วิชาที่เด็กประถมควรต้องเรียนรู้

วิชาที่เด็กประถมควรต้องเรียนรู้

ถ้าบอกว่าไม่ควรเร่งเรียนเขียนอ่านเด็กประถม ถ้าเช่นนั้นเด็กประถมควรเรียนอะไร

นักการศึกษาได้อธิบายไว้ในการประชุมจัดการความรู้ โดยสถาบัน RLG (รักลูก เลิร์นนิ่ง กรุ๊ป) ว่า การประถมศึกษาตามบริบทไทย แบ่งเด็กเป็นสองช่วง คือประถมศึกษาตอนต้น เด็กวัย 6-8 ปี และประถมศึกษาตอนปลาย 9-12 ปี แต่ตามตำราพัฒนาการสากลแล้ว วัย 6-8 ปี ยังถือเป็นเด็กปฐมวัย การจัดการศึกษาจึงควรจะต้องยึดกุมหลักการ แนวคิด ปรัชญาเดียวกับการศึกษาปฐมวัย เพียงแต่ใส่เนื้อหาที่มีความเป็นวิชาการมากขึ้น ส่วนวิธีการสอน การวัดประเมินผล ใช้หลักการเดียวกับการศึกษาปฐมวัย  สำหรับประถมศึกษาตอนปลายซึ่งเป็นรอยต่อระหว่างเด็กกับวัยรุ่น สามารถจัดการเรียนการสอนเนื้อหาวิชาการอย่างเหมาะสมตามวัยได้ โดยคำนึงถึงช่วงรอยต่อดังกล่าว

นักการศึกษายังให้ความเห็นอีกว่า ชั้นเรียนประถมตอนต้นควรใช้การสอนแบบ Self-Contained Classroom คือการมีครูประจำชั้นเพียงคนเดียว และครูประจำชั้นมีหน้าที่สอนวิชาหลัก ซึ่งครูจะอยู่กับเด็กเกือบทั้งวัน ครูจึงรู้ทุกเรื่องที่เกี่ยวกับตัวเด็ก รู้ว่าแต่ละคนมีโรคประจำตัวอะไร ใช้ยาอะไร แพ้อาหารอะไร มีจุดอ่อน จุดแข็งอย่งไร แต่ละคนแตกต่างกันอย่างไร ซึ่งจะทำให้การจัดกระบวนการเรียนรู้ให้เด็กแต่ละคนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เพราะอยู่ในการดูแลของครูเพียงหนึ่งคน

การที่ครูหนึ่งคนดูแลเด็กหนึ่งห้อง และอยู่กับเด็กทั้งวัน จะทำให้เรียนรู้เด็กแต่ละคนได้เป็นอย่างดี รู้ทุกข์ รู้สุขของเด็ก ทำให้เด็กรู้สึกมั่นคงปลอดภัยเมื่อมาโรงเรียน  ในขณะที่เด็กประถมปลายมีพัฒนาการที่เป็นตัวของตัวเอง พึ่งพาตัวเองได้มากขึ้น ครูลดบทบาทตัวเองลง สามารถจัดครูให้สอนเป็นรายวิชาได้  

ผู้เชี่ยวชาญทางด้านการศึกษายังให้ข้อเสนอแนะถึงวิชาที่มีความสำคัญไม่แพ้วิชาหลัก มีผลต่อพัฒนาการแลตัวตนของเด็กประถม ได้แก่

