ลำดับขั้นและระยะวิกฤตของพัฒนาการ

โดย | 20 พฤศจิกายน 2021 | บทความ, สาระ EF

ลำดับขั้นและระยะวิกฤตของพัฒนาการ

         นายแพทย์อีริค อีริคสัน นักจิตวิทยาพัฒนาการ ได้กล่าวว่า พัฒนาการของมนุษย์มีลำดับขั้นตอน (Epigenesis) และมีระยะวิกฤตของพัฒนาการที่ต้องใส่ใจ มีหลักการพื้นฐาน 3 ข้อ คือ

1. พัฒนาการมีลักษณะเป็นลำดับขั้น
ขั้นแรกวัยทารก 0-1 ปี
ขั้นที่สอง วัย 2-3 ปี
ขั้นที่ 3 วัย 3 -7 ปี 
ขั้นที่ 4 วัยประถม 7-12 ปี
และขั้นมัธยมหรือวัยรุ่น

        หากเด็กมีพัฒนาการขั้นที่ 1 ดี เด็กจะสมบูรณ์ แข็งแรง และส่งผลให้ง่ายต่อการส่งเสริมพัฒนาการขั้นต่อๆ ไป นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ กล่าวว่า “ถ้าพ่อแม่ลงทุนเวลาในขั้นที่ 1 มาก ในขั้นต่อๆ ไปในทางจิตวิทยาจะไม่ค่อยมีอะไรต้องทำในวันหน้า” 

        ปริมาณเวลาที่พ่อแม่ต้องใช้ในการดูแลลูกมากที่สุดจึงอยู่ที่ 12 เดือนแรก เพราะถ้าได้ทารก 12 เดือนแรกที่แข็งแรง จะได้เด็กที่แข็งแรงในขั้นที่ 2 และต่อๆ ไปตามลำดับ เมื่อเป็นวัยรุ่น หากเด็กเกิดผิดหวัง หรืออกหัก อาจ “สำมะเลเทเมา” 2-3 วัน แล้วจะกลับมาตั้งตัวได้ ดำเนินชีวิตต่อได้ แต่ถ้าพัฒนาการขั้นที่ 1 ไม่แข็งแรง สามขวบปีแรกไม่ดี เมื่อเป็นวัยรุ่นผิดหวัง อาจจะถึงขั้นกรีดข้อมือหรือฆ่าตัวตายได้

2.พัฒนาการแต่ละขั้น มี Critical Period หรือช่วงเวลาวิกฤต มีสิ่งที่พ่อแม่ควรทำอะไรบางอย่างในการเลี้ยงดูลูก หากไม่ทำ ปล่อยเวลาผ่านเลยไปจะย้อนกลับมาทำไม่ได้อีกหรือแก้ไขได้ยากมาก เช่น ในช่วง 12 เดือนแรก แม่มีหน้าที่อุ้ม กอด บอกรัก  ให้นม ถ้าไม่ทำ มุ่งแต่ทำงานหาเงิน เมื่อลูกโตเป็นวัยรุ่นก็อาจจะมีปัญหา ซึ่งพอถึงวัยนั้นแม่จะกอด บอกรักอย่างไรลูกก็จะไม่ให้ทำ ไม่ให้เข้าใกล้ ไม่เปิดใจ เพราะผ่านเลยช่วงเวลาที่จะทำได้ไปแล้ว จะแก้ปัญหาลูกไม่ได้หรือแก้ได้ยากมาก

3. ในแต่ละขั้นของพัฒนาการ มีหน้าที่ (Function)ของวัยบางประการที่เด็กต้องทำให้ได้ จึงจะสอบผ่านพัฒนาการขั้นนั้นไปสู่ขั้นต่อไป

พบว่าวัยรุ่นมีปัญหาทางจิตเวชสูงขึ้น สาเหตุหนึ่งที่สำคัญเพราะการที่ฐานพิรามิดพัฒนาการในสองขั้นแรกถูกทำลาย แล้วยังมาถูกทำลายซ้ำในขั้นที่สามคือเมื่อเข้าโรงเรียนอนุบาล (4-7 ปี) เพราะพ่อแม่ ครู ผู้ดูแลเด็กไม่รู้เรื่องพื้นฐานทางอารมณ์ (temperament) เรื่องของ fixation กับ depression ที่ทำให้เด็กมีพัฒนาการถดถอย รวมทั้งไม่รู้ด้วยว่าความสามารถ ทักษะของเด็กหลายอย่างเกิดขึ้นตามวัยโดยอัตโนมัติ

