การทดสอบที่บอกว่า ลูกยับยั้งชั่งใจได้ดีแค่ไหน

โดย | 1 กุมภาพันธ์ 2018 | EF สำหรับพ่อ-แม่

งานวิจัยที่พบว่า เด็กที่มี EF แข็งแรง สามารถกำกับควบคุมตนเองได้ สามารถพัฒนาไปเป็นวัยรุ่นที่มีความสามารถในการเรียนรู้ และเข้าสังคมได้ดี ประสบผลสำเร็จในการเรียน ทำคะแนนสอบ SAT ได้ดี

ในปี 1968 Prof.Dr.Walter Mischel ขณะนั้นสอนที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ได้ทำการวิจัยที่โด่งดังชื่อ The Marshmallow Test (ดูได้จาก www.youtube.com/watch?v=QX_oy9614HQ9614HQ) [vc_single_image image=”9784″ img_size=”full”]
โดยให้เด็ก 4 ขวบเข้ามานั่งในห้องกระจกสังเกตการณ์ เจ้าหน้าที่วิจัยเข้าไปบอกเด็กว่า เด็กจะได้รับมาชมาลโล (บางครั้งอาจจะเป็นขนมชนิดอื่น) 1 ชิ้น และถ้าเด็กอดทนรอไม่กินขนมจนกว่าเจ้าหน้าที่จะกลับมา (ซึ่งอาจใช้เวลานานถึง 15 นาที) เด็กจะได้ขนมเพิ่มเป็น 2 ชิ้นจากการทดสอบนี้นักวิจัยพบว่า เด็กที่สามารถ”ยับยั้งชั่งใจ”หรืออดใจชะลอความอยากได้นั้น เพราะพวกเขามีความสามารถ EFs ด้านอื่นๆ นั่นคือ

เด็กใช้การจดจำรำลึกได้ (Working Memory) เตือนตัวเองว่า ถ้ารอคอยก็จะได้ขนมเพิ่มอีก 1 ชิ้น
เด็กสามารถเบี่ยงเบนหรือปรับเปลี่ยนความสนใจ (Shift) ของตนเองชั่วคราวเพื่อที่จะกำกับควบคุม (Regulate) อารมณ์อยากของตนเอง
เด็กสามารถวางแผน (Create a plan) ที่จะช่วยให้ตัวเอง”อยู่ได้”กับช่วงเวลาที่ต้องรอคอยนั้น

สรุปว่า เด็กที่มีการควบคุมกำกับตนเองได้ จะมีความสามารถในการปรับเปลี่ยนความคิด หันเหความสนใจจากขนมที่อยู่ตรงหน้า แล้วไปคิดหรือทำอย่างอื่นแทน เช่น ร้องเพลง หรือเล่นกับตัวเอง ในขณะเด็กที่อดทนรอคอยไม่ไหว มักจะมองเพ่งอยู่แต่ที่ขนม หันเหความคิดไม่เป็น

หลายปีต่อมา Mischel ได้ติดตามดูเด็กๆ เหล่านั้นเจริญเติบโตขึ้นจนถึงวัยมัธยมปลาย และติดตามต่อไปจนถึงวัย 40 ปี พบว่า เด็กๆ ที่สามารถอดทนรอคอยกำกับควบคุมตนเองได้ในงานวิจัยครั้งนั้น พัฒนาไปเป็นวัยรุ่นที่มีความสามารถในการเรียนรู้และเข้าสังคมได้ดีกว่า ประสบผลสำเร็จในการเรียนสูงกว่า ยิ่งอดทนรอได้นานเท่าไร คะแนนสอบ SAT ก็ทำได้ดีมากเท่านั้น มีอัตราการติดยาน้อย อยู่ในระบบการศึกษาที่สูงกว่า เห็นคุณค่าในตนเองมากกว่า และมีพฤติกรรมก้าวร้าวต่อผู้อื่นน้อยกว่า เมื่อเป็นผู้ใหญ่ อาชีพการงานก็มั่นคงกว่าและมีชีวิตคู่ที่มีความสุขมากกว่าด้วย

จากงานวิจัยระยะยาวนี้เอง Mischel ได้คิดค้นวิธีที่จะช่วยให้เด็กเล็กรู้จักชะลอความอยาก สร้างความยับยั้งชั่งใจ เช่น สอนให้เด็กรู้จักเบี่ยงเบนความคิด “เวลาที่ต้องรอคอย ให้คิดถึงเรื่องสนุกอื่นๆ ” แล้วพบว่า เด็กที่ไม่สามารถอดทนรอคอยในการวิจัยครั้งนั้น สามารถรอคอยได้ดีขึ้น

“เด็กที่กำกับควบคุมตนเองได้ดี รู้จักยับยั้งความอยาก อดทนรอคอยได้จะสามารถพัฒนาไปเป็นวัยรุ่นที่มีความสามารถในการเรียนรู้ และเข้าสังคมได้ดี”