นายพงษ์พันธุ์ ไชยบุญเรือง   ศึกษานิเทศก์ชำนาญการพิเศษ สพป. เชียงราย เขต 4

ศน.พงษ์พันธุ์ ไชยบุญเรือง เริ่มสนใจเรื่องทักษะสมอง EF จากสื่อ (กล่องล้อมรัก) ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด(ป.ป.ส.)จัดมอบให้แจกตามโรงเรียน ต่อมาเข้ารับการอบรมเรื่อง EF กับสถาบัน RLG ที่จัดอบรมให้ครู เจ้าหน้าที่สาธารณสุขและผู้บริหารโรงเรียนในพื้นที่จังหวัดเชียงราย ทำให้ได้รับความรู้ความเข้าใจเรื่อง EF มากขึ้น เห็นความสำคัญของ EF ว่าเป็นความรู้ใหม่ในการพัฒนาเด็กที่น่าจะนำไปขยายสู่ครู จากนั้นจึงนำความรู้ EF บูรณาการเข้าไปกับการอบรมพัฒนาครู การนิเทศ การประชุมผู้บริหาร รวมทั้งเข้าร่วมขับเคลื่อน EF กับหน่วยงานสาธารณสุข อำเภอพญาเม็งราย เป็นเครือข่ายร่วมพัฒนาโรงเรียนต้นแบบ EF ในอำเภอพญาเม็งราย แล้วขยายความรู้ EF สู่โรงเรียนแกนนำ EF ในพื้นที่ที่รับผิดชอบอำเภออื่นๆ โดยใช้อำเภอพญาเม็งรายเป็นต้นแบบ เกิดผลสัมฤทธิ์ทางพัฒนาการและทักษะสมอง EF ของเด็กในโรงเรียนที่มีการส่งเสริม EF ที่ประเมินผลได้แม้จะเป็นโรงเรียนชายขอบที่มีเด็กนักเรียนชนเผ่าซึ่งครูมีปัญหาการสื่อสารกับเด็กและผู้ปกครองก็ตาม

การขับเคลื่อน EF ที่เป็นรูปธรรม

  • ขับเคลื่อนขยายผลความรู้ EF ร่วมกับเครือข่าย EF อำเภอพญาเม็งราย สร้างความตระหนัก ความรู้ความเข้าใจเรื่อง EF บูรณาการความรู้ EF เข้าไปในการประชุมผู้บริหารโรงเรียน การอบรมพัฒนาครู การนิเทศโรงเรียนในเขตพื้นที่รับผิดชอบ 5 อำเภอ คือ อ.เชียงของ อ.เทิง อ.ขุนตาล อ.เวียงแก่น อ.พญาเม็งราย
  • ส่งเสริม สนับสนุนความเข้มแข็งเรื่อง EF ให้สถานศึกษา เพื่อพัฒนาเป็นสถานศึกษา EF ต้นแบบ
  • เสนอโครงการพัฒนาการศึกษาปฐมวัย สพป.เชียงราย เขต 4  โดยบูรณาการความรู้ EF เข้าไปในกิจกรรมพัฒนาเด็กปฐมวัย
  • ร่วมกับเครือข่ายสาธารณสุขอำเภอพญาเม็งราย ขยายความรู้ EF สู่โรงเรียนแกนนำในพื้นที่อำเภออื่นๆ โดยใช้อำเภอพญาเม็งรายเป็นต้นแบบอีก 4 อำเภอ คือ อ.เชียงของ อ.เวียงแก่น อ.เทิง อ.ขุนตาล