ช่วงเวลาพัฒนาการเป็นสิ่งที่เอากลับคืนมาไม่ได้

ถ้าเด็กถูกปล่อยปละละเลย ผู้เลี้ยงดูไม่มีปฏิสัมพันธ์กับเด็ก เด็กอาจมีอาการเป็นออทิสติกเทียม แพทย์สามารถรักษาให้หายได้ เด็กกลับมามองหน้า พูดได้ ยิ้มตอบ แต่ในช่วงเวลาที่เด็กเป็นออทอสติกนั้น พัฒนาการด้านต่างๆ ที่เด็กในวัยนั้นๆ ควรจะมีก็ไม่เกิดขึ้นด้วย ซึ่งกรณีนี้จิตแพทย์กู้พัฒนาการคืนให้ไม่ได้ ก็จะส่งผลกระทบไปถึงพัฒนาการขั้นอื่นๆ ต่อไปจนถึงขั้นสุดท้าย ตัวอย่างเช่นเด็กคนหนึ่งเริ่มเสพยาบ้าเมื่ออายุ 13 ปี เลิกได้เมื่ออายุ 18 ปี หมายความว่า ในช่วง 3 ปีที่เด็กคนนี้เสพยาบ้า เขาจะไม่ได้ใช้ชีวิตอย่างที่เพื่อนในวัยเดียวกัน ไม่ได้มีประสบการณ์ทั้งบวกและลบกับเพื่อน กับการเข้าสังคม กับการผูกมิตรกับคนอื่น ดังนั้นเมื่อหยุดยากลับสู่สังคม แต่อาจเข้าสังคมได้ไม่ดี ทำตัวไม่เหมาะสม เพราะขาดทักษะทางสังคม พอถูกปฏิเสธ รู้สึกไม่มีใครยอมรับ ก็กลับไปเสพยาอีก นี่คือตัวอย่างของคำว่า พัฒนาการเป็นสิ่งที่เอาคืนมาไม่ได้

สำหรับเด็กวัย 3 – 7 ปี เป็นวัยที่เด็กต้องทำการทดสอบกล้ามเนื้อใหญ่แขนขาสองข้าง เราจึงเห็นเด็กปาของซ้ำๆ บ่อยๆ เพื่อทั้งทดสอบพลังของตัวเอง เรียนรู้ข้อจำกัด และทำความรู้จักของที่กำลังจับอยู่ แต่ผู้ใหญ่มักเรียกว่า “ดื้อ” และนี่คือเหตุผลที่โรงเรียนอนุบาลหรือเตรียมอนุบาลจะต้องให้เด็กได้วิ่ง ปีน เตะ กระโดด เพราะเป็นการฝึกกล้ามเนื้อ ภายใต้ข้อเท็จจริงที่ว่า ยิ่งฝึกเร็วเท่าไร ยิ่งรู้พลังตัวเองเร็วเท่านั้น แต่ถ้าโรงเรียนกลับจับเด็กไปนั่งนิ่งๆ มองกระดาน คาบละ 45-50 นาที ในชั้นป.1 เด็กไม่ได้ใช้กล้ามเนื้อ ไม่รู้ข้อจำกัด ไม่รู้พลกำลังของตัวเอง

นอกจากทดสอบกล้ามเนื้อ เด็กต้องการจะทดสอบกาลเทศะ กฎ กติกา มารยาท ด้วย ซึ่งน่าเสียดายที่เด็กในปัจจุบันได้ทดสอบได้เรียนรู้เรื่องเหล่านี้น้อยมาก เพราะพลังของพ่อแม่หดหายไปกับการใช้เวลาอยู่กับสื่อโซเชียล หน้าจอโทรศัพท์มือถือ วาจาของพ่อแม่จึงไม่ “ศักดิ์สิทธิ์” อีกต่อไป เวลาลูกดื้อที่บ้าน หรือส่งเสียงดังวิ่งเล่นในร้านอาหาร พ่อแม่ก็ได้แต่ส่งเสียงห้ามโดยที่สายตาไม่ได้ละไปจากหน้าจอโทรศัพท์มือถือ ไม่ได้เข้าไปเอาตัวลูกกลับมานั่ง  การห้าม การแนะนำบอกให้ทำพฤติกรรมที่เหมาะสมลดลง  จึงไม่มีอำนาจอีกต่อไป “แม่ที่มีอยู่จริง” ก็ลดลง

