การเลี้ยงดูที่ทำให้เด็กขาดโอกาสพัฒนาสมอง

บทที่ 2 ตอนที่ 2
การเลี้ยงดูที่ทำให้เด็กขาดโอกาสพัฒนาสมอง

พัฒนาการทางสมองของคนเรามีอยู่ 2 แบบ คือ Experience-Expectant Development เป็นพัฒนาการทางสมองที่คาดหวังได้ในสิ่งมีชีวิต เช่น เราคาดหวังได้ว่าคนๆ หนึ่งนั้น จะคืบ คลาน นั่ง ยืน เดิน วิ่งได้เมื่ออายุเท่านั้นเท่านี้ หรือถ้าเป็นหนูจะต้องซน เพราะเป็นพันธุกรรม สมองถูกโปรแกรมมาแล้วว่าถ้าเป็นมนุษย์จะมีการพัฒนาในรูปแบบๆ นี้ โดยไม่ต้องไปหาเครื่องมืออะไรมาทำให้นั่ง ให้เดิน เพราะเมื่อถึงเวลาเด็กจะเดินได้เอง กับ Experience-Dependent Development เป็นพัฒนาการที่เกิดขึ้นต่อเมื่อได้รับประสบการณ์ เช่นการเล่นเปียโนได้ ไม่ใช่เป็นสิ่งที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิด ผู้ใหญ่ต้องจัดสภาพแวดล้อมที่เป็นประสบการณ์เฉพาะเพื่อให้เด็กเกิดความสามารถ เกิดทักษะนั้นๆ

ความรู้เรื่องนี้ ถ้าพ่อแม่หรือครูไม่เข้าใจ ก็จะใช้เวลาส่วนใหญ่ของทั้งตัวเองและของเด็กไปกับ Experience-Expectant Development เข้มงวดกับการเขียนหนังสือ การบวกลบเลข ทั้งๆ ที่ยังไม่ถึงวัยที่เด็กจะทำได้ แทนที่จะใช้เวลาในการพัฒนาทักษะเฉพาะบางอย่าง โดยเฉพาะทักษะสมอง EF * ซึ่งต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เรียกว่า Enriched Environment เพื่อให้เด็กได้รับประสบการณ์คุณภาพ

*ทักษะสมอง EF (Executive Functions) เป็นกระบวนการทางความคิด (Mental process) ในสมองส่วนหน้า ที่เกี่ยวข้องกับการคิด ความรู้สึก และการกระทำ เช่น การยั้งใจคิดไตร่ตรอง การควบคุมอารมณ์ การยืดหยุ่นทางความคิด การตั้งเป้าหมาย วางแผน ความมุ่งมั่น การจดจำและเรียกใช้ข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพ การจัดลำดับความสำคัญของเรื่องต่างๆ และการทำสิ่งต่างๆ อย่างเป็นขั้นเป็นตอนจนบรรลุความสำเร็จ ซึ่งเป็นทักษะที่มนุษย์เราทุกคนต้องใช้ มีความสำคัญยิ่งต่อทั้งความสำเร็จในการเรียน การทำงาน รวมทั้งการมีชีวิตครอบครัว ทักษะ EF นี้นักวิชาการระดับโลกชี้แล้วว่า สำคัญกว่า IQ

ความจริงเด็กแต่ละคนมีทักษะในการเอาชีวิตรอดด้วยตัวของตัวเองอยู่แล้ว แต่การเลี้ยงดูของพ่อแม่อาจทำให้ทักษะนี้ของเด็กลดลงโดยพ่อแม่ไม่รู้ตัว ตัวอย่างเช่น การดูดนมแม่ซึ่งยากกว่าการดูดนมจากขวด เริ่มจากเมื่อแม่อุ้ม เด็กจะต้องหันหาหัวนมเอง ต้องออกแรงดูดในจังหวะที่ยากกว่านมขวด ทำให้เด็กต้องพยายาม ต้องปรับตัว ถ้าดูดนมจากเต้าหนึ่งแล้วยังไม่อิ่ม หรือถ้าแม่อุ้มแล้วอึดอัดไม่สบายตัว ดูดนมไม่ถนัด จะส่งสัญญาณให้แม่รู้ว่ายังต้องการนมอีก หรือให้เปลี่ยนท่าอุ้มให้ดี ทั้งหมดนี้เป็นทักษะที่เด็กต้องพยายามก้าวข้ามความยากตั้งแต่แรกเกิด

