เด็กแบเบาะก็เรียนรู้จักอารมณ์ได้

เด็กแบเบาะก็เรียนรู้จักอารมณ์ได้

อย่าละเลยที่จะสอนเด็กเล็กๆ ให้รู้จักอารมณ์ ทักษะอารมณ์เป็นทักษะที่สำคัญและเป็นพื้นฐานของทักษะสังคม ส่งผลซึ่งกันและกัน แต่ผู้ใหญ่มักมองข้ามและไม่ได้ส่งเสริมเด็ก เพราะเข้าใจว่าจะเกิดขึ้นเองเมื่อเด็กโตขึ้น ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิด เด็กอาจจะมีทักษะเอง แต่มีแบบไม่มีคุณภาพ

ถ้าพิจารณาถึงพัฒนาการทางสมอง เด็กสามารถเรียนรู้เรื่องทักษะทางอารมณ์ได้ตั้งแต่อายุ 8 เดือน เพราะฉะนั้นวิธีการเลี้ยงดูที่บอกว่า “ยังเด็กอยู่ ปล่อยไปก่อน” สวนทางกับพัฒนาการทางสังคม

มีการศึกษาทดลองในห้องทดลองที่สหรัฐอเมริกา เพื่อดูว่าเด็กในวัย 8 เดือนเมื่อมีอารมณ์แล้วจะตามอารมณ์ตัวเองได้ทัน ยับยั้งได้ แล้วยืดหยุ่นปรับเปลี่ยนได้หรือไม่ จึงสอนภาษามือง่ายๆ ให้เด็ก เช่น more, please, mom, dad ปรากฏว่าเด็กทำได้จริงๆ เมื่อต้องการอะไร จากที่เคยร้องก็ไม่ร้อง หยุดได้ และปรับเปลี่ยน (Shifting) พฤติกรรมได้

 ถ้าไม่สอนเรื่องอารมณ์ เมื่อเด็กร้อง ผู้ใหญ่ที่คิดว่าเด็กยังเล็กอยู่ก็จะตัดใจ ตามใจให้ในสิ่งที่เด็กต้องการไปก่อน จะได้เงียบ เด็กก็ไม่ได้เรียนรู้ เมื่อเข้าสู่วัย 2 ขวบ ซึ่งมีพัฒนาการเรื่อง Self มีพัฒนาการทางด้านร่างกาย ยืนได้ วิ่งได้ ขว้างของได้ ปฏิเสธได้ แล้ววันหนึ่งเมื่อเด็กมีอารมณ์ มีพฤติกรรมตามมา กลับถูกดุ ผู้ใหญ่ไม่ตามใจอีกต่อไป เพราะคิดว่าโตแล้ว รู้เรื่องแล้ว สิ่งนี้แสดงถึงความไม่เข้าใจพัฒนาการทั้งทางร่างกายและตัวตนของเด็ก  เด็กที่เมื่อก่อนเคยถูกตามใจ ไม่เคยถูกดุ ทำอะไรก็ได้ จึงสับสน บางคนแสดงออกทางดื้อ ที่เรียกว่า Terrible Two บางคนอาจจะยอมแล้วสูญเสียตัวตน ส่วนบางคนอาจจะแอบทำ

ในกรณีนี้ ถ้าเด็กวัย 2 ขวบได้ฝึกมาตั้งแต่อายุ 8 เดือน เมื่ออายุ 2 ขวบก็จะบอกคนอื่นได้ว่ากำลังรู้สึกอย่างไร แต่ถ้าเด็กไม่ได้ฝึก จะไม่บอก บอกไม่ได้ จะพูดแต่เหตุผลของตัวเองว่าทำไมถึงทำ เริ่มมีพฤติกรรมแก้ตัว โกหก ซึ่งถ้าโกหกพ่อแม่ก็จะไม่ชอบมากๆ อีก

ข้อดีของการสอนเด็กให้เข้าใจเรื่องอารมณ์มาตั้งแต่ยังเล็กๆ จะทำให้เด็กบอกระดับอารมณ์ความรู้สึกของตัวเองได้ เช่น เด็กอายุ 3 ขวบคนหนึ่งที่บอกกับครูได้ว่า ไม่ได้ “เศร้า” แต่แค่กำลังรู้สึก “ไม่พอใจ”

การเรียนรู้เรื่องอารมณ์ ตามทันอารมณ์ ทำให้เด็กสามารถจัดการอารมณ์ตัวเองได้เร็ว จะมีประโยชน์มาก เปรียบเสมือนไฟ ถ้าเรารู้ตัวว่าไฟกำลังจะมาก็ดับได้ ไม่เหมือนไฟป่าที่โหมมาโดยไม่รู้ตัว จะดับยาก อย่างเช่น การกราดยิงที่สหรัฐอเมริกาที่เด็กเป็นผู้ก่อเหตุซึ่งเกิดขึ้นบ่อยมาก เพราะมีการใช้ความรุนแรงในหมู่เด็กเป็นเรื่องปกติธรรมดา เด็กไปโรงเรียนแล้วถูกรังแก ครูก็รับมือได้ไม่เหมาะสม แม้จะลงโทษเด็กที่รังแกคนอื่นไปตามกฎของโรงเรียน แต่ไม่ได้ทำให้คนถูกรังแกรู้สึกดีขึ้น มีคุณค่ามากขึ้น ทั้งที่บ้านและที่โรงเรียนไม่ได้ใช้หลักการของวินัยเชิงบวกในการแก้ปัญหา เด็กเก็บกดอารมณ์จนในที่สุดระเบิดออกมาเป็นพฤติกรรมรุนแรง


ความรู้ชุด “ดูแลเด็กยุคโควิด” โดย สถาบัน RLG (รักลูก เลิร์นนิ่ง กรุ๊ป)
ดร.ปิยวลี และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปนัดดา ธนเศรษฐกร เขียน
ผาณิต บุญมาก เรียบเรียง
ภาวนา อร่ามฤทธิ์ บรรณาธิการ