เร่งพัฒนาการก่อนเวลาเท่ากับทำลายพัฒนาการ

ในทางตรงข้าม เรื่องของพัฒนาการบางอย่าง เช่น การควบคุมอุจจาระ ปัสสาวะ การอ่านออกเขียนได้ บวกลบเลข ไม่ควรต้องเร่งกระตุ้นให้เด็กทำได้เหมือนเด็กอื่น เพราะเด็กแต่ละคนมีความแตกต่างกัน ไม่สามารถเทียบกันได้  เป็นเรื่องที่รอได้  ตัวอย่างเช่น ในครอบครัวหนึ่งมีลูก 2 คน ลูกคนโตอ่านออกเขียนได้เมื่อ 8 ขวบ แต่เป็นเด็กที่เลี้ยงง่าย (Easy Child) มาก อุ้มแล้วหลับ ให้นมแล้วหลับ ส่วนลูกอีกคนอ่านหนังสือออกเมื่ออายุ 4 ขวบครึ่ง แต่เป็นเด็กที่ตื่นทั้งคืนตลอด 3 ปีแรก (ซึ่งสิ่งที่พ่อแม่ควรทำคือค่อยๆ ปรับเปลี่ยนให้ได้ใน 3 ปี เพราะงานวิจัยบอกว่าพ้นจากนี้จะยากมาก ลูกจะเป็นคนใจร้อนตลอดไป  สร้าง “แม่ที่มีอยู่จริง” ที่เลี้ยงยากจะกลายเป็นเลี้ยงง่ายขึ้น) กล้ามเนื้อที่ควบคุมการกลั้นปัสสาวะ อุจจาระ จะแข็งแรงโดยอัตโนมัติโดยเฉลี่ยเมื่ออายุ 3 ขวบ พ่อแม่ไม่สามารถสอนให้เด็กกลั้นได้ก่อนวัยอันควร  

พ่อแม่และครูเตรียมอนุบาลบางคนเข้าใจผิด เวลาเด็ก 2 ขวบครึ่งอุจจาระ ปัสสาวะราด ก็จะดุว่า ตี  เพราะไม่รู้ว่าเด็กยังกลั้นไม่ได้  พอเด็กถูกดุถูกตี ถูกทำโทษรุนแรง จะเกิด Fixation คือพัฒนาการติดอยู่กับที่ เด็กก็จะถดถอยหรือ Depression เด็กจะคิดว่าโลกน่ากลัวจัง พัฒนาการต่างๆ ก็จะล่าช้าตามกันมาเป็นลูกระนาด

เด็กทุกคนบนโลก อ่าน เขียน บวกเลขได้เองที่อายุเฉลี่ย 5 ขวบ ไม่เกิน 7 ขวบ เราตีเด็กที่อ่านเขียน บวกเลขเองไม่ได้ตั้งแต่อายุยังไม่ครบ 5 ขวบ จึงเป็นอีกครั้งที่เด็กติดอยู่กับที่ ซึ่งถ้าไม่เข้าไปยุ่งเด็กจะทำได้เองอยู่แล้ว ผู้ใหญ่ไปตี ดุว่าว่าโง่ ปัญญาอ่อน บางโรงเรียนให้เด็กอนุบาลบวกเลขสี่หลักด้วยซ้ำ เด็กก็จะ Depress ถดถอย


ความรู้ชุด “ดูแลเด็กยุคโควิด” โดย สถาบัน RLG (รักลูก เลิร์นนิ่ง กรุ๊ป)
ปรารถนา หาญเมธี เรียบเรียงจากการบรรยายของ นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
จากการประชุมจัดการความรู้ “การพัฒนาทักษะสมอง EF เด็กวัยประถม-มัธยมศึกษา”
ณ ห้องประชุม สถาบัน RLG (รักลูก เลิร์นนิ่ง กรุ๊ป)
ภาวนา อร่ามฤทธิ์ บรรณาธิการ