การให้นมลูกเป็นตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงการที่พ่อแม่ไม่มีความรู้ที่เพียงพอ จนทำให้เด็กขาดโอกาสที่จะได้พัฒนาทักษะไปอย่างน่าเสียดายยิ่ง

สิ่งแวดล้อม การเลี้ยงดู ประสบการณ์ที่เด็กได้รับส่งผลไปตลอดชีวิต

การทดลองในหนูที่ถูกเลี้ยง 2 แบบ แบบหนึ่ง เลี้ยงในที่ที่มีของเล่นจำนวนมาก และอีกแบบ ให้อยู่ในที่ว่างๆ ไม่มีของเล่น เมื่อโตขึ้นสมองของหนูจะไม่เหมือนกัน หนูที่ถูกเลี้ยงในที่ว่างๆ จะมีรูปแบบในสมองที่แปลกไป มีพฤติกรรมตอนโตเต็มวัยไม่ปกติ จะมีช่วงที่นั่งเฉยๆ ไม่ค่อยวิ่ง ไม่ค่อยสู้ ซึ่งเป็นพฤติกรรมพื้นฐานของอารมณ์เศร้า

พบว่าโรคซึมเศร้าในเด็กปัจจุบันทวีความรุนแรงขึ้น ในอดีตเด็กที่เป็นโรคซึมเศร้าส่วนใหญ่มักเป็นในวัยรุ่นตอนปลาย หรือวัยรุ่นตอนต้นอายุ 12-13 ปี แต่ปัจจุบันอายุน้อยลงเรื่อยๆ  เด็กสมาธิสั้น ปัจจุบันมีมากขึ้นทั้งที่เป็นโรคสมาธิสั้นแท้และสมาธิสั้นจากสภาพแวดล้อมที่ทำให้เด็กเกิดภาวะไม่นิ่ง รวมทั้งเด็กที่เป็นโรคสองบุคลิก  ซึ่งเด็กที่มีอาการเจ็บป่วยทางจิตตั้งแต่อายุยังน้อยนี้ หมายความว่าช่วงระยะที่เป็นโรคจะยาวนาน และโอกาสจะกลับมาหายดี 100 % ไม่มีแล้ว มีแต่จะถดถอยลงไปเรื่อยๆ

ปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคทางจิตเวช ปัจจัยหลักคือพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อม พันธุกรรมเป็นตัวกำหนดเบื้องต้นว่าใครมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคบ้าง ส่วนสิ่งแวดล้อมมีผลต่อการแสดงออกของรูปแบบของยีนให้เกิดได้เร็วขึ้น สิ่งแวดล้อมจะเป็นตัวกระตุ้นให้ความผิดปกติที่ซ่อนอยู่แสดงออกมา

การทดลองและปัญหาที่ปรากฏนี้ชี้ให้เห็นว่า ประสบการณ์ สภาพแวดล้อมที่เด็กได้รับและเติบโตมา จะ Shape เด็กเมื่อโตขึ้น ยิ่งในปัจจุบันเด็กมีสิ่งเร้ามากระตุ้นตลอดเวลา และยังถูกคาดหวังจากพ่อแม่ จากโรงเรียน จากสังคม ก็ยิ่งเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดรูปแบบการแสดงออกที่ผิดปกติเร็วขึ้น


ความรู้ชุด “ดูแลเด็กยุคโควิด” โดย สถาบัน RLG (รักลูก เลิร์นนิ่ง กรุ๊ป)
ปรารถนา หาญเมธี เขียน
ผาณิต บุญมาก เรียบเรียง
ภาวนา อร่ามฤทธิ์ บรรณาธิการ