คุณลักษณะเด็กวัยประถมศึกษาที่สอดคล้องกับโลกในศตวรรษที่ 21

โดย | 8 พฤศจิกายน 2021 | บทความ, สาระ EF

คุณลักษณะเด็กวัยประถมศึกษาที่สอดคล้องกับโลกในศตวรรษที่ 21

จากการจัดการความรู้เพื่อหาแนวทางการพัฒนาทักษะสมอง EF ในการจัดการศึกษาระดับประถมศึกษา ครั้งที่ 2  โดยสถาบัน RLG (รักลูก เลิร์นนิ่ง กรุ๊ป) ซึ่งประกอบด้วยนักการศึกษา ผู้อำนวยการโรงเรียน คณาจารย์ และผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาเด็ก ได้ประชุมแลกเปลี่ยนกันถึงคุณลักษณะของเด็กวัยประถมศึกษาในศตวรรษที่ 21 ที่ควรจะเป็น เพื่อเอื้อให้เกิดการพัฒนาเด็กให้สอดคล้องกับสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนไป โดยลำดับแรกได้หยิบยกมาตรฐานการศึกษาของชาติ พ.ศ. 2561 ที่กำหนดคุณลักษณะขั้นต่ำของเด็กวัยประถม ตามผลลัพธ์ที่พึงประสงค์ของการจัดการศึกษา (DOE-Desired Outcome of Education) ในเด็กวัยประถมศึกษามาพิจารณา ซึ่งคุณลักษณะขั้นต่ำนั้นมีดังนี้

1. เป็นผู้เรียนรู้ มีความเพียร ใฝ่เรียนรู้ และมีทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อก้าวทันโลกยุคดิจิทัล โลกในอนาคต มีสมรรถนะ (Competency) ที่เกิดจากความรู้ ความรอบรู้ด้านต่างๆ มีสุนทรียะ รักษ์และประยุกต์ใช้ภูมิปัญญาไทย มีทักษะชีวิต เพื่อสร้างงานหรือสัมมาอาชีพ บนพื้นฐานของความพอเพียง ความมั่นคงในชีวิต คุณภาพชีวิตที่ดี ต่อตนเอง ครอบครัว สังคม

2. ผู้ร่วมสร้างสรรค์นวัตกรรม เป็นผู้มีทักษะทางปัญญา ทักษะศตวรรษที่ 21 ความฉลาดเรื่องดิจิทัล (Digital Intelligence) ทักษะการคิดสร้างสรรค์ ทักษะข้ามวัฒนธรรม สมรรถนะการบูรณาการข้ามศาสตร์ และมีคุณลักษณะของความเป็นผู้ประกอบการ เพื่อร่วมสร้างสรรค์และพัฒนานวัตกรรมทางเทคโนโลยี หรือสังคมเพิ่มโอกาสและมูลค่าให้กับตนเองและสังคม

3. พลเมืองที่เข้มแข็ง เป็นผู้มีความรักชาติ รักท้องถิ่น รู้ถูกผิด มีจิตสํานึกเป็นพลเมืองไทยและพลเมืองโลก มีจิตอาสา มีอุดมการณ์ และมีส่วนร่วมในการพัฒนาชาติ บนหลักการประชาธิปไตย ความยุติธรรม ความเท่าเทียม เสมอภาค เพื่อการจัดการทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน และการอยู่ร่วมกันในสังคมไทยและประชาคมโลกอย่างสันติ

มาตรฐานดังกล่าวในที่ประชุมได้ลงความเห็นว่า คุณลักษณะ (Character) ของเด็กวัยประถมศึกษาที่จะเติบโตพัฒนาสอดคล้องกับโลกในศตวรรษที่ 21ควรจะมีเพิ่มเติมเรื่องการเป็นผู้รับรู้ตัวตน และเอื้อต่อผู้อื่นได้เข้าไปด้วย ดังนั้นคุณลักษณะควรจะเป็นดังนี้

1. เป็นผู้เรียนรู้
2. ผู้รับรู้ตัวตน และเอื้อต่อผู้อื่นได้
3. เป็นพลเมืองที่เข้มแข็ง
4. เป็นผู้ร่วมสร้างนวัตกรรม

การเป็นผู้รับรู้ตัวตน และเอื้อต่อผู้อื่นได้ จะเป็นฐานที่หล่อหลอมให้เด็กประถมเติบโตไปเป็นผู้เรียนรู้ที่ดี ไปเป็นผู้สร้างนวัตกรรม พัฒนาไปสู่ทักษะอื่นๆ เป็นวัยรุ่นที่เข้มแข็ง โดยเด็กจะรู้จักตัวตน และมีตัวตนเข้มแข็งได้นั้น ต้องได้รับการพัฒนา Self ให้แข็งแรง  ซึ่งครู พ่อแม่ ผู้เกี่ยวข้องกับเด็กต้องเปลี่ยนทัศนคติว่า การจะดำเนินชีวิตอยู่ในโลกในศตวรรษนี้ การเรียนอาจจะไม่ใช่เรื่องสำคัญมากนักอีกต่อไป เพราะมีเครื่องมือให้ค้นคว้า ให้เรียนรู้ได้อย่างมากมาย รวดเร็ว แต่เรื่องการปรับตัว เรื่องทางสังคม การสร้างสัมพันธภาพกับคนอื่น การปลูกฝังจิตสำนึกดีๆ เป็นสิ่งที่สำคัญและจำเป็นกว่า 


ความรู้ชุด “ดูแลเด็กยุคโควิด” โดย สถาบัน RLG (รักลูก เลิร์นนิ่ง กรุ๊ป)
ปรารถนา หาญเมธี เขียน
ผาณิต บุญมาก เรียบเรียง
ภาวนา อร่ามฤทธิ์ บรรณาธิการ