จากความคิดยืดหยุ่นสู่ความคิดสร้างสรรค์

การกระตุ้นให้เด็กคิดยืดหยุ่นจะนำมาซึ่งความคิดสร้างสรรค์ ทำความเข้าใจเรื่องนี้จากกิจกรรมในชั้นเรียน

ในชั้นเรียนคุณครูควรจัดให้เด็กได้มีการเรียนรู้ ประสบการณ์ที่หลากหลาย เพราะจะนำมาสู่ความยืดหยุ่นทางความคิด กิจกรรมของการฝึกยืดหยุ่นทางความคิดที่นำไปสู่ความคิดสร้างสรรค์ทำได้ไม่ยาก ดังตัวอย่างกิจกรรมต่อไปนี้

กิจกรรมประดิษฐ์ของจากวัสดุเหลือใช้ คุณครูให้เด็กๆ คิดออกแบบว่าจะประดิษฐ์อะไร แล้วถ่ายทอดออกมาด้วยการวาดเป็นภาพ แล้วให้เด็กเลือกวัสดุที่คุณครูเตรียมไว้อย่างหลากหลาย เด็กคนหนึ่งตั้งใจจะประดิษฐ์จรวด เมื่อเขาได้เลือกวัสดุแล้ว ปรากฏว่าขาดของอยู่ชิ้นหนึ่ง หาไม่ได้ตามต้องการ ไปบอกคุณครู แทนที่คุณครูจะหาให้ กลับถามว่าใช้อะไรทดแทนได้ไหม เด็กพยายามคิด ด้วยความที่ทำงานศิลปะอย่างหลากหลายมาแล้ว เขาจึงคิดได้ว่าจะเอากระดาษเส้นยาวๆ 2 เส้นมาพับทบไปมาให้เป็นเส้นเกลียวทดแทนขดเกลียวยืดที่ต้องการ จะเห็นได้ว่าเด็กได้ใช้ความจำจากการเคยทำ แล้วเอามาปรับใช้ โดยคุณครูให้โอกาสเด็กได้ใช้ความคิด โยนคำถามกระตุ้น และที่เด็กคิดทำจรวดเพราะพ่อแม่เคยพาไปดูนิทรรศการนาซา นี่คือความจำที่มีความหมายต่อตัวเด็ก แล้วเด็กดึงความจำนั้นมาเป็นแรงบันดาลใจในการทำงานนี้ และใช้ความคิดยืดหยุ่นดัดแปลงสร้างสรรค์ผลงานจนสำเร็จ

“เด็กได้ใช้ความจำจากการเคยทำเคยมีประสบการณ์ แล้วเอามาปรับใช้ โดยคุณครู พ่อแม่ให้โอกาสเด็กได้ใช้ความคิดของตัวเอง โยนคำถามกระตุ้น เด็กจะได้ฝึกคิดยืดหยุ่นและคิดสร้างสรรค์”