การสร้าง “สนามพลังบวก” ในโรงเรียน

การสร้าง “สนามพลังบวก” ในโรงเรียน

โรงเรียนต้องเป็นพื้นที่หรือชุมชนที่เป็น “สนามพลังบวก”เป็นแนวคิดที่อาจารย์วิเชียร ไชยบัง ครูใหญ่โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา จ.บุรีรัมย์ ได้กล่าวไว้ โดยให้เหตุผลว่า เพื่อให้นักเรียนเมื่อมาโรงเรียนแล้ว รู้สึกอบอุ่นปลอดภัย ทางกายภาพคือสถานที่มีความสะอาดร่มรื่นปลอดภัย รวมทั้งได้รับการยอมรับ เคารพในความเป็นมนุษย์ ​มีสัมพันธภาพที่ดีต่อกัน ไม่ว่าระหว่างครูกับนักเรียน หรือครูกับครู

สนามพลังบวกมีความสำคัญต่อการเรียนรู้ของเด็ก สำหรับโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนาใช้เป็นระบบสนับสนุนการจัดการเรียนรู้และการพัฒนาเด็กที่มุ่งหมายสร้างมนุษย์ที่สมบูรณ์ ทั้งปัญญาภายนอกและปัญญาภายใน

อาจารย์วิเชียรเล่าว่า “เราจะทำทุกอย่างไม่ให้เด็กรู้สึกว่าถูกบังคับ เช่น ไม่มีเสียงออด เสียงระฆัง แต่สร้างวิถีที่เป็นวัฒนธรรมที่เด็กต้องกำกับตัวเองให้ได้ในแต่ละช่วงเวลา รู้ว่าเวลานี้ต้องทำอะไร หรือหยุดทำ โดยสร้างกิจกรรมที่มีความสม่ำเสมอ จนเด็กสามารถกำกับตัวเองได้โดยไม่ต้องมีใครมาบอกว่าใกล้เวลาเข้าแถว เข้าห้องเรียนแล้ว”

(ขอบคุณภาพจาก โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา จ.บุรีรัมย์)

สนามพลังบวกในโรงเรียน เป็นกระบวนทัศน์หนึ่งของจิตศึกษาที่โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนาใช้พัฒนาผู้เรียน จะเกิดขึ้นได้ต้องพัฒนาไปด้วยกันทั้งกระบวน ตั้งแต่การนำองค์กร การพัฒนาครู การทำงานกับผู้ปกครองและชุมชน การสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้อย่างปลอดภัยและมีความสุข เหล่านี้จะไปสนับสนุนการจัดการเรียนรู้ในระบบหลัก ที่ประกอบไปด้วยจิตศึกษา บูรณาการ  (PBL- Project-Based Learning) ภาษาไทย-วรรณกรรม คณิต (Pro Act) E-application กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน 

เมื่อบวกกับการใช้จิตวิทยาเชิงบวกและกิจกรรมจิตศึกษาฝึกฝนเป็นประจำ ที่ทำให้ผู้เรียนต้องใคร่ครวญ ตัดสินใจ จะเป็นตัวกระตุ้นให้ผู้เรียนได้ใช้ศักยภาพทั้งภายในภายนอก จนทำให้เกิดสมรรถนะ ขณะเดียวกันโรงเรียนยังได้รับแนวคิดเรื่องการพัฒนาทักษะสมอง EF เรื่องการพัฒนา Self, EF และการดูแลพัฒนาการเด็กรอบด้านเพิ่มเข้ามาใช้ในการจัดการเรียนรู้ด้วย เพื่อสร้างรากฐานที่แข็งแกร่งให้เด็ก

สนามพลังบวกไม่เพียงส่งผลต่อนักเรียน แต่ส่งผลไปทั้งองค์กรทั้งโรงเรียน เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน ทั้งนักเรียน ครู และผู้ปกครอง

การเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ประกอบด้วยปัญญาภายในและภายนอก
ปัญญาภายใน : รู้ตัว (สติชำนาญ) / ตระหนักในตน/ ตัดสินใจเชิงจริยธรรม / เชื่อมสรรพสิ่ง
ปัญญาภายนอก : Core subject/ ทักษะศตวรรษที่ 21  (4C- Creativity and Innovation, Critical Thinking and Problem Solving, Communication, Collaboration)  /Learning Skill /Life Skill มีความรู้เท่าทัน IT สื่อdigital


ความรู้ชุด “ดูแลเด็กยุคโควิด” โดย สถาบัน RLG (รักลูก เลิร์นนิ่ง กรุ๊ป)
เนื้อหาจากการประชุมจัดการความรู้: การพัฒนาทักษะสมอง EF กับการเรียนรู้ของเด็กระดับชั้นประถมศึกษา ครั้งที่ 6 กรณีศึกษาโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา จ.บุรีรัมย์
ปรารถนา หาญเมธี เขียน
ผาณิต บุญมาก เรียบเรียง
ภาวนา อร่ามฤทธิ์ บรรณาธิการ