เปรียบเทียบผลการทดสอบของเด็ก Bilingual (พูดสองภาษาระหว่างประเทศ) Bi-Dialectal (พูดสองภาษาภายในประเทศ) และ Monolingual พูดภาษาเดียว ผลการทดสอบพบว่า เด็กกลุ่ม Bilingual และ Bi-dialectal มีความสามารถทางด้านทักษะสมอง EF มากกว่าเด็กกลุ่มที่พูดภาษาเดียว ในด้านความจำเพื่อใช้งาน (Working Memory) ความยืดหยุ่นทางด้านการคิด (Cognitive Flexibility) และความยั้งคิด ไตร่ตรอง (Inhibitory Control)

          นักวิจัยอีกกลุ่มจากประเทศสกอตแลนด์ (Ross & Melinger, 2017) ทำการทดสอบเด็กอายุ 6 ถึง 9 ปี ที่พูดภาษาอังกฤษกลาง (ภาษาอังกฤษแบบ Standard English) และภาษาอังกฤษท้องถิ่นของเมือง Dundee (ภาษาอังกฤษแบบ Dundonian) พบว่าทักษะสมอง EF ของเด็กที่พูดสองภาษานั้นไม่ได้ต่างไปจากเด็กที่พูดภาษาเดียว

           ถึงแม้ว่าผลงานวิจัยของสองกลุ่มนี้จะต่างกันออกไป แต่สามารถสรุปได้ว่าการพูดภาษาท้องถิ่นนั้นไม่ได้เป็นข้อเสียอย่างใด ผลที่ต่างออกไปอาจจะขึ้นอยู่กับการฝึกใช้ภาษาก็เป็นได้ เด็กที่ได้ฝึกใช้ภาษาทุกๆ วันก็ได้ฝึกใช้ทักษะสมอง EF ไปด้วย เด็กๆ จากกลุ่มงานวิจัยในสกอตแลนด์นั้นอาจพูดสองภาษาได้ก็จริง แต่ถ้าไม่ได้ฝึกใช้ภาษาบ่อยๆ ก็จะไม่ได้ฝึกทักษะสมอง  EF ควบคู่ไปด้วย

          ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ คุณตาคุณยาย ที่พูดภาษาถิ่นได้ ก็มีข้อได้เปรียบที่สามารถช่วยลูกหลานฝึกทักษะสมอง  EF ได้ด้วยตัวเอง ตั้งแต่เด็กยังเล็ก โดยใช้ภาษาถิ่นกับลูกหลาน ให้เข้าไปอยู่ในชีวิต ในกิจวัตรประจำวัน คุยกับลูก เล่นกับลูก ร้องเพลงกล่อมเด็ก คำกลอนพื้นบ้าน  เล่านิทานพื้นบ้าน เล่าเรื่องเล่าของท้องถิ่นที่บอกเล่าสืบต่อกันมา ซึ่งนอกจากจะช่วยฝึกฝนพัฒนาทักษะสมอง EF ให้กับลูกแล้ว ยังทำให้เด็กๆ ภูมิใจกับภาษาท้องถิ่นของตนเองและครอบครัวอีกด้วย

          สำหรับผู้ปกครองที่พูดภาษากลางภาษาเดียว อย่าเพิ่งกังวลไป เพราะทักษะสมอง EF สามารถฝึกฝนพัฒนาได้อีกมากมายหลายวิธี ทั้งจากการเล่นสารพัดชนิดทั้งในบ้าน-กลางแจ้ง ให้ได้เล่นกับเพื่อนวัยเดียวกัน เล่นกีฬา ดนตรี ศิลปะ ให้ทำงานบ้าน ฯลฯ และที่สำคัญคือคุณพ่อคุณแม่ได้ให้โอกาสลูกที่จะได้ฝึกฝนสิ่งต่างๆ ด้วยตัวเองมากน้อยแค่ไหน

References

Antoniou, K., Grohmann, K. K., Kambanaros, M., &Katsos, N. (2016). The effect of childhood bilectalism and multilingualism on executive control. Cognition, 149, 18–30.

Bialystok, E., & Feng, X. (2009). Language proficiency and executive control in proactive interference: Evidence from monolingual and bilingual children and adults. Brain and Language, 109(2–3), 93–100.

Bialystok, E., Luk, G., Peets, K. F., & Yang, S. (2010). Receptive vocabulary differences in monolingual and bilingual children. Bilingualism (Cambridge, England), 13(4), 525–531.

Green, D. W., &Abutalebi, J. (2013). Language control in bilinguals: The adaptive control hypothesis. Journal of Cognitive Psychology, 25(5), 515–530.

Ross, J., &Melinger, A. (2017). Bilingual advantage, bidialectal advantage or neither? Comparing performance across three tests of executive function in middle childhood. Developmental Science, 20(4).