การสร้าง/ประสานเครือข่าย

  • ประสานกับโรงพยาบาลพญาเม็งรายและสาธารณสุขอำเภอพญาเม็งราย เข้าร่วมเป็นเครือข่าย EF ขับเคลื่อนความรู้ EF ในกลุ่มเด็กปฐมวัย  โดยประสานความร่วมมือในฐานะเป็นหน่วยงานที่ดูแลด้านการศึกษาปฐมวัย ร่วมประชุม ร่วมกิจกรรม ศึกษาการดำเนินงานพัฒนา EF ในโรงเรียนในพื้นที่อำเภอพญาเม็งราย 20 โรงเรียน ร่วมนิเทศโรงเรียนต้นแบบในพื้นที่
  • เชื่อมประสานกับผู้บริหารโรงเรียนและสาธารณสุขในอำเภออื่นๆ เพื่อขยายความรู้ EF  โดยเริ่มที่อำเภอเชียงของ เนื่องจากรู้จักกับสาธารณสุขเชียงของเป็นการส่วนตัว เชื่อมประสานกับผู้บริหารโรงเรียน จัดกิจกรรมให้ความรู้ EF สร้างความตระหนักเรื่อง EF ให้กับครูและผู้บริหารโรงเรียนในอำเภอเชียงของ โดยเชิญผู้อำนวยการโรงพยาบาลพญาเม็งรายและบุคลากรสาธารณสุขมาถ่ายทอดความรู้EF ผู้บริหารโรงเรียนตอบรับอย่างดี เห็นความสำคัญของ EF ให้ครูนำความรู้ EF สู่การปฏิบัติในชั้นเรียน

การติดตาม/นิเทศ/coaching

  • นิเทศติดตามครูแกนนำที่เข้าร่วมอบรม EF
  • ในการนิเทศครูโรงเรียนในพื้นที่รับผิดชอบ สปพ.เชียงรายเขต 4  5 อำเภอส่งเสริมสนับสนุนครูปฐมวัยให้จัดกิจกรรมส่งเสริม EF ในชั้นเรียน วิเคราะห์ความสอดคล้องการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ของเด็กปฐมวัยว่าสามารถนำเรื่อง EF สอดแทรกในกิจกรรม งาน โครงการอย่างไร
  • สร้างความเข้าใจใน EF Guideline แก่ครูปฐมวัย แนะนำให้ครูใช้ EF Guideline ในการจัดกิจกรรมเสริมประสบการณ์ โครงการ/กิจกรรมที่ส่งเสริม EF และพัฒนาการของเด็ก

การต่อยอด/นวัตกรรม/ วิจัย

  • ในการขับเคลื่อน EF มีการผลิตสื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ EF และเกิดการผลิตสื่อส่งเสริมพัฒนา EF ให้เด็ก เป็นสื่อทวิภาษาที่ใช้สื่อสารเรื่อง EF กับเด็กและผู้ปกครองชนเผ่า

การแก้ปัญหา

  • ปัญหาการสื่อสารกับเด็กและผู้ปกครองชนเผ่า ในเขตพื้นที่การศึกษาที่รับผิดชอบทั้ง 5 อำเภอ มีเด็กชนเผ่าอยู่ทุกอำเภอ เช่น ม้ง เย้า มูเซอ การสื่อสารถ่ายทอดความรู้ EF สู่ผู้ปกครองเพื่อให้การพัฒนา EF มีความต่อเนื่องทั้งโรงเรียนและที่บ้าน ทำได้ยากโรงเรียนจึงจัดทำสื่อทวิภาษา เช่นหนังสือนิทานที่มีทั้งภาษากลางและภาษาชนเผ่าแล้วแทรกเรื่อง EF เข้าไปในเนื้อหาด้วย
  • ความรู้ EF เป็นเรื่องทางวิชาการ การถ่ายทอดความรู้สู่ผู้บริหาร ถ้าถ่ายทอดโดยบุคลากรทางการแพทย์ ผู้บริหารจะให้การยอมรับเชื่อถือมากกว่า การขับเคลื่อน EF ร่วมกับสาธารณสุขจึงได้รับการยอมรับจากผู้บริหารเป็นอย่างดี

ผลสัมฤทธิ์ / การเปลี่ยนแปลง

  • ผลประเมินพัฒนาการเด็กนักเรียนในอำเภอพญาเม็งรายสูงที่สุดใน 5 อำเภอ ทั้งๆ ที่อำเภออื่นมีบริบทที่ดีกว่า เจริญกว่าพญาเม็งราย
  • ผลการประเมิน EF ก่อนและหลังการส่งเสริม EF ในโรงเรียนแกนนำ เห็นได้ว่าเด็กมีพัฒนาการ EF ที่ดีขึ้น