พลศึกษา กีฬา

  • การออกกำลังกายมีผลต่อสมอง ทำให้เปลือกสมองหนาขึ้น เส้นใยประสาทเชื่อมกันได้ดี ส่งผลต่อการคิดวิเคราะห์ การมีสมาธิ การหลั่งฮอร์โมนดีขึ้น ส่งผลที่ดีต่ออารมณ์จิตใจ นักกีฬาของโลกหลายคนเอาชนะคู่แข่งได้ด้วยสมอง ด้วยการคิดวิเคราะห์หาเทคนิคใหม่ๆ ในการแข่งขัน ไม่ใช่ด้วยร่างกายด้วยพลกำลังเท่านั้น จึงควรส่งเสริมการเล่นกีฬาในโรงเรียนให้มาก ซึ่งโรงเรียนอาจทำได้โดยการเพิ่มวิชาพลศึกษา จาก 1 คาบ เป็น 3 คาบต่อสัปดาห์
  • นอกจากผลต่อร่างกาย สมอง เด็กยังได้เรียนรู้เรื่องการแพ้ชนะ การมีน้ำใจนักกีฬา และสัมพันธภาพหลายโรงเรียนพบว่า เด็กที่ได้เล่นกีฬา ครูที่ลงเล่นกีฬาทั้งกับเพื่อนครูด้วยกันและกับเด็กๆ จะพูดง่ายกว่า ยอมรับความพ่ายแพ้หรือความล้มเหลวได้ง่ายกว่า เพราะรู้คำว่าแพ้ชนะ รู้ว่าบางครั้งต้องแพ้ บางครั้งต้องชนะ
  • การเพิ่มชั่วโมงพลศึกษา การส่งเสริมให้มีการเล่นกีฬาที่หลากหลายในโรงเรียน ยังทำให้เด็กที่ไม่เก่งด้านวิชาการ มีโอกาสค้นหาทักษะความสามารถด้านอื่นๆ ของตัวเองได้ เป็นการแสดงออกของครู ของผู้ใหญ่ที่ยอมรับในในความสามารถที่ความหลากหลายของเด็ก  และที่สำคัญการให้เด็กได้เล่นกีฬา ได้ออกกำลังกายในชั่วโมงพลศึกษา คือกิจกรรมที่สอดคล้องกับวัยกับพัฒนาการของเด็กวัยประถมเป็นอย่างยิ่ง
  • ครูพละควรมีทัศนคิติที่ถูกต้องในการจัดกิจกรรมให้เด็ก ไม่มุ่งเน้นการแพ้ชนะ แต่เน้นการให้เด็กได้พัฒนาตัวตน ได้ออกกำลังกาย เพิ่มพูนสมรรถนะทางด้านร่างกาย ให้มีน้ำใจนักกีฬา รู้แพ้รู้ชนะ มานะบากบั่น อดทน พากเพียรพยายาม ถ้าเล่นเป็นทีมก็ต้องเน้นการทำงานเป็นทีม เป็นต้น
  • การส่งเสริมการกีฬาในโรงเรียนไม่ควรจำกัดอยู่เพียงการให้ได้นักกีฬามาแข่งขัน แต่ขยายขอบเขตไปที่กการสร้างพื้นที่ให้เด็กจะมีโอกาสได้ค้นหาตัวเองในด้านอื่นๆ  เช่น การเป็นโค้ช เป็นผู้จัดการทีม หรือการเป็นกองเชียร์
  • เมื่อจบกิจกรรมกีฬา ควรให้มีการสะท้อนคิด หรือ AAR เพื่อให้เด็กเข้าใจชัดเจนว่าการจัดแข่งกีฬาแต่ละครั้งมีจุดมุ่งหมายเพื่อฝึกฝนเด็กในด้านต่างๆ ไม่ใช่เพื่อมุ่งการแพ้ชนะหรือการแข่งขันกัน

เศรษกิจ การเงิน

  • หน้าต่างแห่งโอกาสของเด็กวัยประถมศึกษานั้นมี 2 เรื่องคือ การประหยัด และความขยัน ซึ่งต้องปลูกฝังให้เกิดขึ้นในวัยประถม เพราะถ้าไม่ปลูกฝังให้ติดจนเป็นนิสัยในวัยนี้ เมื่อเข้าสู่ช่วงวัยรุ่นจะแก้ไขได้ยากมาก หรือเมื่อเติบโตไปเป็นคนที่แข็งแรง เรียนหนังสือเก่ง แต่ไม่มีพื้นฐานทางความคิดในเรื่องเศรษฐกิจ เรื่องการใช้จ่ายที่เหมาะสม ก็อาจจะเป็นคนที่ล้มเหลวได้ในอนาคต
  • การสอนเรื่องเศรษกิจ การใช้จ่ายที่ได้ผล ต้องมาจากการร่วมมือกันระหว่างบ้านกับโรงเรียน เพื่อให้การปฏิบัติไปในทางเดียวกัน สำหรับเด็กในวัยประถมต้องเน้นที่หลักคิด รู้จักการออม ประโยชน์ของการออม การใช้ของต่างๆ ให้คุ้มค่า คุณค่าแท้-คุณค่าเทียม ให้เห็นที่คุณค่า ประโยชน์ที่แท้ของสิ่งนั้นๆ ไม่ใช่ยี่ห้อหรือรูปลักษณ์ภายนอก เชื่อมโยงเข้าสู่ชีวิตประจำวัน ให้เข้าใจเรื่องความต้องการกับความจำเป็น ต้องการ อยากได้ หรือเพราะจำเป็นต้องใช้
  • โรงเรียนมีส่วนสำคัญในการวางรากฐานทางเศรษฐกิจให้กับเด็ก ให้เด็กได้รับรู้ว่าระบบเศรษกิจในปัจจุบันเกี่ยวข้องกับตัวเด็กตรงไหน อย่างไร ไม่ใช่เรื่องไกลตัว ให้เด็กได้วิเคราะห์เสมอๆ ผ่านการแสดงความคิดเห็นของเพื่อนๆ ให้ช่วยกันเสนอวิธีบริหารจัดการ เช่น ถ้าเกิดเหตุการณ์หนึ่งๆ ขึ้นมาจะทำอย่างไร ให้ใคร่ครวญแล้วแสดงความคิดเห็น เช่น เรื่องการเล่นหวย การใช้ของแพง ใช้ของเกินตัว แล้วให้เด็กได้ลองออกแบบชีวิตเอง เมื่อออกแบบชีวิตแล้ว ครูต้องยอมรับ เพราะสิ่งครูคิดว่าดีเด็กสามารถคิดตรงข้ามได้ แต่ถ้าครูเห็นว่าวิธีที่เด็กจะเดินไปนั้นมีความเสี่ยง อาจก่อให้เกิดปัญหาได้ ล่อแหลม ก็ต้องหาวิธีพูดคุย ผ่านกระบวนการในชั้นเรียน

การดูแลรักษาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

  • เด็กวัยประถมรู้จักเรื่องเหตุและผลแล้ว เป็นโอกาสที่ควรปลูกจิตสำนึกเรื่องการดูแลรักษาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เริ่มจากการสร้างความตระหนัก โดยให้เด็กได้คิดใคร่ครวญว่าธรรมชาติในความหมายของเด็กคืออย่างไร และขณะนี้ที่รับรู้เป็นอย่างไร เมื่อรับรู้แล้วจะจัดการอย่างไร อาจจัดการเรียนการสอนแบบ Project-Based Learning หรือ Problem-Based Learning
  • การเรียนรู้เรื่องธรรมชาติ ไม่จำเป็นต้องเป็นโรงเรียนในต่างจังหวัด มีพื้นที่ป่าเขาเท่านั้นถึงจะทำได้ โรงเรียนในสังคมเมืองก็สามารถทำได้ ผ่านการเรียนการสอนแบบ Problem-Based Learning สามารถให้เด็กเรียนรู้จากสิ่งแวดล้อมรอบตัว จากปัญหาควันพิษ สารพิษ เป็นต้น

การตรงต่อเวลา

  • ควรปลูกฝังให้เด็กเป็นคนตรงต่อเวลา เพราะเป็นพื้นฐานในการเคารพผู้อื่น และเป็นพื้นฐานของการเป็นผู้มีวินัยในตัวเอง
  • การตรงเวลาต้องผ่านกระบวนการฝึกค่อนข้างมาก เพราะคนที่จะเป็นต้นแบบคือครู ถ้าครูไม่ตรงเวลา หรือยังมีการผ่อนปรน ให้โอกาส ไม่เอาจริงเอาจัง จะปลูกฝังเรื่องการตรงต่อเวลาได้ยากมาก  เพราะสังคมทั่วไปยังไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องของการตรงต่อเวลา ผู้ใหญ่ต้องทำให้เด็กเห็นอย่างชัดเจนก่อน ทำซ้ำๆ ให้ตรงเวลาทุกวัน จนเป็นวิถี แล้วเด็กจะจับสังเกตจากบริบทต่างๆ รอบตัว จนสรุปได้กับตัวเองว่า เวลาใดควรจะทำอะไรโดยไม่ต้องบอกต้องเตือน
  • หลายๆ โรงเรียนใช้วิธีสร้างวินัยโดยครูไม่ต้องบอกต้องเตือนเด็ก ใช้สัญลักษณ์บางอย่าง เช่นเด็กรู้เวลาเข้าแถวจากเสียงตามสาย จากการเปิดเพลงประจำโรงเรียน ฯลฯ

การจะทำให้เด็กเรียนรู้ในเรื่องต่างๆ จนเข้าใจ จนมีพฤติกรรมตามที่ครูมุ่งหวัง ต้องการระยะเวลาพอสมควร เพี่อให้เด็กได้ผ่านการใคร่ครวญ ได้ตรวจสอบความคิดของตัวเองจนตกผลึก ครูผู้สอนต้องมีความพยายามสอนซ้ำๆ ทำซ้ำๆ ทำต่อเนื่อง ทำเป็นกลุ่ม ทำไปด้วยกัน ทำทั้งโรงเรียน จนเกิดเป็นวิถี


ความรู้ชุด “ดูแลเด็กยุคโควิด” โดย สถาบัน RLG (รักลูก เลิร์นนิ่ง กรุ๊ป)
ปรารถนา หาญเมธี เขียน
ผาณิต บุญมาก เรียบเรียง
ภาวนา อร่ามฤทธิ์ บรรณาธิการ